ถ้าไม่นับความระยำตำบอนของ 4 ทรชนหิ้วปีกสาวไม่ได้สติไปทำมิดีมิร้ายก่อนพบเป็นศพในจังหวัดแถวภาคตะวันออก ข่าวที่กระชากเรตติ้งสุดๆ ในช่วงสัปดาห์นี้คงต้องยกให้กับ "ร่างทรง 4.0" กับข่าว "ผีแวนโก๊ะ" จากภาพวาดต้นไม้ปริศนาของอดีตนักร้องดัง คุณอุ๊ หฤทัย ม่วงบุญศรี
ข่าวร่างทรงนี่บอกตรงๆ ว่าหาสาระไม่ได้ ขอผ่าน ส่วนข่าวผีแวนโก๊ะ มีสาระอันแท้ทรูอยู่ที่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ชิคมาก เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ "สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ" หรือ สทน. ได้ตรวจสอบความเก่าแก่ของภาพวาดที่อาจเป็นของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ "วินเซนต์ แวนโก๊ะ" (Vincent Van Gogh) จากที่ผ่านมานับสิบๆ ปี เคยแต่วิเคราะห์โบราณวัตถุแบบอื่นๆ นี่จึงเป็นเรื่องใหญ่ของวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบ้านเรา แต่เรื่องวิทยาศาสตร์ ก็ดันถูกไสยศาสตร์กลบซะมิด !!! ชนิดที่ว่าแทบไม่มีใครสนใจว่าหน่วยงานไหนวิจัยเรื่องนี้
สงสารคนวิจัยที่หน้าแดงหน้าดำทำงานตรวจสอบมาถึง 3 ปี ถึงตรงนี้เองคุณอุ๊ หฤทัย ก็คงเซ็งไม่น้อย เพราะทั้งโพสต์เฟสบุ๊ค ทั้งให้สัมภาษณ์ถึงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แบบละเอียดยิบ ไปแล้ว แต่สื่อก็ดันสนใจจะลงข่าวแค่เรื่องเล่า "วิญญาณเคราสีทอง" ที่เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ตีข่าวใหญ่โตสนุกสนาน นี่แสดงให้เห็นถึงตัวตน หรือแนวคิดบางอย่างในสังคมเราได้ไหมนะ?
เอะอะๆ อะไรเราก็ลากเข้าเรื่องผี และเรื่องผีมีน้ำหนักเสมอในหลายๆ กรณีที่ความจริงยังไม่ปรากฎ ที่เราเป็นแบบนี้อาจจะมาจากการหล่อหลอมทางความเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อแบบ "ศาสนาผี" หรือวิญญาณนิยม (Animism) ที่มองว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกหล้า ต้นไม้ ใบหญ้า ก้อนหิน หมา แมว ฯลฯ หรือแม้แต่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ต่างมีวิญญาณเป็นของตัวเอง นี่เป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ขนปุยยุคเริ่มแรก ก่อนพัฒนาเป็นศาสนาในแบบต่างๆ
ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ้านเรา มีความเชื่อแบบศาสนาผีเต็มตัว ก่อนรับศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธเข้ามา แล้วเลือก Mix หลักบางอย่างเข้ากับความเชื่อเดิม
ดังนั้น แม้ในยุคจารีตเราจะเป็นสังคมพุทธแล้ว แต่ยังสามารถเห็นร่องรอยลัทธิวิญญาณนิยมได้อย่างชัดเจน เช่น ยุคสุโขทัยเชื่อเรื่อง "พระขพุงผี" หรือผีรักษาเมือง, ในสมัยอยุธยามี "พิธีเพาะบก" แห่แหน "แม่ยั่วพระพี่" หรือแห่เจว็ดผี เพื่อความร่มเย็น, ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังเห็นประกาศแช่งน้ำใน "พิธีศรีสัจปานะกาล" ถือน้ำข้าราชการตามหัวเมือง ที่มีบทเรียกประชุมผีตั้งแต่ผีในน้ำ ในป่า ในอากาศ เพื่อสาปแช่งขุนนางผู้ไม่สุจริต
หรือแม้แต่ทุกวันนี้เรายังเห็นการกราบไหว้เจ้าพ่อไทร เจ้าแม่ตะเคียน เข้าทรงเจ้าสิงสาราสัตว์สารพัดชนิด และยังได้ยินข่าวนักท่องเที่ยวต้องเอา "อิฐ" จากโบราณสถานส่งคืนไทยเสมอเพราะ "เจอดี" นี่แสดงให้เห็นว่าแม้แต่อิฐแต่หิน ก็ยังมีวิญญาณตามหลักการศาสนาดึกดำบรรพ์เป๊ะ ทั้งหมดเป็นตัวอย่างชัดเจนว่าเราอยู่กับผี และผีอยู่กับเรามาตลอด
นี่จึงไม่แปลกเลยที่เราพร้อมจะเปิดใจรับ "ผีชาวต่างชาติ" ที่ติดมากับภาพวาด เพราะมันต้องจริต และก็ไม่แปลกอีกเหมือนกันที่สื่อมักจะหยิบเรื่องผีๆ ไสยๆ มาเป็นข่าวเด่น เพราะเห็นแล้วว่ามัน "ขายได้"
ไม่รู้ว่าต้องแก้ที่สื่อก่อน เพราะสื่อต้องส่องทางจุดปัญญาให้ประชาชน หรือต้องแก้ที่คนเสพสื่อก่อน เพราะจำนวนไม่น้อยก็ชอบแนวนี้จนสื่อต้องผลิตออกมาเพราะยอดขาย แต่กรณี "ผีแวนโก๊ะ" ล่าสุดน่าจะบอกอะไรๆ ได้ดี โดยเฉพาะความจริงที่ว่าเราเป็นสังคมที่หลงใหลใน "วิทยาศาสตร์" หรือไม่
หรือเราได้แต่เม้นคำว่า "สาธุ", "99" และ "ขออโหสิกรรมที่เข้ามาดู"
ข่าวเกี่ยวข้อง :