ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผย 8 เดือนแรกของปี 2561 การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของไทย มีมูลค่า 922,312 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% พร้อมคาดอีคอมเมิร์ซ ดันการค้าชายแดน เพิ่มเป็น 2 เท่าภายในปี 2566

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยข้อมูลการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของไทย 8 เดือนแรกของปี 2561 มีมูลค่า 922,312 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการส่งออก 525,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% และการนำเข้า 397,258 เพิ่มขึ้น 15.6%

ทั้งนี้ มาเลเซียยังคงมีสัดส่วนในการค้าชายแดนมากสุด แต่มีอัตราการเติบโตเพียง 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากราคายางพาราที่ลดลง ในขณะที่การค้าผ่านแดนไปจีนตอนใต้มีอัตราการเติบโตสูงสุดถึง 24.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดการณ์ว่าทั้งปี 2561 มูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนในรูปของเงินบาทจะขยายตัวราว 7.5% จากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มจะยังอยู่ในระดับสูง และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงจากปีก่อน  

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจะเติบโตเพิ่มขึ้นที่ประมาณ 11.5% ต่อปีโดยเฉลี่ยในอีก 5 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมที่ 6.4% ต่อปีระหว่างปี 2553-2560 โดยมูลค่าการค้าชายแดนในปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 2560 โดยมองว่า การค้าโลกที่มีแนวโน้มจะชะลอตัวลงจากข้อพิพาททางการค้าคงช่วยเร่งให้ภูมิภาคอาเซียน รวมถึงจีน พยายามเพิ่มการค้าระหว่างกันภายในภูมิภาคมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีสัดส่วนการค้าภายในกลุ่มลดลง ในขณะที่สัดส่วนการค้ากับประเทศนอกกลุ่ม โดยเฉพาะกับจีนกลับสูงขึ้น 

จากความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและอาเซียน อาจกล่าวได้ว่า จีนได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอนุภูมิภาคและเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการค้าภายในภูมิภาค ทั้งนี้ การค้าภายในภูมิภาคยังคงมีศักยภาพในการเติบโตอยู่ โดยการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานภายในภูมิภาค ซึ่งจะเกิดจากการเชื่อมโยงทางบกเป็นหลัก จะช่วยผลักดันการค้าภายในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การค้าผ่านชายแดนให้เติบโตยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การขยายตัวของอีคอมเมิร์ซ และการลดมาตรการกีดกันทางการค้า รวมถึงข้อจำกัดทางพิธีการศุลกากรนั้น จะช่วยกระตุ้นการค้าผ่านชายแดนภายในภูมิภาคอีกทางหนึ่งด้วย 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน อีคอมเมิร์ซมีการขยายตัวอย่างมากและมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคตข้างหน้า ซึ่งจะช่วยผลักดันการค้าผ่านชายแดนให้ขยายตัวมากขึ้น โดยจากการวิจัยของ Google และ Temasek คาดการณ์ว่าตลาด อีคอมเมิร์ซในอาเซียนจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมถึง 30% ต่อปี และจะมีมูลค่าราว 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2567

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านดิจิทัลค่อนข้างสูง โดยประชากรมีการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือสูงสุดในภูมิภาค และจากการสำรวจของธนาคารโลก ประชากรไทยมีการใช้จ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) ค่อนข้างสูง ดังนั้น ไทยถือว่ามีศักยภาพทางโครงสร้างมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค 

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าจากจีนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่ม CLMV ซึ่งจะช่วยผลักดันการค้าชายแดนในภูมิภาคให้ยิ่งสูงขึ้น อีกทั้ง อีคอมเมิร์ซระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นในอนาคต