แม้จะอายุ 61 ปีแล้ว แต่ ‘ชำนาญ จันทร์เรือง’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ยังเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตัวยง เคยเป็น ประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ทั้งยังเคยคร่ำหวอดในสังกัด ‘กระทรวงคลองหลอด’ มาก่อนด้วย
‘ชำนาญ’ เริ่มต้นเปิดใจว่า ก่อนหน้านี้ มีพรรคการเมืองหลักหลายพรรคทาบทามให้มาร่วมงาน แต่ก็ไม่เอา ไม่รู้จะไปทำไม เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะเหมือนเดิม แต่พอได้คุยกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพียง 2-3 ครั้ง ก็ตอบตกลงทันที
“เครดิตทางวิชาการจะลดลงตามสายตาคนอื่น ก็ไม่ได้ว่าอะไร ชีวิตมันต้องเลือก นักวิชาการที่เป็นการเมืองแล้วประสบความสำเร็จก็มีเยอะแยะไป ทฤษฎีอย่างเดียวไม่ปฏิบัติก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าปฏิบัติอย่างเดียวไม่มีทฤษฎีก็พัง” อดีตนักวิชาการอิสระกล่าวอย่างมั่นใจ
สิ่งที่จุดประกายให้ ‘ชำนาญ’ ตัดสินใจล่มหัวจมท้ายไปกับ ‘พรรคอนาคตใหม่’ อย่างไม่ลังเลคือ เรื่อง “การกระจายอำนาจ” ที่เขาเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์โดยตรง เมื่อครั้งยกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร จนกลายเป็นต้นแบบของแนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” กระจายไปยัง 50 จังหวัด
‘ชำนาญ’ เริ่มปูพื้นให้เข้าใจก่อนว่า การกระจายอำนาจเพื่อเพื่มอำนาจท้องถิ่น คือ สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination Rights) ต้องอย่าลืมว่า “ทุกตารางนิ้ว” ของประเทศไทย มีการปกครองท้องถิ่น ที่เขาเจ็บช้ำน้ำใจคือ อยู่ดีๆก็ถูกสั่งให้เอางบประมาณที่สะสมมา ไปทำ”ประชานิยม”ไม่ว่าจะเป็น“ไทยเข้มแข็ง”หรือ“ไทยนิยม”
พร้อมยกตัวอย่างปัญหาที่สวนทางความต้องการกัน ระหว่าง “ส่วนกลาง”กับ “ส่วนท้องถิ่น” ที่มีลักษณะ top-down คือ “ไนท์ซาฟารี จ.เชียงใหม่” ที่จู่ๆก็โครมลงมา เอามาแย่งทรัพยากร แย่งน้ำ คนก็ไม่ได้ดู สวนสัตว์ก็มีอยู่แล้ว ไม่ได้ต้องการเลย สัตว์ก็ธรรมดา ไม่ได้พิศดารอะไร ซึ่งมัน “ท็อปดาวน์” บางทีคนในท้องถิ่นเขาไม่อยากได้
ด้าน “การจัดเก็บรายได้” องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปัจจุบันเก็บเองได้อยู่ไม่กี่อย่าง โดยมากก็เลือกเสียส่วนกลางกันหมด จะสะดวกในการวิ่งเต้นหรือระบบบัญชีอะไรก็แล้วแต่ แต่ท้องถิ่นไม่มีรายได้อะไร แทนที่เงินจะเข้าท้องถิ่นเอง เหมือนอย่าง VAT คนจนคนรวยเสียเท่ากัน แต่เข้ากรุงเทพฯหมด แบ่งให้ท้องถิ่นแค่ 0.1
'กุนซือ' ด้านการกระจายอำนาจ จึงตั้งเป้าไว้ว่า หาก พรรคอนาคตใหม่ได้เสียงส.ส.อย่างน้อย 20 คน มีอำนาจในการเสนอกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนฯได้ ก็จะทำการผลักดันในเรื่องนี้ทันที เพื่อแก้ไข จัดโครงสร้างเสียใหม่ โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ
ระดับบน ฝ่ายบริหารให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่จำเป็นว่าจังหวัดไหนเจริญแล้วหรือยังไม่เจริญ จะเรียกผู้ว่าราชการจังหวัดเหมือนเดิมหรือไม่ก็แล้วแต่ ระดับล่าง เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นอบต. เป็นเทศบาลก็ว่าไป โดยทั้ง 2 ระดับให้แบ่งหน้าที่กันทำ จึงไม่จำเป็นว่า จังหวัดไหนจะเจริญแล้วหรือไม่เจริญ ชั้นล่างใกล้ชิดกับชาวบ้าน ชั้นบนก็บริหารโครงการใหญ่
“ที่สำคัญคือ จะให้มีโครงสร้างของสภาพลเมือง ที่มาจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ คอยกำหนดวิสัยทัศน์ ตรวจสอบ ถ่วงดุล (Check and Balance) ฝ่ายบริหาร และสภาท้องถิ่น ให้เหมือนมี 3 เส้า คอยคานกัน ด้วยการใช้ฉันทามติ ไม่ต้องโหวต เพราะแม้จะมีการเลือกตรง แต่พอเข้าไปแล้ว อาจฮั้วกันได้”
‘ชำนาญ’ ย้ำว่า รัฐส่วนกลางก็ให้ทำหน้าที่ๆสำคัญพอ อย่างเรื่อง ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ เรื่องชีวิตประจำวันให้ท้องถิ่นเขาทำเอง เพราะไม่มีใครรู้ปัญหาท้องถิ่นดีกว่าท้องถิ่นเอง อย่างเรื่องหวย 30 ล้านบาท ที่จ.กาญจนบุรี มาถึงนายกฯ มันเกินไป ไม่ต้องมีเวลาทำอะไรแล้ว
“รัฐที่เจริญแล้วและมีประสิทธิภาพเขาจะทำอยู่ไม่กี่เรื่องคือ ความมั่นคงทางทหาร การต่างประเทศ การเงินการคลังเงินตรา และศาล ซึ่ง 4 อย่างนี้เราจะไม่ไปยุ่ง”
ญี่ปุ่น คือประเทศที่ ผู้เชี่ยวเรื่องการกระจายอำนาจรายนี้ ยกตัวอย่างให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในการดำเนินงานระหว่างรัฐส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น เพื่อสะท้อนว่า ท้องถิ่น ก็ไม่ได้หมายความว่า จะทำได้ทุกเรื่อง
เช่น นโยบายการสร้างสนามบินโอกินนาวา ที่แม้ท้องถิ่นไม่อยากได้ แต่พอเป็นนโยบาย ผ่านรัฐสภามา ก็ถือว่า รัฐสภาก็มีตัวแทนประชาชน ก็ต้องยอม
“ดังนั้นท้องถิ่นจึงไม่ใช่อะไรก็ทำไม่ได้ ค้านกันทุกเรื่อง เพราะแบบนั้นจะเป็นรัฐอิสระ ซึ่งเราไม่มีความคิดแบบนั้น มาโจมตีกันว่า แบ่งแยกดินแดนนั้น ไม่เกี่ยวเลย”
ขณะที่ชาติเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่าง อินโดนีเซีย ‘ชำนาญ’ ชูให้เห็นถึง การเรียนรู้จาก ความผิดพลาดที่กดทับท้องถิ่น จนกระทั่งเกิดการแยกไปเป็นประเทศ ติมอร์เลสเต นั้น
ทำให้ชาวอิเหนาปรับท่าที รับมือกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดอาเจะห์ ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ที่คล้ายกับปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ ของประเทศไทย
ด้วยการให้สิทธิในการกำหนดตนเอง (Self Determination Rights) ก็ทำให้พวกเขาขึ้นมาสมัครฯเป็นผู้แทน เป็นนักการเมืองท้องถิ่น เมื่อสิทธิมีเสียง บ้านเมืองก็สงบเรียบร้อย
สำหรับอุปสรรคต่อเรื่องท้องถิ่น ‘ชำนาญ’ ให้มุมมองว่า มักถูกโจมตีเรื่องคอร์รัปชัน แต่ ก็ต้องยอมรับว่า คอร์รัปชันมี ทุกที่ ทุกวงการ
“ท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่ง เรื่องร้องเรียนย่อมมีทุกที่ ร้องเรียนเสร็จ แต่รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อปี 2556 การตรวจสอบคิดเป็นร้อยละ 2.7 เท่านั้น เม็ดเงินถ้าเทียบกับส่วนกลางที่ทุจริต ก็ห่างกันลิบลิ่ว ถ้าสร้างระบบไม่ดีคอร์รัปชันก็ยังคงเป็นไปได้ จึงเสนอให้มีการใช้ open data ใช้ block chain ถ้าโปร่งใส ก็ตรวจสอบได้ทุกอย่าง อเมริกาเขาก็มีทุจริต แต่สร้างระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งขึ้นมา”
ถึงบรรทัดนี้ ย่อมทำให้เกิดคำถามทันทีว่า การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่จะเป็นไปได้หรือไม่ กับรัฐไทยที่เคยชินกับ“อำนาจรวมศูนย์” ที่มี กระทรวงมหาดไทย กำกับดูแลอยู่
อดีตปลัดอำเภอ ผู้นี้ กล่าวอย่างมีความหวังว่า กระทรวงมหาดไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา มีขนาดใหญ่ แต่ไม่มีราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งมันล้าสมัย หมดยุคไปแล้ว
“อย่าลืม เมื่อก่อนกระทรวงมหาดไทย ก็เคยมีทั้งตำรวจ อัยการ แรงงาน ประชาสงเคราะห์ เยอะแยะไปหมด ถ้ากฎหมายผ่าน เขาจะทำได้ดีและทำได้ไวกว่าใครเพื่อนด้วย คำว่า ฮิตาชิ ไม่เคยได้มาเพราะโชคช่วย”
พรรคอนาคตใหม่ ต้องการเข้าสู่อำนาจรัฐ เพราะการเปลี่ยนแปลงโดยนิติรัฐ ต้องมีอำนาจรัฐ มีกฎหมาย ผ่านผู้แทนของปวงชนชาวไทย ในรัฐสภา ถ้ากฎหมายออกมาแล้วก็ต้องทำตามนั้น การกระจายอำนาจ จึงเป็นไปได้
‘ชำนาญ’ ทิ้งท้ายว่า อดีตนายกฯเทศมนตรีเมืองโคโลญจ์ เยอรมนี คนหนึ่ง เคยบอกว่า “No States without Cities” ซึ่ง state หมายถึง รัฐที่มีประชาธิปไตย city หมายถึงท้องถิ่น แปลว่า “ไม่มีรัฐใดจะเข้มแข็ง โดยปราศจากท้องถิ่นที่เข้มแข็ง”
“ก็เหมือนบ้านเราที่ประชาธิปไตยระดับชาติล้มลุกคลุกคลาน ก็เพราะท้องถิ่นไม่เข้มแข็ง”