ไม่พบผลการค้นหา
ปล่อยตัวแล้ว 2 แกนนำเกษตรกรชาวสวนยางพารา จ.พัทลุง หลังถูกนำตัวเข้าค่ายทหาร มทบ. 42 นานร่วม 14 ชั่วโมง ขณะที่เครือข่ายยาง 15 องค์กรยังยืนยันเดินทางยืนหนังสือ ปลดผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทยต่อไป

จากกรณีเจ้าหน้าที่ พ.อ.อุทิศ อนันตนานนท์ รอง ผบ.ควบคุม มทบ. 42 พร้อมพวก ได้เข้าเชิญตัว นายไพรัช เจ้ยชุม อายุ 48 ปี ชาวบ้าน ต.โคกสัก อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ประชาสัมพันธ์คณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์กองทุนชาวสวนยางจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วย นายสำรอง เพชรทอง อายุ 58 ปี ชาวบ้าน ต.วังใหม่ อ.ป่าบอน จ.พัทลุง รองประธานชุมนุมสหกรณ์กองทุนกองทุนชาวสวนยางพาราจังหวัดพัทลุง มาควบคุมตัว ณ บ้านพักรับรองของกองพันทหารช่าง ช. 402 ค่ายอภัยบริรักษ์ อ.ศรีนครินทร์ เพื่อพบปะ และสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทั้ง 2 คน ได้ให้ความร่วมมือกับทหารด้วยดี         

ต่อมา เมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 12 พ.ย. 2560 นายไพรัช และ นายสำรอง แกนนำเกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดพัทลุง ได้ถูกปล่อยออกจากค่าย��หาร         

อย่างไรก็ตาม เมื่อทั้ง 2 คนถูกนายทหาร 2 คน นำตัวออกมาจากค่ายดังกล่าว บรรดาแกนนำชาวสวนยางพาราทั้งใน จ.พัทลุง และ จ.ตรัง ได้เข้าแสดงความยินดีกับ นายไพรัช และ นายสำรอง ที่ถูกปล่อยตัวออกมาในครั้งนี้ โดยทั้ง 2 คนได้ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับบรรดาสื่อมวลชนที่รอทำข่าวอยู่หน้าค่ายอภัยบริรักษ์

จากนั้นกลุ่มแกนนำทั้ง 2 จังหวัด ประมาณ 10 คน ได้นำ นายไพรัช และ นายสำรอง ขึ้นรถกระบะส่วนตัวมารับประทานอาหารเที่ยง เพื่อให้กำลังใจ และปลอบขวัญแก่บุคคลทั้ง 2 ราย ณ ร้านอาหารครัวสังข์หยด ริมถนนเอเชีย ขาล่อง ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง

 ส่วนการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้แก้ไขปัญหาราคายาง นาย มนัส บุญพัฒน์ ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายยางพารา 15 องค์กร ยังยืนยันว่าจะเดินทางยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตกรและสหกรณ์ในวันจันทร์ที่ 13 พ.ย. นี้เพื่อให้แก้ปัญหาราคายางและปลดบอร์ดการยางแห่งประเทศไทยที่บริหารงานผิดพลาดจนทำให้ราคายางตกต่ำ

ด้านนายสุนันท์ นวลพรหมสกุล ในฐานะรองโฆษกการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ยางพารา ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ตุลาคมของทุกปีเป็นช่วงที่ปริมาณยางออกสู่ตลาดสูง ทำให้ราคายางในสภาพปกติมีแนวโน้มปรับตัวลดลง สำหรับปีนี้ ภาพรวมราคายางเป็นไปตามกลไกตลาด โดยราคาทั้งในและต่างประเทศ ปรับตัวในทิศทางเดียวกัน

แต่ปัญหาราคายางขณะนี้ สาเหตุที่แท้จริงมาจาก ปริมาณผลผลิตและความต้องการใช้ยางไม่สมดุลกัน ส่งผลต่อราคาขาย โดยประเทศผู้ผลิตหลักทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ราคาปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน แต่ราคายางในประเทศไทยยังคงสูงกว่าประเทศอื่น

นอกจากนี้ ยังมีประเทศผู้ผลิตยางรายใหม่ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปี 2559 สูงมาก เช่น กัมพูชา เพิ่มขึ้น 33.1% อินเดีย เพิ่มขึ้น 21.0% และ เวียดนาม เพิ่มขึ้น 11.3% ทำให้ผลผลิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น ปัจจัยด้านเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลก ทั้งจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทำให้เกิดการชะลอซื้อของประเทศผู้ใช้ยางเหล่านี้ รวมถึง ความตึงเครียดทางการเมืองหลายประเทศ ทำให้นักลงทุนชะลอการซื้อและราคาในตลาดล่วงหน้ามีความผันผวนอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อราคายางของตลาดซื้อขายจริงในประเทศที่ปรับตัวลดลงตามไปด้วย และการเก็งกำไรของนักลงทุนทั้งตลาดซื้อขายจริงในประเทศและตลาดล่วงหน้า กระทบต่อการซื้อขายทำให้ราคาในตลาดนั้นๆ มีความผันผวนลดลงเช่นกัน

นายสุนันท์ กล่าวว่า การตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง เพื่อกระตุ้นแรงซื้อตลาดในประเทศ ผลักดันและพยุงราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สะท้อนกับความเป็นจริง ทำให้เกิดเสถียรภาพด้านราคาในประเทศ เพราะตามคาดการณ์อาจมีปริมาณยางในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น กองทุนนี้ ซึ่งดำเนินการภายใต้ชื่อ บจก. ร่วมทุนยางพาราไทย จะดำเนินการซื้อยางผ่านตลาดกลาง กยท. ซึ่งเป็นการซื้อขายจริง และการซื้อขายสัญญาผ่านตลาดล่วงหน้า โดยไม่มุ่งเน้นแสวงกำไร เพื่อให้ประโยชน์ของกองทุนฯ ตกอยู่ที่เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง

สำหรับการจัดตั้งบริษัทโดยถือหุ้นร่วมกับภาคสถาบันเกษตรกร กยท. กำลังดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ยืนยันว่าบริษัทร่วมทุนได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์มาโดยตลอด