แมนดาริน โอเรียนเต็ลและเซ็นทาราแกรนด์ บีช รีสอร์ท แอนด์ วิลล่า หัวหิน เป็น 2 โรงแรมของไทยที่ติดอันดับ Heritage hotel (โรงแรมที่มีคุณค่าทางมรดกและวัฒนธรรม) ที่ดีที่สุด 24 แห่งในเอเชีย จากการจัดอันดับโดยซีเอ็นเอ็น เทรเวล พร้อมด้วยโรงแรมจากทั่วเอเชียจากทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย เมียนมา อินเดีย ฮ่องกง จีน ศรีลังกา
อย่างไรก็ตาม โรงแรมแต่ละแห่งที่ซีเอ็นเอ็นคัดเลือกมานั้นส่วนใหญ่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับช่วงยุคอาณานิคมตะวันตกและเป็นโรงแรมที่มีเรื่องเล่าที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองนั้นด้วยเช่นกัน
'วอยซ์ ออนไลน์' ขอหยิบยกตัวอย่างโรงแรมที่โดดเด่นและสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ของแต่ละเมือง อาทิ
โรงแรมราฟเฟิลส์, สิงคโปร์ (Raffles Hotel)
Raffle Hotel โรงแรมแห่งนี้เปิดทำการมาตั้งแต่ค.ศ. 1889 โดย 4 พี่น้องตระกูลซาร์กีส์ (Sarkies) ผู้เป็นทั้งพ่อค้าและนักธุรกิจผู้สร้างโรงแรมเครือข่ายชาวเอเชียตระกูลแรก ด้วยการผสมผสานการให้บริการในแบบเอเชียและยุโรป เพื่อสร้างโรงแรมแห่งนี้ให้เป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว เพื่อรองรับนักการทูตและแขกพิเศษต่างๆ ที่เดินทางมาเยือนสิงคโปร์
ด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียลที่สร้างสมัยทศวรรษ 1830 ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ได้ขึ้นทะเบียนอาคารของโรงแรมแห่งนี้เป็นตึกอนุรักษ์ของชาติในปี 1987
โดยเมื่อไม่นานมานี้โรงแรมราฟเฟิลส์แห่งนี้ได้เป็นที่พักของ คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เมื่อครั้งการจัดประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ทางโรงแรมมีแผนที่จะปิดปรับปรุงในส่วนของอาคารหลักของโรงแรมในช่วงปลายปีนี้ -2019
เดอะ เพนินซูล่า, ฮ่องกง (The Peninsula)
เดอะ เพนินซูลา หรือที่เรียกกันว่า เดอะ เพน เป็นหนึ่งในโรงแรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของฮ่องกง เปิดทำการครั้งแรกในปี 1928 ด้วยตึกสูงตั้งตระหง่าน มองเห็นบรรยากาศเหนืออ่าววิคตอเรียของฮ่องกง
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตึกของโรงแรมแห่งนี้ถูกใช้เป็นศูนย์บัญชาการทางทหารของญี่ปุ่นจนถึงปี 1945 เมื่ออังกฤษกลับเข้ามาฮ่องกงอีกครั้ง และหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ห้องบอลรูมของโรงแรมแห่งนี้ก็ถูกใช้เป็นบ้านของชาวยิวนับร้อยคนที่อพยพออกมาจากเซี่ยงไฮ้ จนกระทั่งในปี 1953 เดอะเพนนิซูลาได้กลับมาเปิดให้บริการเป็นโรงแรมหรูชั้นเลิศเพื่อเป็นที่ต้อนรับแขกคนสำคัญของเกาะฮ่องกงอีกครั้ง
เดอะ สแตรนด์, เมียนมา (The Strand)
ในช่วงต้นศตวรรษ 1900 โรงแรมสแตรนด์ ในเมืองย่างกุ้งแห่งนี้นับว่าเป็นโรงแรมที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของเมียนมาที่เป็นเมืองท่าที่สุดแห่งหนึ่งของดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โรงแรมแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยพี่น้องตระกูลซาร์กีส์ เจ้าของเดียวกับโรงแรมราฟเฟิลส์ในสิงคโปร์ และโรงแรมอีสเทิร์น แอนด์ โอเรียนทัล ในปีนัง เป็นโรงแรมที่ถือได้ว่ามีบริการตามมาตรฐานโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวในช่วงสมัยนั้น
โรงแรมแห่งนี้เคยต้อนรับนักการเมือง มหาเศรษฐี รวมไปถึงนักเดินทางเศรษฐีทั่วโลกมาแล้วตั้งแต่ จอร์จ ออร์เวล ผู้เขียนหนังสือ 1984 และ แอนนิมอล ฟาร์ม เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดที่8 แห่งอังกฤษก็เคยเสด็จเยือนโรงแรมแห่งนี้เช่นกัน หรือแม้แต่ ลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบ็ตเทน ก็เคยพักโรงแรมแห่งนี้เช่นกัน
ขณะที่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้ใช้โรงแรมแห่งนี้เป็นศูนย์บัญชาการทางทหารของญี่ปุ่นเช่นกัน ก่อนจะถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ในการบริหารของบริษัทพัฒนาเศรษฐกิจเบอมาในช่วงหลังสงครามโลกก่อนการรัฐประหารในปี 1988 และโรงแรมแห่งนี้ถูกขายให้แก่นักธุรกิจชาวเมียนมาและ เอเดรียน เซชา นักธุรกิจโรงแรมจากอินโดนีเซียในปี 1989
เดอะ แรมแบคห์ พาเลซ, อินเดีย (The Rambagh Palace)
ไทม์ระบุว่า The Rambagh Palace แห่งนี้จะพาคุณย้อนกลับไปยังช่วงเวลาที่มหาราชชัยปุระ ด้วยความยิ่งใหญ่ตระการตาของพระราชวังที่ได้รับการสร้างและตกแต่งโดยเหล่าผู้ปกครองเมืองชัยปุระ
ตึกอาคารหลักของโรงแรมแห่งนี้ เดิมเป็นวังของผู้ปกครองเมืองชัยปุระ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1835 ในช่วงแรกตัวอาคารถูกตกแต่งด้วยสีเหลืองและสีแดง ตามความชื่นชอบของราชินี แต่ถูกต่อเติมเรื่อยมาโดยสมาชิกในราชวงศ์ในช่วงศตวรรษ 1900
จนกระทั่งในปี 1957 มหาราชแห่งเมืองชัยปุระได้ตัดสินใจเปลี่ยนพระราชวังที่ประทับให้เป็นโรงแรมเพื่อต้อนรับแขกคนสำคัญของเมืองและของประเทศ โรงแรมแห่งนี้เคยต้อนรับเจ้าฟ้าชายชาร์ลแห่งราชวงศ์อังกฤษ รวมไปถึงนางแจ็คเกอรีน เคนเนดี้ ภรรยาของจอห์น เอฟ เคนเนดี้ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้ถูกลอบสังหาร
โซฟีเทล รีเจนด์ เมโทรโพล ฮานอย , เวียดนาม (Sofitel Legend Metropole Hanoi)
โรงแรม Sofitel Legend Metropole ในฮานอยแห่งนี้เปิดทำการเมื่อช่วงยุคอาณานิคมฝรั่งเศสส่งผลให้ตัวตึกเป็นที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสในแบบนีโอคลาสิค
โรงแรมแห่งนี้เปิดทำการในปี 1901 และได้รับการต้อนรับเหล่าคนดังจากทั่วโลกมามากมายเมื่อครั้งฝรั่งเศสปกครองอินโดจีน เช่น ชาร์ลลี แชปลิน นักแสดงชื่อดังจากอังกฤษ หรือนักเขียนชื่อก้องโลกอย่างเกรแฮม กรีน (Graham Greene)
ในช่วงระหว่างสงครามเวียดนามโรงแรมแห่งนี้ได้ถูกปิดทำการและโครงสร้างตึกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสงคราม จนได้รับการซ่อมแซมอีกครั้งจากกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ทพูลแมนที่เข้ามาซื้อตัวตึกและเปิดทำการอีกครั้งในช่วง 10 ปี หลังจากสงครามเวียดนามจบลง
โดยปัจจุบันกลุ่มโรงแรมในเครือแอคคอร์ของฝรั่งเศสได้เข้าซื้อกิจการโรงแรมแห่งนี้ไปบริหาร พร้อมกับการตกแต่งและสร้างบรรยากาศในห้องต่างๆ ให้ย้อนกลับไปยังยุคอาณานิคมอีกครั้ง
เซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท แอนด์ วิลล่า หัวหิน (Centara Grand Beach Resort & Villas Hua Hin)
โรงแรมในเครือเซ็นทารา 1 ใน 2 โรงแรมของไทยที่ติดอันดับโดยไทม์ยกให้เป็น Heritage hotel ที่ดีที่สุดในเอเชีย โดยโรงแรมแห่งนี้เปิดทำการตั้งแต่ปี 1923 เดิมชื่อ โรงแรมรถไฟ ถูกสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม ตั้งอยู่ในเมืองหัวหินที่ถือเป็นเมืองหน้าด่านเชื่อมต่อระหว่างภาคใต้ของไทย กับเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร และเมืองทางภาคตะวันตกของไทย
โรงแรมแห่งนี้เรียกได้ว่าได้ผ่านช่วงเวลาประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของเมืองหัวหินจากหมู่บ้านชาวประมงสู่เมืองตากอากาศที่สำคัญของชนชั้นนำไทยในช่วงกลางศตวรรษ 1900
ปัจจุบันภายในตัวโรงแรมยังคงรักษาบรรยากาศในช่วงเวลาที่หัวหินเป็นเมืองตากอากาศของชนชั้นนำ ด้วยการตกแต่งในสไตล์ยุโรปและเพิ่มความโรแมนติกด้วยสวนและระเบียงสีขาวสะอาดตา
แมนดาริน โอเรียนเต็ล, กรุงเทพ (Mandarin Oriental)
นักเดินทางชาวต่างชาติรู้จักในนาม 'สยาม' กลุ่มนักธุรกิจและนักเดินทางต่างชาติที่เข้ามาภายหลังจากสยามเปิดเสรีทางการค้าครั้งแรกจากสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ได้รวมตัวกันก่อตั้งโรงแรมเดอะ โอเรียนเต็ลในเมื่อปี 1876 หรือกว่า 140 ปีมาแล้วโดยใช้อาคารจากธนาคารเจ้าพระยาที่ตั้งอยู่ริมเเม่น้ำเจ้าพระยา เส้นทางการคมนาคมที่สำคัญของสยามในสมัยนั้น กล่าวได้ว่าโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ถือได้ว่าเป็นโรงแรมที่เก่าแก่ที่สุดของไทยที่ยังคงเปิดทำการอยู่จนถึงทุกวันนี้
ด้วยตัวอาคารที่เป็นแบบสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียลและตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมด้วยบริการที่เป็นมาตรฐานสากลในระดับ 5 ดาวของโรงแรมแห่งนี้ จึงส่งผลให้ให้แมนดาริน โอเรียนเต็ลเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก พร้อมต้อนรับเชื้อพระวงศ์จากทั่วโลก นักการทูต นักการเมืองที่เป็นแขกคนสำคัญของประเทศ รวมไปถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมายที่มาเยือนประเทศไทย