ไม่พบผลการค้นหา
สหประชาชาติแสดงความกังวลว่าการส่งชาวโรฮิงญาจากบังกลาเทศกลับเมียนมา อาจไม่ได้เป็นไปตามความสมัครใจ ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนเตือนว่าการส่งกลับครั้งนี้เป็นเพียงการย้ายผู้ลี้ภัยจากค่ายในบังกลาเทศไปยังค่ายใหม่ในเมียนมา

สำนักข่าวนิวไลท์ออฟเมียนมา ของรัฐบาลเมียนมา เปิดเผยว่ากระบวนการส่งตัวชาวโรฮิงญาจากบังกลาเทศกลับเมียนมาจะเริ่มขึ้นในวันอังคารที่ 23 มกราคมนี้ หลังจากรัฐบาล 2 ประเทศตกลงกันว่าจะส่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับเมียนมาสัปดาห์ละ 1,500 คน ต่อเนื่อง 2 ปี รวม 160,000 คน และในขณะนี้ รัฐบาลบังกลาเทศได้จัดทำรายชื่อชาวโรฮิงญา 1,000 คนที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติว่าเป็นคนเมียนมาแล้ว เพื่อให้พวกเขาเป็นชาวโรฮิงญากลุ่มแรกที่จะเดินทางกลับบ้านเกิดในสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตาม นายอันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการสหประชาชาติยืนยันว่ามีความกังวลต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าว เนื่องจากแม้ UNHCR ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติจะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลักในการดูแลผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในค่ายที่ค็อกซ์บาซาร์ บังกลาเทศ แต่กลับไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติและส่งคนกลับเมียนมาในครั้งนี้ สหประชาชาติยังย้ำอีกด้วยว่าหวังว่าการส่งชาวโรฮิงญากลับบ้าน จะเป็นไปโดยความสมัครใจของผู้ลี้ภัย และควรให้ UNHCR เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการ เพื่อการันตีว่าชาวโรฮิงญาจะถูกส่งกลับไปอย่างมีศักดิ์ศรีและได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

นายกูแตร์รีชยังกล่าวอีกด้วยว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้น ก็คือการที่ชาวโรฮิงญาถูกส่งกลับไปยังค่ายในเมียนมา และถูกกักอยู่ในนั้นเป็นเวลานาน โดยไม่สามารถกลับคืนสู่วิถีชีวิตปกติได้

AP18016518944342.jpg

ผู้ลี้ภัยในค่ายที่บังกลาเทศ ส่วนใหญ่ยังชีพด้วยอาหารและยาที่บริจาคโดยรัฐบาลนานาชาติและองค์กรระหว่างประเทศ โดยมีรัฐบาลบังกลาเทศร่วมกับสหประชาชาติบริหารจัดการทรัพยากร

ท่าทีของสหประชาชาติ สอดคล้องกับที่นายวาการ์ อุดดิน เลขาธิการสหภาพโรฮิงญาอาระกัน ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมสิทธิและให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาทั่วโลก โดยมีศูนย์กลางที่สหรัฐฯ เปิดเผยว่าข้อตกลงระหว่างเมียนมาและบังกลาเทศ ไม่ใช่ข้อตกลงที่ดี เพราะเท่ากับการย้ายชาวโรฮิงญาจากค่ายหนึ่งไปยังอีกค่ายหนึ่งเท่านั้น แต่ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวโรฮิงญายังไม่ได้รับการการันตีจากรัฐบาลเมียนมา 

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศเมียนมาเปิดเผยว่าชาวโรฮิงญาที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติและถูกส่งกลับมายังเมียนมา จะถูกนำไปไว้ที่ค่ายผู้ลี้ภัยขนาด 313 ไร่ใกล้เมืองหม่องด่อว์ หนึ่งในเมืองที่เป็นศูนย์กลางความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ โดยค่ายดังกล่าวรองรับคนได้ประมาณ 30,000 คน แต่ตอนนี้มีเรือนพักเพียง 625 หลัง ซึ่งรัฐบาลบังกลาเทศระบุว่าเมียนมาจะเร่งสร้างบ้านเพิ่มเติมให้ผู้ที่ถูกส่งตัวกลับโดยเร็วที่สุด 

AP18016508868156.jpg

Unicef รายงานว่ากว่าร้อยละ 60 ของผู้ลี้ภัย 650,000 คนในค่ายผู้ลี้ภัยที่ค็อกซ์บาซาร์ บังกลาเทศ เป็นเด็ก ส่วนใหญ่เดินทางข้ามแดนมาเพียงลำพัง เนื่องจากครอบครัวพลัดพรากหรือเสียชีวิตแล้ว

ก่อนหน้านี้ นายเจมส์ โกเมซ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เตือนเช่นกันว่าการส่งชาวโรฮิงญากลับเมียนมาในตอนนี้ ถือว่าเร็วเกินไป เพราะหลายคนยังคงฝังใจกับการฆ่า ข่มขืน และการทรมานที่เคยเกิดขึ้นในยะไข่ และสถานการณ์ในขณะนี้ก็ยังไม่ปลอดภัยพอ การส่งพวกเขากลับบ้านไปตอนนี้ อาจหมายถึงการเผชิญกับความรุนแรงแบบเดิมๆได้

เรียบเรียง: พรรณิการ์ วานิช