นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กยศ.ได้ร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรม จัดสัมมนาและให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางเลือกให้แก่บุคลากรทางการศึกษา โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานศาลยุติธรรม ที่เห็นความสำคัญของการดำเนินงานกองทุน ในส่วนของการติดตามหนี้ พร้อมกับให้การส่วนช่วยเหลือในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สำหรับกลุ่มผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ และเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดีมาโดยตลอด
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน กองทุนมีผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้ จำนวนกว่า 3.6 ล้านราย โดยมีผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้และศาลมีคำพิพากษาแล้ว 1.2 ล้านราย
โดยผู้กู้ยืมที่ผิดนัดและไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาและเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีแล้ว มีจำนวนประมาณ 2 แสนราย ส่วนผู้กู้ยืมที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีมีประมาณ 1 ล้านราย ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาพิพากษาคดีปกติของศาล
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วนั้น กำหนดให้องค์กรนายจ้างมีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากรของพนักงาน/ลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้กู้ยืมเงินกองทุน ตามอำนาจที่กองทุนแจ้ง เนื่องจากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือนค่าจ้างฯ นำส่งกรมสรรพากร พร้อมกับการนำส่งภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย เพื่อชำระหนี้คืนกองทุน โดยคาดว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามหนี้ของกองทุน ลดปัญหาหนี้ค้างชำระ และลดจำนวนคดีที่เข้าสู่ศาล
อย่างไรก็ตาม ผู้กู้ยืมเงินที่ศาลพิพากษาแล้ว ขอให้ไปชำระหนี้หรือขอเจรจาไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดีได้ เพื่อป้องกันการถูกยึดทรัพย์บังคับคดี โดยผู้กู้ยืมสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองทุน กยศ. โทร 0 2016 4888 หรือสำนักงานบังคับคดีในแต่ละจังหวัด
"ขอฝากถึงผู้กู้ยืมทุกคน ว่าเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเปรียบเสมือนการให้ทุนแก่เยาวชน เพื่อไปสร้างอนาคตของตนเองและสร้างทุนมนุษย์ให้กับตัวผู้กู้ยืมเอง เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ก็ขอให้ชำระตามกำหนดเวลา เพื่อส่งมอบโอกาสคืนทุนการศึกษาให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป" นายชัยณรงค์ กล่าว
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :