วันที่ 25 เม.ย. ที่อาคารรัฐสภา รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมปัญหาผลกระทบจากการสู้รบในเมียนมา โดยได้เชิญกระทรวงการต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กองบัญชาการทหารสูงสุด กองบัญชาการกองทัพบก และตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าร่วม
โดย รังสิมันต์ กล่าวว่า หน่วยงานที่เชิญมาทั้งหมดเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการหามาตรการรองรับผู้หนีภัย การเตรียมรับมือกับปัญหาความขัดแย้งที่อาจลุกลามบานปลาย รวมถึงจะมีการพูดคุยถึงหนทางให้ไทยเป็นตัวกลางที่นำมาซึ่งสันติภาพเมียนมา โดยวันนี้คณะกรรมาธิการจะรับฟังอย่างรอบด้าน และให้ความเห็น ต้องยอมรับว่าปัญหาเมียนมาเป็นปัญหาของไทยด้วย ซึ่งคณะกรรมาธิการมีข้อเสนอแนะ 3 ระยะ
ระยะแรก สนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชน จำเป็นต้องเก็บข้อมูลกลุ่มบุคคล เพื่อแยกกลุ่มจีนเทาออกจากเหยื่อการสู้รบ รวมถึงการทำให้ชายแดนมั่นคงปลอดภัย ระยะที่สอง ประเทศไทยต้องพูดคุยกับทุกฝ่าย ปราบปรามสิ่งผิดกฎหมายตามแนวชายแดนอย่างเป็นรูปธรรม และระยะที่สามคือ การพูดคุยสันติภาพเมียนมา เพื่อทำให้เมียนมามีความมั่นคง ประชาธิปไตย และสันติสุข
สิ่งที่ต้องจับตามองคือ ธุรกิจที่ให้การสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา โดยเฉพาะการซื้ออาวุธเพื่อโจมตีทางอากาศ และสแกมเมอร์ที่อาจใช้ไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และน้ำมันจากไทย หากทรัพยากรไทยเข้าไปเกื้อหนุนขบวนการเหล่านี้ก็ต้องเร่งจัดการ ซึ่งต้องแก้ปัญหาร่วมกับจีน กัมพูชา และลาว เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลนำไปสู่การหาตัวการ และทำลายโครงสร้างของเครือข่ายพวกนี้
ทั้งนี้ที่กระทรวงการต่างประเทศ กำลังเดินหน้าเป็นตัวกลางในการเจรจาโดยใช้กลไก ASEAN Troika และ ASEAN Troika Plus ซึ่งคณะกรรมาธิการพร้อมสนับสนุนรัฐบาลในการใช้กลไกระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหา แต่นอกจากมองถึงกลไกระหว่างประเทศแล้ว แต่ต้องทำให้ไทยไม่มีส่วนในการฆ่าล้างเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม อำเภอแม่สอด และไทยต้องไม่สนับสนุนสิ่งผิดกฎหมายตามแนวชายแดน ทั้งยังอยากให้รัฐบาลเพิ่มบทบาทมากขึ้น สรุปแนวทางการดำเนินการเป็นระยะ เพื่อให้สังคมเห็นว่าไทยมีวิธีการคลี่คลายวิกฤต
ด้าน ฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช. รายงานสถานการณ์สู้รบเมียนมาต่อที่ประชุมว่า ยังมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกลุ่มชาติพันธ์ุที่รวมกลุ่มกัน และกองทัพเมียนมาก็มีข้อจำกัด เราประเมินว่ากองทัพเมียนมาจะมีการตอบโต้เฉพาะจุด ไม่ได้ยกระดับสู้รบระดับประเทศ โดยที่เมืองเมียวดีก็มีการพูดคุยเจรจา และขณะนี้ผู้หนีภัยการสู้รบเมียนมาที่อพยพเข้ามาที่อำเภอแม่สอด ได้เดินทางกลับโดยสมัครใจหมดแล้ว เหลือผู้หนีภัยที่อำเภออุ้มผางอีก 77 คน ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเมืองเมียวดีสงบ โดย พ.อ.หม่อง ชิ ตู่ เป็นจุดเชื่อมสำคัญในการพูดคุยกับกลุ่มขัดแย้ง
ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า เมียนมามีการสู้รบมา 3 ปีตั้งแต่ปี 2564 เรามีแนวปฏิบัติ SOP ที่ดำเนินการมาอยู่แล้วแต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไปในการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการปรับ SOP ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เน้นการดูแลทุกคนที่หนีภัยจากเมียนมาให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว โดยกำหนดให้ศูนย์สั่งการชายแดนและ กองทัพบก กระทรวงกลาโหม ประสานรับผู้หนีภัยตรวจคัดกรอง ปลดอาวุธสำหรับกลุ่มต่อต้านเพื่อเข้าสู่กระบวนการดูแลตามหลักมนุษยธรรม และมีกระทรวงสาธารณสุขดูแลเรื่องโรคติดต่อ
ฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า บริบทปัจจุบันจะแตกต่างจากอดีตที่ผู้หนีภัยไม่สามารถกลับได้ เพราะปัจจุบันพื้นที่ชายแดนอยู่ในอิทธิพลของกลุ่มต่อต้านหรือชนกลุ่มน้อย คนเมียนมาจึงสมัครใจกลับเพื่อไปดูที่อยู่อาศัยพืชสวนไร่นา ไม่มีคนตกค้างเหมือนเมื่อก่อน โดย SOP อนุมัติในหลักการแล้ว และจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหนึ่งของการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ได้มีการพูดคุย และตั้งคำถามถึงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศได้ยืนยันถึงการให้ความช่วยเหลือเไปยัง 3 หมู่บ้าน ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา รวมถึง ฉัตรชัย ในฐานะรองเลขาฯ สมช. ได้กล่าวเสริมว่า การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้นจะมีการเสนอของบกลาง ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้หวังเพียงแค่การสนับสนุนของภาคประชาสังคมเท่านั้น