หลัง 23 องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกันล่า 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายยกเลิกคำสั่ง คสช.และคำสั่งหัวหน้า คสช. 35 ฉบับ ที่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งหนึ่งในภาคีที่เข้าร่วมคือ 'เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน' หรือ คปอ. ที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องสิทธิร่วมกับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ภาคอีสาน นับตั้งแต่มีการออก 'นโยบายทวงคืนผืนป่า' จากคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 ที่กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่า ร้อยละ 40 % ภายใน 10 ปี
'รื้อถอนที่อยู่' สู่ 'การบังคับให้สูญหาย'
นางอรนุช ผลภิญโญ กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ได้เล่าถึงปัญหาที่ดินระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่กับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่าได้ทำงานในพื้นที่ทับซ้อนกับป่าอนุรักษ์ ชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย และ ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร และอีก 5 ชุมชน ที่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีกรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง
โดยเจ้าหน้าที่รัฐจะใช้อำนาจจากคำสั่งทางปกครอง เพื่อรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่าเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการใ���หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการตัดฟันไม้ชาวบ้าน, การดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญา, บังคับให้ออกจากพื้นที่ และการบังคับให้สูญหาย เช่นกรณี เด่น คำแหล้ แกนนำการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินชุมชนโคกยาว หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2559 หลังเข้าไปเก็บหน่อไม้ในสวนป่าโคกยาว ส่วนการดำเนินคดีล่าสุด คปอ.พบว่ามีการดำเนินคดีแล้ว 14 ราย จาก 19 คดี
จาก 'คนไร้ที่อยู่' กลายเป็น 'คนไร้สิทธิ'
นอกเหนือการจับกุมดำเนินคดีผลกระทบยังมีผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เมื่อชาวบ้านไร้ที่อยู่อาศัย ส่งผลต่อการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานรัฐไม่มีแผนการเยียวยาเมื่อเกิดมาตรการรุกไล่พื้นที่ โดยอ้างว่าชาวบ้านทำผิดกฎหมาย ก็ไม่มีสิทธิในการเรียกร้องความเป็นธรรม
ขณะที่ช่องทางทวงคืนความเป็นธรรม ถูกริดรอนเสรีภาพของประชาชนที่จะต่อสู้เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไข ด้วยการตีกรอบจาก พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ รวมถึงประกาศ คสช. ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองหรือมั่วสุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แม้กระทั่งการห้ามประชาชนรวมตัวกันพูดคุยปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะชุมชนที่ไม่เข้มแข็ง ที่ไม่มีสิทธิต่อรองก็เสี่ยงต่อการถูกข่มขู่และดำเนินคดี และไม่ปรากฎในหน้าสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อหลักหรือสื่อทางเลือก
กลไกการมีส่วนร่วมที่หายไป จากอำนาจ คสช.
แม้ว่ารัฐจะเปิดช่องทาง 'ศูนย์ดำรงธรรม' ให้ชาวบ้านร้องเรียนความเดือดร้อน แต่นางอรนุชกลับมองว่าเป็นความล้มเหลว เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ 'ทหาร' ซึ่งหลายกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ สะท้อนวิธีคิดการไม่มีส่วนร่วม โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าคิดแทนชาวบ้านแล้ว ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ตลก จนไปสู่การตั้งคำถามว่าทำไมไม่ใช้กระบวนการพูดคุยระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ
จึงอยากเสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่เกิดผลกระทบกับชาวบ้าน และนำแนวทางกฎหมาย 4 ฉบับ อาทิ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินก้าวหน้า, พ.ร.บ.กองทุนธนาคารที่ดิน, พ.ร.บ.สิทธิชุมชน และ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ที่ชาวบ้านนำเสนอ ไปสานต่อเพื่อแก้ปัญหา รวมถึงการจัดเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อให้ชาวบ้านเป็นอิสระมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ถูกวางระบบจากกลไกรัฐธรรมนูญก็ตาม
เมื่อเสียงของประชาชนถูกตีกรอบด้วยกฎหมายที่ทำให้พวกเขาไร้เสียงสะท้อน ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสาน จะเป็นอย่างไรหากว่าเสียงเหล่านั้นไม่ถูกรับฟัง...