ไม่พบผลการค้นหา
ปัญหาลูกหนี้ กยศ. เบี้ยวชำระหนี้ นับเป็นปัญหาที่ทับถมยาวนานมานับ 10 ปี ปัจจุบันมีลูกหนี้ที่ถูกจ่อฟ้องดำเนินคดีราว 1.2 แสนคน รวมมูลค่าหนี้กว่า 6.8 หมื่นล้านบาท จากจำนวนคนไม่ชำระหนี้กว่า 2 ล้านคน

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ให้ความเห็นว่าปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดจากตัวคนเสียทีเดียว หากแต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย


“ถ้าปัญหามันสเกลขนาดใหญ่ขนาดนี้ไม่ใช่ปัญหาของคนไม่ดีแล้ว มันเป็นปัญหาของระบบก่อน แล้วไปสู่ความไม่ดีของคนมากกว่า จะโทษเด็กทั้งหมดไม่ได้ แต่การโทษเด็กมันง่าย”


พร้อมชี้ถึงความเชื่อมโยงของปัญหาของระบบการติดตามหนี้ และการผลิตบัณฑิตซึ่งไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน

“สิ่งที่มันเกิดพร้อมกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) คือมหาวิทยาลัยหลายแห่งเขาต้องการรายได้เพิ่ม ก็เลยเปิดรับเด็กเพิ่ม ซึ่งสาขาที่เปิดรับได้เร็วคือสาขาประเภทสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ส่วนสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มันต้องมีเครื่องจักร ต้องลงทุนเยอะ ใช้เวลานานในการจัดการหลักสูตร จึงเลือกขยายสาขาประเภทสังคม"

"มหาวิทยาลัยหลายแห่ง คุณภาพในการจัดการเรียนการสอนก็ยังไม่ดีพอ กลายเป็นแรงงานล้นตลาด และไม่เก่งพอ ตลาดแรงงานก็ปฏิเสธ ปฏิเสธก็ตกงาน ซึ่งบัณฑิตตกงานมีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มคนตกงานทั้งหมด บางคนเรียนมหาวิทยาลัยมาเงินเดือนไม่ต่างจากจบ ปวส. เลย แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปชำระหนี้ได้

"แม้ว่าหนี้จะไม่เยอะ แต่อย่าลืมว่าคนพวกนี้มาจากพื้นฐานที่รายได้ครอบครัวไม่สูงมาก” นายเกียรติอนันต์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังให้ข้อสังเกตว่า ธนาคารในประเทศไม่เคยถูกออกแบบมาเพื่อเก็บหนี้รายย่อยในจำนวนมากขนาดนี้ กล่าวคือ ลูกหนี้กลุ่มนี้ติดตามได้ยากกว่าลูกหนี้ที่เกิดจากการปล่อยกู้โดยธนาคาร ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลลูกหนี้โดยละเอียดเพื่อสะดวกในการติดตาม ดังนั้นต้นทุนในการเรียกเก็บหนี้จึงสูง ทำให้การเบี้ยวหนี้นั้นเป็นไปได้

ด้านนางสาววิภาดา แหวนเพชร หนึ่งในผู้กู้ กยศ. ตั้งแต่เรียนมัธยมปลายกระทั่งเรียนจบปริญญาตรี ให้ความเห็นว่าความรับผิดชอบในการชำระหนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะด้วย กยศ. เป็นกองทุนหมุนเวียน การชำระหนี้จึงหมายถึงโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กอีกจำนวนมาก


"ถ้าเป็นเด็กที่บ้านมีปัญหาเรื่องเงิน เงินนี้มันช่วยชีวิตเราจริงๆ นะ เราได้เรียนเพราะเงินก้อนนี้จริงๆ ต้องมีความรับผิดชอบ เหมือนว่าเขาทำให้เราจบได้ ยังไงเราก็จะชำระเงินก้อนนี้ให้เสร็จ หนูเคยเจอข่าวว่า กยศ. จะลดจำนวนเด็กที่ได้รับทุน หนูกับเพื่อนที่กู้ด้วยกันรู้สึกเสียใจมาก ว่าถ้ามันมีเด็กแบบเราแล้วมันจะได้เรียนได้อย่างไร ถ้าหนูมีเงิน 3 แสน และมีเงินเก็บด้วย หนูจะจ่ายให้หมดเลย เมื่อรู้จากอาจารย์ว่าจำนวนเด็กที่ไม่จ่ายในแต่ละปีมีมากเท่าใด"


แม้ตัววิภาดาเองไม่เบี้ยวหนี้ แต่เธอก็ยังมีความเห็นว่าระบบการติดตามหนี้ควรมีการปรับปรุง

“ระบบการติดตามหนี้มันอาจจะต้องมีการปรับปรุง แค่จดหมายเตือนไปที่บ้านอาจไม่พอ เพราะเราย้ายออกมาจากบ้านนั้นแล้ว ถ้ามีข้อความแจ้งเตือนทางโทรศัพท์ก็จะทำให้ง่ายขึ้น”

ในส่วนแนวทางการแก้ปัญหา นายเกียรติอนันต์ ให้ความเห็นว่า กระบวนการพิจารณาเด็กที่เหมาะสมจะได้รับทุนควรเข้มข้นกว่านี้ รวมถึงเงินที่กู้มาต้องเพียงพอ เพราะหากไม่พอ ครอบครัวอาจต้องสร้างหนี้บางส่วนเพิ่มเพื่อให้บุตรหลานจบการศึกษา นอกจากนี้รัฐอาจต้องพิจารณาระบบการชำระหนี้ใหม่ เช่นในต่างประเทศที่มีการหักชำระหนี้อัตโนมัติด้วยระบบผูกหนี้เข้ากับการเสียภาษีประกันสังคม

"อาจจะมีคนบอกว่า คนก็ไม่เข้าประกันสังคมสิ จะได้ไม่ต้องจ่ายหนี้ กยศ. แต่ผมคิดว่าสุดท้ายคนที่อยู่ในระบบเขาไม่หนีหรอก เพราะมันคือประวัติของเขา ถ้าเด็กออกมาแล้วรายได้ดี คุณภาพชีวิตดี เศรษฐกิจไปข้างหน้าได้"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :