ไม่พบผลการค้นหา
แผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงใหม่สหรัฐฯ เผยวิธีคิดอเมริกัน มองการเมืองโลกกลับสู่ยุคสงครามเย็น มีอภิมหาอำนาจสามเส้า 'สหรัฐฯ จีน และรัสเซีย' แข่งขันกัน พร้อมทั้งเน้นการที่สหรัฐฯ ต้องเสริมศักยภาพด้านการทหารเพื่อความเป็นหนึ่ง แผนใหม่กำหนดแนวทางออกห่างจากรัฐบาลก่อนหน้าในเรื่องการหนุนประชาธิปไตยในต่างแดน ไม่เห็นปัญหาโลกร้อนเป็นภัยมั่นคง ในขณะที่เป็นห่วงอิทธิพลจีนยิ่งเสียกว่าของรัสเซีย

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ธันวาคม 2560) นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศแผนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของชาติฉบับใหม่ ซึ่งจะกลายเป็นแนวทางให้รัฐบาลชุดนี้ใช้ในการดำเนินงานด้านต่างประเทศและความมั่นคงต่อไป สื่อต่างๆ รายงานเชิงวิเคราะห์แผนใหม่นี้ โดยส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า สหรัฐฯ เปลี่ยนความคิดเดิมในเรื่องบทบาทของตัวเองในต่างประเทศและแนวทางด้านความมั่นคงไปมาก แต่ข้อดีคือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่ได้หวือหวามากเหมือนที่นายทรัมป์เคยหาเสียงไว้

นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า แผนยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐฯ นั้น มองจีน รัสเซีย เป็นภัยสำคัญ รวมไปถึงประเทศเล็กๆ บางประเทศอย่างเกาหลีเหนือ อิหร่าน ถึงที่สุดแล้วแผนนี้มาจากความคิดเบื้องหลังที่ว่า โลกกำลังกลับไปสู่สภาพการแข่งขันของอภิมหาอำนาจ และแนวทางของนายทรัมป์บ่งบอกถึงการที่จะกลับสู่ยุคสงครามเย็น รายงานเปรียบเทียบว่า สมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาเคยผลักดันให้การลดอาวุธนิวเคลียร์เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สร้างความมั่นคงของชาติ แต่ประธานาธิบดีทรัมป์มองว่าจะต้องใช้อาวุธเหล่านั้นในแผนสร้างสันติภาพและเสถียรภาพของประเทศ 

ในสมัยของนายโอบามา เห็นจีนเป็นพันธมิตรในการต่อสู้่กับภัยจากอิหร่านและเกาหลีเหนือ รวมทั้งเพื่อรับมือปัญหาโลกร้อน แต่นายโอบามายังคงวิจารณ์จีนในเรื่องสิทธิมนุษยชน ส่วนนายทรัมป์มองว่าจีนกำลังพยายามเปลี่ยนกฎเกณฑ์ของโลกเสียใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของตนเอง ท่าทีนี้อาจบอกเป็นนัยว่าสหรัฐฯ จะพยายามกดดันจีนในเรื่องทะเลจีนใต้ต่อไป แต่จะไม่ท้าทายจีนในเรื่องสิทธิมนุษยชน อีกด้านที่แตกต่างจากรัฐบาลชุดเก่าคือนายทรัมป์ไม่พูดถึงปัญหาโลกร้อนว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงอีกต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ดูจะขัดแย้งกับแนวทางของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

ขาขึ้นจีน ขาลงอเมริกัน

สื่อรายงานว่า ถ้อยแถลงของนายทรัมป์ดูจะต่างจากเนื้อหาในเอกสาร เช่น ในเอกสารพูดถึงภัยจากรัสเซีย และการที่รัสเซียพยายามจะแทรกแซงเพื่อบ่อนเซาะประชาธิปไตยในสหรัฐฯ แต่เวลาแถลง นายทรัมป์กลับไม่พูดถึงการที่รัสเซียแทรกแซงในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง กลับไปพูดถึงการที่นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย โทรศัพท์ไปขอบคุณที่สหรัฐฯ ช่วยส่งข้อมูลลับให้ ทำให้รับมือกับการวางแผนก่อการร้ายในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กได้ก่อนจะสายไป สื่อหลายรายตั้งข้อสังเกตคล้ายกันเรื่องที่แผนนี้มองระดับการเป็นภัยของจีนว่าเหนือกว่ารัสเซีย

ด้านเว็บไซต์ข่าว เดอะฮิลล์ ระบุว่า แผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลนายทรัมป์เน้นเรื่องอเมริกามาก่อน (America first) ตามที่เคยหาเสียงเอาไว้ แต่การที่ถ้อยแถลงของทรัมป์ในหลายเรื่องดูอ่อนกว่าท่วงทำนองของเอกสาร ทำให้ไม่แน่ใจว่าอันไหนกันแน่ที่จะมีผลปรับโฉมนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ แผนเน้นสองเรื่องคือเรื่องความปลอดภัยของประเทศกับเรื่องเศรษฐกิจ กำหนดให้รัฐบาลจะต้องสร้างแนวเขตแดนที่ชัดเจน สิ่งที่แตกต่างไปจากรัฐบาลชุดก่อนคือแผนของรัฐบาลนายทรัมป์ไม่รวมไปถึงการพยายามที่จะสนับสนุนระบบประชาธิปไตยในต่างแดน

จอช โรกิน เขียนลงในวอชิงตันโพสต์ว่า แผนนี้มีวิธีคิดเบื้องหลังแบบ 'เหยี่ยว' และเห็นด้วยว่าแผนให้ความสำคัญกับการแข่งขันกับจีนสูงมาก โดยระบุว่าจีนขยายอิทธิพลเร็ว และสหรัฐฯ จะตามติดแข่งขันกับจีนในทุกด้านก็ว่าได้ แม้ว่าจะพยายามร่วมมือกับจีนในบางเรื่อง เช่น เรื่องเกาหลีเหนือ แผนยุทธศาสตร์ระบุเป็นหน้าที่ของสหรัฐฯ ที่จะตามไปถ่วงดุลอิทธิพลจีนและกันไม่ให้จีนเข้าไปแทรกแซงในกิจการภายในประเทศที่เล็กกว่า เอกสารอ้างด้วยว่าจีนโขมยทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ไปมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ และเตือนว่าในอนาคตอาจเกิดสงครามเศรษฐกิจที่มาจากไซเบอร์ วอชิงตันโพสต์รายงานด้วยว่า ขณะนี้กลุ่มคนที่มีความคิดแบบสาย 'เหยี่ยว' ต่างเข้ารับหน้าที่ต่างๆ ในคณะรัฐบาลมากขึ้น ท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนกลายเป็นจุดสร้างเอกภาพระหว่างกลุ่มเจ้าหน้าที่แนวเศรษฐกิจชาตินิยม เจ้าหน้าที่ความมั่นคงสายเหยี่ยว และกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่

เจมส์ สตราฟริดิส เขียนไว้ในเว็บไซต์ของบลูมเบิร์กว่า บรรดาความคิดพิสดารพันลึกที่เคยได้ยินกันส่วนใหญ่จากผู้นำสหรัฐฯ ไม่รวมอยู่ในแผน ยกเว้นเรื่องการสร้างกำแพง แผนยุทธศาสตร์ระบุเรื่องภัยจากการเอาเปรียบทางการค้าที่มีมายาวนาน กำหนดว่าอเมริกาจะต้องเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี การวิจัย ฯลฯ ยังมีที่แปลกคือต้องการมีอิทธิพลครอบงำด้านพลังงาน ซึ่งจุดนี้คงจะทำให้ประเทศต่างๆ ไม่พอใจ บางเรื่องในเอกสารนี้ทำให้รัฐบาลทำงานดูขัดกันเองในระดับหลักการ เช่น การกำหนดจะใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกรวมทั้งสร้างความมั่นคง แต่ในทางปฏิบัติสหรัฐฯ กลับถอนตัวออกจากข้อตกลงการค้าใหญ่ๆ 

บทความในบลูมเบิร์กชี้ด้วยว่า แผนใหม่กำหนดจะลงทุนในด้านการทหารเพื่อให้สหรัฐฯ มีศักยภาพมากที่สุดในโลก ในความเป็นจริงนั้น สหรัฐฯ ก็ลงทุนด้านการทหารมากกว่าจีนกว่าสามเท่าตัวอยู่แล้ว เรื่องนี้จึงไม่เป็นประเด็น สิ่งที่ควรจะกำหนดคือเรื่องว่าจะใช้กำลังทหารของตัวเองไปทำอะไร รวมทั้งแผนสำหรับความมั่นคงด้านอื่น เช่น ศักยภาพด้านไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ เรื่องหลักอีกเรื่องที่แผนใหม่กำหนดไว้คือเรื่องของการรักษาดุลในแง่อิทธิพลทางการทหารกับการใช้การทูตและการพัฒนา แผนพูดถึงคุณค่าในเรื่องของสิทธิ นิติรัฐ แต่จุดนี้ขัดกับสิ่งที่ทำไปหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องการถอนตัวออกจากการขับเคลื่อนเพื่อรับมือปัญหาโลกร้อนซึ่ง ก็คงจะทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป