กลายเป็นเรื่องปกติจนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็น “ธรรมเนียม” ไปแล้ว กับการไถ่ถามผู้ประสบเหตุการณ์ร้ายๆ แต่ก็ผ่านพ้นมาได้แบบเหลือเชื่อ ว่า “แขวนพระอะไร” หรือ “มีของดีอะไร” ดังนั้นจึงไม่แปลกนัก ที่สื่อจะพาดหัวตัวโตๆ เกี่ยวกับพระเครื่องคนดังสนองรสนิยมชาวบ้าน หรือแม้แต่กรณีล่าสุดที่ผู้ประสบเหตุจะไม่ได้รอดชีวิต แต่ “พระเครื่องประจำตัว” ก็ยังกลายเป็นที่สนใจอยู่ดี พร้อมมีข้อมูลเสริมว่า แม้จะจากไปแต่ร่างกายของเจ้าของพระก็แทบไม่มีบาดแผลริ้วระคาย
การ “ห้อยพระดี – เกจิดัง” เป็นธรรมเนียมมาแต่เมื่อไหร่ไม่แน่ชัด แต่หากย้อนไปในอดีตการสร้างพระองค์เล็กๆ แบบนี้มีมานานนับพันๆ ปีแล้ว หลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน เรียกพระองค์เล็กๆ แบบนี้ว่า “พระพิมพ์”
พระพิมพ์โบราณจำนวนมาก มักจารึก “คาถาเย ธมฺมา” และข้อความเกี่ยวกับอริยสัจสี่ อันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนาลงไปบนพื้นผิว และก็ฝังเอาไว้ตามเจดีย์ต่างๆ เวลาที่มีคนไปขุดค้นพบในยุคหลังๆ ก็เรียกกันว่า “กรุแตก” นั่นแหละ ยกตัวอย่างเช่น “พระเม็ดกระดุมศรีวิชัย” พระพิมพ์ดินเผาอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 หรือช่วงระหว่างปี พ.ศ. 1101-1300 ที่พบในวัดเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระดินเผากรุนี้ก็จารึกพระคาถาเย ธมฺมา เป็นภาษาปัลวะ ว่ากันว่ามีการค้นพบร่วมสองพันองค์เลยทีเดียว
คาถาเย ธมฺมา บนพระพิมพ์ดินเผา “พระเม็ดกระดุมศรีวิชัย” วัดเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี (ที่มาภาพจาก ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)
การสร้างพระพิมพ์แบบนี้ สาระหลักมาจากความเชื่อเรื่อง “ภัทรกัป” หรือยุคพระเจ้าห้าพระองค์ อธิบายกันแบบซื่อๆ ก็คือ เชื่อกันว่ายุคนี้มีพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ยุคสมัยของแต่ละองค์จะมีอายุพระศาสนามากน้อยต่างกันไป โดยในส่วนของ “พระสมณโคดม” หรือพระพุทธเจ้าในยุคของเรามีอายุพระศาสนาอยู่ที่ 5,000 ปี
คนโบราณเขาเกรงกันว่าถ้าหมดอายุพระศาสนาแล้ว หลักธรรมต่างๆ จะเสื่อมสูญหายไปหมด เลยต้องทำหลักฐานเอาไว้ด้วยการทำพระฉายา หรือรูปลักษณ์พระพุทธเจ้า รวมถึงสลักหลักธรรมเอาไว้ด้วย หวังว่าคนในยุคต่อไปมาค้นพบจะได้รู้จักหลักธรรม และฟื้นฟูศาสนาขึ้นใหม่
ด้วยเหตุนี้ พระพิมพ์ในยุคโบราณ เขาจึงไม่ได้ทำไว้แขวนคอกัน แต่ทำไว้เพื่อสืบต่อพระศาสนา ซึ่งการสืบต่อศาสนานั้นถือเป็นการสร้างบุญอย่างหนึ่ง ทำให้การสร้างพระพิมพ์ยุคถัดๆ มา มีเป้าหมายเพื่อการสร้างกุศล หรืออุทิศบุญให้ผู้วายชนม์ด้วย เช่น พระพิมพ์ดินเผานาดูน สมัยพุทธศตวรรษที่ 14 ค้นพบที่วัดโนนศิลา บ้านฝายหิน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น มีจารึกสลักเอาไว้มีว่า ขุนนางผู้หนึ่งได้ร่วมกับสหาย ทำบุญด้วยการสร้างพระพิมพ์องค์นี้ขึ้น ขณะที่ศิลาจารึกวัดบางสนุก จ.แพร่ บรรยายผู้คนยุคสุโขทัยว่ามีการพิมพ์พระด้วยดีบุกและดิน เพื่อบำเพ็ญกุศล
จารึกภาษาปัลวะหลังพระพิมพ์ดินเผานาดูน แหล่งวัดโนนศิลา บ้านฝายหิน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น (ที่มาภาพจาก ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)
ในเอกสารประเภทพงศาวดาร และวรรณคดีต่างๆ เราจะเห็นว่าการรบทัพจับศึกแต่ละครั้ง มีกล่าวถึงวิชาทางไสยศาสตร์คงกระพันชาตรี แคล้วคลาด ล่องหนหายตัว มหาอุด ฯลฯ ขณะที่เครื่องรางโดยมากมักกล่าวถึง ผ้าประเจียด, ยันต์, คด, มงคล ฯลฯ โดยส่วนตัวผู้เขียนเองด้อยประสบการณ์ยังอ่านไม่เจอพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับไหน พูดถึงการพกเครื่องรางประเภท “พระพิมพ์-พระเครื่อง”
ขณะที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักมานุษยวิทยาอาวุโส เคยแสดงความเห็นไว้ในหนังสือ “พระเครื่องในเมืองสยาม” ว่า คนสมัยก่อนไม่น่าจะห้อยพระไว้กับตัว เพราะถือกันว่าพระฉายาของพระพุทธเจ้าเป็นของสูง ไม่ควรจะมาอยู่กับคนหรืออยู่ในบ้าน เพราะพาลเป็นอัปมงคล ควรแต่จะไว้ในวัดเท่านั้น
(ทหารราบในภาพจิตรกรรมบนผนังหุ้มกลองด้านทางเข้าอุโบสถวัดโบสถ์สามเสน กรุงเทพมหานคร สวมมงคลที่ศีรษะและแขวนประคำ ใกล้กันมีทหารสวมเสื้อยันต์ )
คำถามว่า “แล้วพระเครื่องมาแขวนกันตอนไหน” จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจ แต่ก็หาคำตอบได้ยากที่สุด ส่วนตัวผู้เขียนสันนิษฐานเอาเองว่าน่าจะเริ่มมีการพกพาพระเครื่องอย่างน้อยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ โดยวัดเอาจากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนที่แต่งขึ้นราวสมัยรัชกาลที่ 2 เพราะในตอนขุนช้างไปตามนางวันทองคืนจากขุนแผน มีบทบรรยายการแต่งองค์ทรงเครื่องของขุนช้าง ประโคมของดีจนเต็มตัว ซึ่งในนั้นมีการกล่าวถึงการอม “พระภควัม” หรือพระปิดตา ไว้ในปากเพื่อความจังงังด้วย
ลูกไข่ดันทองแดงกำแพงเพชร
ไข่เป็ดเป็นหินขมิ้นผง
ตะกรุดโทนของท่านอาจารย์คง
แล้วอมองค์พระคะวำลํ้าจังงัง
ทุกวันนี้ทัศนะเกี่ยวกับพระเครื่องของคนยุคปัจจุบัน ดูจะห่างไกลกับคนเมื่อยุคพุทธศตวรรษที่ 11 ที่กล่าวมาข้างต้นแบบลิบลับ เพราะพระเครื่องพระพิมพ์ในฐานะเครื่องรำลึกถึงหลักธรรม ถูกพูดถึงน้อยกว่าสรรพคุณแง่อิทธิปาฏิหาริย์ ถ้าจะว่ากันตามความเชื่อก็คงเป็นเพราะนี่ล่วงเข้าสู่ปีพุทธศักราช 2561 แล้ว เกินครึ่งของอายุพระศาสนา 5,000 ปี .....ถึงเวลาที่หลักธรรมจะเริ่มเลือนลางตามตำนาน