ไม่พบผลการค้นหา
เคท แบลนเชตต์เรียกร้องให้ยูเอ็นเร่งช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา และคืนสิทธิพลเมืองเมียนมาให้ชาวโรฮิงญา พร้อมระบุว่า เงินช่วยเหลือผู้ลี้ภัยน้อยมากจนน่าอับอาย

เคท แบลนเชตต์ ทูตสันถวไมตรีของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และนักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง กล่าวสุนทรพจน์เรียกร้องให้สหประชาชาติเร่งช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยอยู่ในบังกลาเทศ พร้อมหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในรัฐยะไข่ของเมียนมาในระยะยาวด้วย โดยเธอย้ำว่าที่ผ่านมาเคยล้มเหลวในการช่วยเหลือชาวโรฮิงญามาแล้ว กรุณาอย่าทำให้ชาวโรฮิงญาผิดหวังอีกครั้ง

การประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ครั้งนี้มีขึ้นในช่วงครบรอบ 1 ปีที่ความรุนแรงในรัฐยะไข่รอบล่าสุดปะทุขึ้น ส่งผลให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 700,00 คนต้องลี้ภัยออกจากบ้านเรือนไปยังค่ายผู้ลี้ภัยค็อกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศ

เคท แบลนเชตต์กล่าวว่า รายงานของคณะที่ปรึกษาการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในรัฐยะไข่ที่มีนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติเป็นประธาน ได้เสนอทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติในรัฐยะไข่ไว้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งรายงานฉบับนี้ได้รับการเผยแพร่ในที่ประชุมยูเอ็นมาก่อนแล้ว และรัฐบาลเมียนมาเองก็ตกลงที่จะทำตาม และหากทำตามแนวทางนั้นได้จริง จะทำให้ทุกคนที่มีความแตกต่างกันทางเชื้อชาติ ศาสนาจะสามารถเติบโตไปด้วยกันได้

โรฮิงญาต้องการอะไร ในโลกที่พวกเขาไม่เป็นที่ต้องการ?

เคท แบลนเชตต์ย้ำว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวโรฮิงญาต้องลี้ภัยออกจากรัฐยะไข่ แต่คลื่นผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาหลั่งไหลออกจากรัฐยะไข่ไปยังบังกลาเทศมาตั้งแต่ปี 19878่ แล้ว ส่งผลให้จำนวนชาวโรฮิงญาพลัดถิ่นมีจำนวนมากกว่าชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่เองด้วยซ้ำ ขณะเดียวกัน ชีวิตของผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศก็ยังต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างมากตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และหากทั่วโลกล้มเหลวที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังตั้งแต่ตอนนี้ ชาวโรฮิงญารุ่นหลังๆ ก็จะต้องอยู่ในวงจรนี้ต่อไป

เคท แบลนเชตต์ยังกล่าวขอบคุณบังกลาเทศที่ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาว่า เป็นหนึ่งในการกระทำที่แสดงถึงความมีมนุษยธรรมที่สำคัญและเห็นได้ชัดเจนที่สุด เธอเล่าว่า ขณะที่เธอเดินทางไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ เธอเห็นชาวบังกลาเทศที่อยู่ใกล้เคียงค่ายผู้ลี้ภัยยอมรับผู้ลี้ภัยเข้าไปอยู่ในบ้านด้วย เธอจึงย้อนถามว่า หากคนที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไรยังพยายามช่วยเหลือ ทำไมประเทศต่างจึงเพิ่มความพยายามในการช่วยเหลือไม่ได้

งบประมาณในการช่วยเหลือที่มีเพียงร้อยละ 33 จากจำนวนที่จำเป็น ต้องใช้ หรืิอคิดเป็นประมาณ 22 บาทต่อคนต่อวันเท่านั้น เคท แบลนเชตต์ระบุว่าตัวเลขนี้ "ไม่ทำให้รู้สึกตกใจ แต่เป็นตัวเลขที่น่าอับอายมาก" เพราะชาวโรฮิงญาไม่ได้ต้องการแค่อาหารและน้ำ แต่พวกเขายังต้องการอนาคตด้วย

Biz Insight : ต้องใช้เงินแค่ไหนเพื่อช่วยผู้ลี้ภัยโรฮิงญา

เคท แบลนเชตต์ย้ำว่า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ก็คือการให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศและในเมียนมาด้วย โดยรัฐบาลประเทศต่างๆ หน่วยงานด้านมนุษยธรรมและการพัฒนา ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปควรต้องร่วมมือกันช่วยเหลือให้ชาวโรฮิงญาได้รับสิทธิพลเมืองอย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้ชาวโรฮิงญาได้รับการศึกษา สวัสดิการการรักษาพยาบาล และอาศัยอยู่ในบ้านอย่างปลอดภัย หากพวกเขา

ก่อนหน้านี้ ทีมค้นหาความจริงของยูเอ็นได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา และสรุปว่า กองทัพเมียนมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา และก่ออาชญากรรมสงครามกับกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉาน กะฉิ่น และยะไข่ โดยมีการสังหารหมู่ ข่มขืนหมู่ และเผาหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและนายพลอีก 5 นายของเมียนมาในศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)

โรฮิงญา.jpg

ด้านนายอันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวกับที่ประชุม UNSC ครั้งนี้ว่าควรมีการพิจารณารายงานที่เพิ่งออกมานี้อย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม นายกูแตร์รีชกลับไม่ใช้คำว่า "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ในการอธิบายสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ตามที่รายงานฉบับดังกล่าวระบุไว้ แต่ได้อ้างอิงคำพูดจากรายงานฉบับนี้ว่า การกระทำของกองทัพเมียนมาถือเป็นา "อาชญากรรมที่ชั่วร้ายตามกฎหมายระหว่างประเทศ"

นายกูแตร์รีชระบุว่า ไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ สำหรับความล่าช้าในการหาทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงนี้ โดยทางแก้ไขนี้จะทำให้ชาวโรฮิงญาได้กลับบ้านของตัวเองในรัฐยะไข่อย่างปลอดภัย และกลับบ้านไปด้วยศักดิ์ศรี จามมาตฐานสากลและหลักสิทธิมนุษยชน

นายกูแตร์รีชย้ำว่าการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยและความรุนแรงในเมียนมาต้องอาศัยการลงทุนจำนวนมาก เขาได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลบังกลาเทศที่ร่วมมือกับยูเอ็นในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจำนวนมหาศาลแต่งบประมาณในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยน้อยกว่าที่จำเป็นต้องใช้ถึงร้อยละ 66 ซึ่งเขามองว่าทั่วโลกควรมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหานี้ไม่ใช่เพียงบังกลาเทศเท่านั้น