ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรสิทธิมนุษยชนประณามศาลอียิปต์ที่ตัดสินลงโทษประหารชีวิตผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในกรุงไคโรเมื่อปี 2556 โดยส่วนใหญ่เป็นแกนนำกลุ่มสนับสนุนอดีต ปธน.ที่มาจากการเลือกตั้ง

ศาลอาญาสูงสุดของอียิปต์พิพากษาลงโทษประหารชีวิตผู้มีส่วนร่วมในการปักหลักชุมนุมต่อต้านรัฐประหารที่จัตุรัสราบาในกรุงไคโรของอียิปต์เมื่อปี 2556 รวมทั้งหมด 75 ราย เมื่อวานนี้ (28 ก.ค.) จากข้อหาก่อความไม่สงบ ทำลายทรัพย์สินรัฐบาล ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ผู้ต้องหาส่วนใหญ่เป็นแกนนำของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ที่เคยสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ผู้นำอียิปต์เมื่อปี 2555 ซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นคนแรกในรอบกว่า 30 ปี ก่อนที่เขาจะถูกยึดอำนาจไปเมื่อเดือน ก.ค. 2556

ขั้นตอนต่อไปหลังจากที่ศาลอาญามีคำตัดสินลงโทษประหารชีวิต จะเป็นการส่งเรื่องต่อไปยังแกรนด์มุฟตี ผู้นำสูงสุดของศาสนาอิสลามในอียิปต์ เพื่อขอคำวินิจฉัยเพิ่มเติม ซึ่งแม้จะไม่มีผลผูกมัดทางกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่แล้วศาลจะปฏิบัติตามความเห็นของแกรนด์มุฟตีเสมอ และสื่อหลายสำนักประเมินว่าแกรนด์มุฟตีจะไม่คัดค้านโทษประหารในครั้งนี้

องค์กรสิทธิฯ ประณามอียิปต์ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ

ฮิวแมนไรท์วอทช์ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนฝั่งตะวันตกทั้ง 2 แห่ง ออกแถลงการณ์คัดค้านกระบวนการยุติธรรมของอียิปต์ที่นำตัวผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารและแกนนำการประท้วงรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจเข้าสู่การพิจารณาทางกฎหมาย 

ทั้งสององค์กรให้เหตุผลว่าผู้ชุมนุมมีสิทธิแสดงความคิดเห็นทางการเมือง รวมถึงมีสิทธิต่อต้านการใช้กำลังอาวุธเข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน พร้อมระบุด้วยว่า การชุมนุมในระยะแรกเมื่อปี 2556 ดำเนินไปอย่างสงบ แต่รัฐบาลทหารกลับสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 800 ราย รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ 43 ราย ซึ่งเป็นสาเหตุให้รัฐบาลกวาดล้างจับกุมผู้ต่อต้านเกือบพันคน และมีการพิจารณาคดีผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลไปแล้วมากกว่า 700 ราย

ด้านนายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี อดีตประธานาธิบดีอียิปต์ ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตตั้งแต่ปี 2558 แต่ยังถูกควบคุมตัวในเรือนจำเพื่อรอการพิจารณาคดีอื่นๆ ที่เขาถูกกล่าวหาเพิ่มเติม ได้แก่ ใช้อำนาจในทางมิชอบ, ดูหมิ่นศาล และร่วมมือกับกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งหมายถึงกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ที่ภายหลังจากรัฐประหาร มีบางส่วนแยกตัวออกไปจับอาวุธโจมตีรัฐบาลอียิปต์และก่อความรุนแรง ซึ่งทำให้พลเรือนได้รับผลกระทบ

AFP-ช่างภาพอียิปต์-ประท้วงรัฐประหาร-ศาลอียิปต์

เสรีภาพสื่อถูกคุกคาม-ช่างภาพข่าวติดร่างแห

นอกจากนี้ ยังมีรายง��นด้วยว่านายมาห์มูด อับเดล ชะกูร์ อาบูซิเอ็ด ช่างภาพข่าวรางวัลเสรีภาพสื่อของยูเนสโก ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม 'ชะว์กอน' เป็นหนึ่งในผู้ต้องหา 713 คนที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีในฐานะผู้มีส่วนร่วมในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารเมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีตำรวจเสียชีวิต

ชะว์กอนถูกนำตัวเข้ารับฟังการพิจารณาคดีเมื่อวานนี้ในห้องติดกระจกกันกระสุน และเขาได้ทำท่าถ่ายภาพโดยปราศจากกล้อง ทำให้ภาพของเขาในฐานะ 'สื่อ' ที่ถูกจำกัดเสรีภาพ ถูกนำไปเผยแพร่ต่อในสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก

สื่อต่างประเทศรายงานว่า ก่อนปี 2554 อียิปต์ถูกปกครองโดยฮอสนี มูบารัก ผู้นำเผด็จการ เป็นเวลานานกว่า 30 ปี จนกระทั่งเกิดกระแส 'อาหรับสปริงส์' ซึ่งประชาชนในกลุ่มประเทศอาหรับรวมตัวกันขับไล่ผู้นำเผด็จการ ทำให้มูบารักพ้นจากตำแหน่ง และพรรคเอฟเจพีซึ่งเป็นปีกการเมืองของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งจนจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดยมีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี เป็นประธานาธิบดีพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกในรอบ 3 ทศวรรษของอียิปต์

รัฐบาลของ ปธน.มอร์ซี ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกลุ่มชาวมุสลิมที่เคร่งศาสนา ทำให้เกิดความขัดแย้งกับพรรคการเมืองอื่นๆ และกลุ่มนายทหารระดับสูงของกองทัพ และหลังจากมีการชุมนุมประท้วงหลายครั้งในปี 2556 พลเอกอับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซิซี ก็นำกลุ่มทหารก่อรัฐประหารในเดือน ก.ค. 2556 

สมาชิกกลุ่มภราดรภาพมุสลิม รวมถึงผู้สนับสนุนอดีต ปธน.มอร์ซี ที่ไม่พอใจการรัฐประหารได้จัดชุมนุมประท้วงหลายครั้ง จนนำไปสู่การปะทะกับกลุ่มเจ้าหน้าที่และเกิดเหตุจลาจลใหญ่ ซึ่งรัฐบาลทหารตัดสินใจใช้กำลังสลายการชุมนุม พร้อมประกาศว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมเป็นกลุ่มก่อการร้าย 

AFP-อียิปต์-ผู้นำอียิปต์-โมฮัมเหม็ด ฟัตตาห์ เอล-ซิซี-ไคโร

นานาชาติประณามการเลือกตั้งในบรรยากาศปิด-แต่สหรัฐฯ สวนกระแส

พลเอกอับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซิซี ลาออกจากการเป็นทหารเพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีอียิปต์เมื่อปี 2557 แต่รัฐบาลของเขายังคงติดตามจับกุมและคุมขังผู้เห็นต่างจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเดือน มี.ค.2561 รัฐบาลอิยิปต์จัดการเลือกตั้งทั่วประเทศ โดยที่นาย เอล-ซิซี ได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย ด้วยคะแนนร้อยละ 97 ของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม องค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งและองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวม 14 แห่ง ออกแถลงการณ์ประณามว่าการเลือกตั้งในอียิปต์ไม่เป็นอิสระและไม่มีความเป็นธรรม เพราะเป็นการเลือกตั้งในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยการปิดกั้นและคุกคามกลุ่มต่อต้านรัฐบาล มีผู้ถูกจับกุมและคุมขังพร้อมบทลงโทษที่รุนแรง รวมถึงมีคำสั่งปิดกั้นสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ สถานีโทรทัศน์ และสื่อสังคมออนไลน์

ล่าสุด องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ ยังได้ออกแถลงการณ์คัดค้านรัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งตัดสินใจรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ทางทหารกับอียิปต์ที่เคยถูกลดระดับลงไปในสมัยของดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งต้องการกดดันรัฐบาลทหารของอียิปต์

โดยทรัมป์ได้ลงนามอนุมัติการสนับสนุนงบประมาณด้านการทหาร 195 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6,435 ล้านบาทแก่รัฐบาลอียิปต์เมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการต่อต้านก่อการร้ายในตะวันออกกลาง

ที่มา: Al-Jazeera/ The Guardian/ Human Rights Watch/ Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: