"มันวน เรือนเก่ามา ไม่เป็นไรให้ทาง ป.ป.ช.เขาสอบ คือถ้าสอบชี้ว่าผมผิด ผมก็ออก"
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตอบคำถามสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2561 หลังเผชิญคำถามของสื่อมวลชนเกือบแทบรายวันที่รุมกดดันเข้าใส่อย่างหนักหน่วง
กับปมร้อนนาฬิกาหรูที่เพจเฟซบุ๊กแห่งหนึ่ง ได้ดำเนินการตรวจสอบจนปรากฎเป็นข่าวว่า พล.อ.ประวิตร สวมใส่นาฬิกาหรูโดยปรากฎอยู่ในรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี
25 เรือน คือ ตัวเลข นาฬิกาหรู มูลค่ารวมกว่า 39 ล้านบาท ที่ พล.อ.ประวิตร ต้องเผชิญมรสุมทางการเมืองกดดันแทบรายวัน
นับตั้งแต่สื่อมวลชนพากันนำเสนอข่าวและเล่นภาพข่าวนาฬิกาและแหวนเพชร ที่ พล.อ.ประวิตรได้สวมใส่เมื่อครั้งร่วมถ่ายหมู่ ครม.ประยุทธ์ 5 เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2560
จนกลายเป็น 'ข่าวดัง'ข้ามปีจากท้ายปี 2560 สู่ ต้นศักราช 2561
เกิดเป็นปฐมบท นาฬิกา 2 โหล พ่นพิษใส่ พี่ใหญ่อย่าง 'บิ๊กป้อม'
เรื่องร้อนดังกล่าว ทำให้ 'ศรีสุวรรณ จรรยา' เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ เข้าข่ายแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่
แม้จะมีกระแสเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งพักงาน พล.อ.ประวิตร
แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่สามารถทำตามกระแสเรียกร้องดังกล่าวได้
"ใช้มาตรา 44 ไม่ใช่อยู่ดีๆใช้กับใครก็ได้ ผมก็ต้องระวังตัวเองเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในกรณีนี้ก็เช่นกัน ต้องฟัง ป.ป.ช. เสนอขึ้นมา" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
ในขณะที่ 'วรวิทย์ สุขบุญ' เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. การันตีว่า "ถ้าเกิดเป็นของท่าน (พล.อ.ประวิตร) ต้องถามว่าท่านได้มาเมื่อไหร่ แต่ถ้าเป็นของบุคคลอื่น พล.อ.ประวิตร ก็ไม่ต้องแสดง ถูกไหมครับ เพราะเป็นของบุคคลอื่นไม่ต้องแสดง"
เมื่อจับประโยคการตีความของ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว ถือเป็นเครื่องยืนยันในทางหนึ่ง
หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบในท้ายที่สุดและมีมติออกมาว่า นาฬิกาหรูจำนวนทั้งหมดของ 'พล.อ.ประวิตร' เป็นของเพื่อนจริงตามที่ระบุไว้ ก็อาจทำให้ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง รอดพ้นข้อกล่าวหาได้
หากพลิกไปดู พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปราบปรามการทุจริต มาตรา 41 กำหนดไว้ว่า กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยต่อไป และให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัยว่ามีการกระทำดังกล่าว
ดังนั้น ถ้าตรวจสอบแล้วปรากฎว่า นาฬิกาเรือนหรู ได้มาก่อนดำรงตำแหน่ง แต่ 'พล.อ.ประวิตร' ไม่แสดงไว้ในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็อาจเข้าข่ายตามมาตรานี้
ซึ่งจะมีโทษทางอาญาด้วย นั่นคือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมทั้งห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งหมายถึงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงรัฐมนตรีเป็นเวลา 5 ปี
ไม่เพียงจะถูกตรวจสอบตามข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว
'พล.อ.ประวิตร' ยังต้องเผชิญบททดสอบความบริสุทธิ์ ตามมาตรา 103 ของ พ.ร.บ.ฉบับเดียวกันด้วย
เพราะมาตรา 103 กำหนดห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด จากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา ตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
ถ้าไม่สามารถแก้ข้อกล่าวหาตรงนี้ได้ อาจถูกจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้วยบทบัญญัติทางกฎหมายที่ว่า ทำให้ 'พล.อ.ประวิตร' ต้องตกที่นั่งลำบาก เรียกได้ว่าเป็น 'มรสุม' ครั้งสำคัญที่สุดนับแต่เข้ามาร่วมรัฐนาวา พล.อ.ประยุทธ์
เมื่อย้อนไปดูคำยืนยันของ 'พล.อ.ประวิตร' เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2561
"ไม่มี ไม่มี ผมไม่มีหรอก ผมมีเพื่อน ผมมีเพื่อน เพื่อนก็เอามาให้ ไม่ได้ซื้อมาฝาก เอามาให้ผมใส่"
และย้อนดูคำชี้แจงของ 'เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.'
"ท่าน (พล.อ.ประวิตร) บอกว่าท่านยืมมาใช่ไหมครับ ที่ปรากฎตามสื่อ รอ รอ รอ รอ รอผลล่ะกัน"
คำชี้แจง 'พล.อ.ประวิตร' จึงไม่อาจทำให้ 'สังคม' คลายความสงสัย
ขณะที่คำตอบของ 'เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.' ก็ยังต้องรอเครื่องพิสูจน์ด้วยเช่นกัน ว่ามาตรฐานการตรวจสอบขององค์กรอิสระที่ขึ้นชื่อว่า ปราบปรามการทุจริต ที่เคยฟัน อดีตนายกรัฐมนตรี มาแล้ว
จะมีผลสรุปของผลการตรวจสอบออกมาเป็นที่พอใจต่อสังคมหรือไม่
แม้องค์คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเหลือเพียง 8 คน
เพราะ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ได้แถลงขอถอนตัวออกจากองค์คณะ เพื่อไม่ให้ถูกตั้งแง่ว่าจะมีส่วนช่วยเหลือ 'พล.อ.ประวิตร' ในฐานะที่เคยทำงานใกล้ชิดกันมาก่อน
แต่กระแสกดดันทางการเมืองที่พุ่งตรงเข้าใส่ 'พล.อ.ประวิตร' หาได้ลดน้อยลงไม่
นั่นจึงเป็นที่มาของ คำประกาศล่าสุดของ พล.อ.ประวิตร เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2561 ที่ว่า
"ถ้าประชาชนไม่ต้องการ ผมก็พร้อมที่จะไปจากตำแหน่งนี้"
คล้อยหลังคำประกาศดังกล่าว 1 วัน ประชาชนจากจังหวัดสระแก้ว สมุทรปราการ ปราจีนบุรี และคลองลาดพร้าว กว่า 30 คนก็บุกรวมตัวให้กำลังใจ พล.อ.ประวิตร ถึงกระทรวงกลาโหม
ขณะเดียวกันยัง กลายเป็นชนวนนำไปสู่การจุดกระแสระดมผ่านเว็บไซต์ change.org ในหัวข้อ "อยากให้รองนายกประวิตรฯ ลาออกตามที่ท่านได้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 61 ที่กระทรวงกลาโหม"
ซึ่งยอดล่าสุด ณ วันที่ 3 ก.พ. 2561 มีผู้เข้ามาสนับสนุนลงชื่อให้ พล.อ.ประวิตร ลาออกจากตำแหน่ง จำนวนกว่า 5.5 หมื่นคน
ขณะที่ เพจ Drama-addict ที่มีเฟนเพจ 1,866,984 คน และคนกดติดตาม 1,873,563 คน ได้สำรวจความคิดเห็น พบว่า มีผู้สนับสนุนให้ พล.อ.ประวิตร ออกจากตำแหน่ง 95 % และอีก 5 % ลงชื่อสนับสนุนให้อยู่ต่อ
ไม่เพียงจะมีการระดมพลังกดดัน 'พล.อ.ประวิตร'ผ่านสื่อโซเชียลเท่านั้น
ทว่าผลงานทางศิลปะ ที่สะท้อนและเสียดสีการเมืองยังปรากฎออกมาจนเป็นข่าวว่อนไปทั่วโซเชียลเช่นกัน
ผลงานกราฟฟิตี 'นาฬิกาบิ๊กป้อม' ได้ปรากฎออกมากลางสาธารณะ ผ่านสะพานลอยคนข้ามถนนย่านถนนสุขุมวิท
ทำเอาเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก Headache Stencil โพสต์ข้อความทันทีว่า "หนีออกมาตั้งแต่กลางดึกเมื่อคืน ตอนนี้ปลอดภัยแล้วนะครับ ขอบคุณทุกความเป็นห่วงและกำลังใจจากทุกท่านครับ ไว้พบกันใหม่"
ปรากฎการณ์พลานุภาพกดดันทางสังคมที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ส่งผลให้ 'บิ๊กป้อม' ต้องหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์กับสื่่อมวลชน
รัฐนาวา 'ประยุทธ์' ครั้งนี้ จึงเผชิญศึกครั้งใหญ่
ไม่ใช่ศึกที่มาจากศัตรูทางการเมืองฝ่ายตรงข้าม
แต่หากเป็นการเผชิญศึกจาก 'คนใกล้ตัว' มากกว่า 'คนนอกตัว'
ซึ่ง ณ วันนี้ ยังต้องรอลุ้นกันต่อไปว่า 'พล.อ.ประวิตร' จะชิงไขก๊อกจากเก้าอี้รัฐมนตรี ก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะชี้มูลหรือไม่
และหากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องเผชิญกระแสกดดันทุกสารทิศจาก 'คนใกล้ตัว'
ก็อาจสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ 'กองหนุน'รอบข้างที่โอบอุ้ม รัฐบาล คสช. ต้องถอยทัพออกไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง