เจสัน บาร์นส์ ชาวอเมริกันที่เติบโตในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ใฝ่ฝันจะเป็นนักดนตรีตั้งแต่เด็ก แต่เขาประสบอุบัติเหตุไฟดูดขณะทำงานพิเศษเมื่อปี 2555 โดยกระแสไฟกว่า 22,000 โวลต์ทำให้แขนของเขาเสียหายร้ายแรงจนแพทย์ต้องตัดทิ้งตั้งแต่ข้อศอกลงไป ขณะที่ครอบครัวคิดว่าเขาคงล้มเลิกความตั้งใจจะเป็นนักดนตรีไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม บาร์นส์ยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นมือกลองอาชีพ เขาจึงฝึกฝนทักษะการตีกลองด้วยการใช้เทปกาวยึดไม้กลองกับข้อแขน จนกระทั่งเขาได้รับคัดเลือกให้เข้าไปเรียนที่สถาบันดนตรีแอตแลนตาได้สำเร็จในปี 2556 และเข้าร่วมในโครงการพัฒนาแขนเทียมของวิทยาลัยการออกแบบแห่งจอร์เจียเทค ซึ่งประดิษฐ์แขนเทียมที่เชื่อมต่อกับไม้ตีกลองให้กับเขาเมื่อปี 2557 และกลไกมอเตอร์ของแขนเทียมช่วยให้เขาตีกลองได้ง่ายขึ้น
ในปีที่ผ่านมา บาร์นส์ได้เข้าร่วมทดสอบแขนเทียมที่ทำงานด้วยเทคโนโลยีอัลตราซาวด์ ซึ่งเป็นผลงานใหม่ของคณะวิจัยและออกแบบของจอร์เจียเทค ทำให้บาร์นส์ได้รับประสบการณ์ทางดนตรีเพิ่มขึ้น โดยแขนเทียมดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจจากแขนกลของ 'ลุค สกายวอล์กเกอร์' ตัวละครสำคัญจากภาพยนตร์แนวไซ-ไฟที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่าง 'สตาร์วอร์ส'
กิล ไวน์เบิร์ก นักวิจัยของวิทยาลัยการออกแบบแห่งจอร์เจียเทค ระบุว่า แขนเทียมดังกล่าวทำงานด้วยเทคโนโลยีอัลตราซาวด์ซึ่งตรวจจับความเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณข้อแขน จากนั้นระบบอัลกอริทึมของแขนเทียมจะสั่งการให้นิ้วเทียมขยับทีละนิ้ว รวมถึงคำนวณแรงกดของนิ้วต่างๆ ให้ด้วย ต่างจากแขนเทียมโดยทั่วไปที่มีรูปแบบการเคลื่อนไหวนิ้วมือค่อนข้างจำกัด และไม่สามารถทำงานที่ละเอียดอ่อนได้
คุณสมบัติที่ละเอียดขึ้นของแขนเทียมเทคโนโลยีอัลตราซาวด์ช่วยให้บาร์นส์รื้อฟื้นทักษะในการเล่นเปียโนได้อีกครั้ง เพราะเขาสามารถใช้นิ้วเทียมกดคีย์ต่างๆ ด้วยน้ำหนักที่เหมาะสม ท้ังยังเปลี่ยนนิ้วที่ใช้กดคีย์ได้อย่างรวดเร็วกว่าแขนเทียมแบบเดิม เพราะไม่ต้องกดปุ่มเปลี่ยนฟังก์ชันใดๆ
บาร์นส์คาดหวังว่าเขาจะฝึกฝนใช้แขนเทียมใหม่ให้คล่องขึ้น เพื่อพัฒนาฝีมือเล่นเปียโนให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต