ด็อกเตอร์ลิเลียน กาลเดรอง-การ์ซิดูเอนยาส แพทย์และนักพิษวิทยาจากมหาวิทยาลัยมอนทานาและทีมวิจัยได้ตีพิมพ์ผลวิจัยลงบน นิตยสารทางวิชาการ Journal of Environmental Research ซึ่งระบุว่า เด็กและเยาวชนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีมลพิษจะมีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์และเสี่ยงฆ่าตัวตายมากขึ้น
ทีมวิจัยได้ตรวจร่างกาย 203 คนในกรุงเม็กซิโก ซิตี้ ซึ่งเป็นเมืองที่ประชาชนต้องเผชิญกับฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนอยู่ทุกวัน โดยการวิจัยนี้ได้ตรวจร่างกายคนตั้งแต่อายุ 11 เดือน ถึง 40 ปี โดยติดตามดูโปรตีนผิดปกติ 2 ชนิดในสมองของเด็กและเยาวชน ซึ่งบ่งบอกถึงพัฒนาการของโรคอัลไซเมอร์ กับการเผชิญมลพิษ รวมถึงการติดตาม Apolipoprotein E หรือ APOE 4 ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมต่อโรคอัลไซเมอร์
สัญญาณขั้นเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และอาการของโรคจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น และพบว่าร้อยละ 99.5 จากกลุ่มตัวอย่างมีสัญญาณของโรคอัลไซเมอร์นี้ นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นพาหะ APOE 4 ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์อย่างรวดเร็ว และอัตราการฆ่าตัวตายยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.92
ทีมวิจัยเชื่อว่าผลกระทบที่ร้ายแรงนี้มีสาเหตุมาจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เข้าไปในสมองผ่านทาง จมูก ปอดและระบบทางเดินอาหาร และฝุ่นละอองเหล่านี้ได้ทำลายสิ่งกีดขวางต่างๆ และไหลเวียนไปทุกส่วนของร่างกายด้วยระบบไหลเวียนเลือด
รายงานนี้สรุปว่ามลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่คนหลายบ้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญ จึงควรมีมาตรการจัดการเรื่องนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะการใช้มาตรการเชิงรับในอีก 10 ปีข้างหน้าจะไร้ประโยชน์ โดยกุญแจสำคัญในการป้องกันอัลไซเมอร์ คือ การศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพแวดล้อม โภชนาการ เมตาบอลิซึม และพันธุกรรมของเด็ก
ด้านสถาบันศึกษาผลกระทบมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพ หรือ HEI เพิ่งเปิดเผยรายงานที่ระบุว่า ประชากรโลกกว่าร้อยละ 95 กำลังสูดดมมลพิษทางอากาศเข้าไป โดยเฉพาะคนในประเทศยากจน เนื่องจากไม่มีแผนรองรับหรือแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพ
รายงานนี้ ยังระบุว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 4 ตามหลังความดันโลหิตสูง โภชนาการ และการสูบบุหรี่ โดยปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตเพราะอากาศกว่า 6 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งมากกว่าครึ่งอยู่ที่จีนและอินเดีย
ส่วนไทย มีฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เฉลี่ยอยู่ที่ 23 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในปี 2016 ถือเป็นพื้นที่สีเหลือง ความเข้มข้นระดับ 2 จากทั้งหมด 5 ระดับ โดยระดับ 5 เป็นพื้นที่ที่มีมลพิษมากที่สุด นอกจากนั้น ในปีเดียวกันนี้ยังมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ 25,432 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2010 รวม 3,458 คน โดยผู้เสียชีวิตมีอายุเฉลี่ย 33.6 ปี ซึ่งถือว่ามีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับปี 1990 ที่ผู้เสียชีวิตจะมีอายุประมาณ 51.4 ปี
ที่มา: Neuroscience News, CNN