ไม่พบผลการค้นหา
คลัง - ทหารไทย - ธนชาต -ไอเอ็นจี ระดมผู้บริหารตั้งโต๊ะ ชี้แจงแผนควบรวมกิจการธนาคารทหารไทย-ธนชาต ยืนยันลูกค้ายังใช้บริการตามปกติ จนกว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้น ส่วนพนักงาน เกือบ 2 หมื่นรายของสองธนาคารจะปรับส่วนหนึ่งไปทำดิจิทัล สาขารวมกันกว่า 900 แห่งต้องปรับให้รองรับลูกค้ากว่า 10 ล้านราย ทั่วประเทศมากขึ้น

นายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะตัวแทนประธานกรรมการธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า แผนการรวมกิจการของธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาตในครั้งนี้มีความลงตัวเหมาะสม เป็นการผนึกกำลังที่ชัดเจน เพื่อเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันให้ธนาคารมั่นคงมากขึ้น 

อีกทั้งตามนโยบายรัฐคือเน้นเสถียรภาพของสถาบันการเงิน และทำให้เกิดการแข่งขัน ดังนั้นการรวมกิจการครั้งนี้จึงมองว่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะดีกว่าเดิมแน่นอน และทำให้ธนาคารแข่งขันได้

โดยยืนยันว่า กระบวนการรวมกิจการครั้งนี้มีโอกาสจะสำเร็จ แม้ว่า ขณะนี้จะยังเป็นเพียงการทำบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่าง ING Groep N.V. (ING) , บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP, ธนาคารโนวา สโคเทีย หรือ BNS และธนาคารธนชาต หรือ TBANK และธนาคารทหารไทย หรือ TMB ก็ตาม 

“ปัจจัยที่คลังใช้พิจารณาถือหุ้นเพิ่มทุนในธนาคารที่จะเกิดการควบรวมนี้คือ ดูความคุ้มค่า และโอกาสการเติบโตและความแข็งแกร่งของประเทศในอนาคต และยืนยันว่าคลังมีความพร้อมในเรื่องแหล่งเงินทุนในการร่วมลงทุน ซึ่งรายละเอียดต้องพูดกันต่อไป และยืนยันว่า กระทรวงการคลังยังเป็นผู้ถือหุ้นหลักในธนาคารนี้ต่อไป” นายจุมพล กล่าว 

โดยหลังควบรวม ธนาคารธนชาตจะมีสัดส่วนถือหุ้นมากกว่า ร้อยละ 20 และ ING ร้อยละ 20 ส่วนที่เหลือคือกระทรวงการคลัง และผู้ถือหุ้นรายย่อย

ด้านนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า การรวมกิจการครั้งนี้จะทำสิ่งที่โดดเด่นอยู่แล้วของทั้งสองธนาคารเด่นมากขึ้นไปอีก ไม่ใช่เพียงการสร้างจุดแข็งใหม่ แต่คือสร้างความเข้มแข็งจากจุดแข็งเดิม 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธนาคารทหารไทยมีพนักงานทั้งสิ้น 8,000 คน มี 400 สาขา มีลูกค้าที่แอคทีฟ (บัญชีมีความเคลื่อนไหว) 3 ล้านบัญชี และในจำนวนนี้เป็นลูกค้าโมบายแบงกิ้ง 1.5 ล้านบัญชี ส่วนธนาคารธนชาต มีพนักงาน 12,000 คน มี 512 สาขา และลูกค้าโมบายแบงกิ้ง 1 ล้านบัญชี 

นายปิติ ระบุด้วยว่า ไม่ว่าปัจจุบันจะเป็นลูกค้าแบงก์ใด ก็ขอให้เป็นลูกค้าต่อไป และการดำเนินการระหว่างนี้ จะไม่มีผลกระทบต่อลูกค้า โดยคาดว่า กระบวนการทำ due diligence (ตรวจสอบสถานะของทั้ง 2 แบงก์ ) ใช้เวลา 2-3 เดือน หลังจากนั้นจะมีแผนรวมกิจการ ซึ่งระหว่างนี้ลูกค้ายังสามารถเป็นลูกค้าต่อไปได้ ไม่ต้องกังวลต่อไป จนกว่ากระบวนการจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2562 นี้

อีกทั้ง การรวมกิจการนี้ จะทำให้แบงก์ที่เกิดขึ้นมีลูกค้ารายย่อยรวมกัน 10 ล้านราย และคาดหวังว่า สินเชื่อรถยนต์ซึ่งเป็นจุดแข็งของธนชาต ยังครองอันดับ 1 ในตลาด ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัย จะขึ้นเป็นอันดับ 4 และมีผู้ใช้บริการโมบายแบงก์กิ้งรวมกันเพิ่มเป็น 2-3 ล้านราย 

นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต กล่าวว่า จากจำนวนสาขาของทั้ง 2 แห่ง หลังจากนี้ ในกรณีสาขาที่ทับซ้อนจะมีการปรับเปลี่ยน relocate เพื่อให้กระจายการบริการให้ลูกค้าทั่วประเทศ ส่วนพนักงานที่มี หากสายใดซับซ้อน จะมีการปรับทักษะ reskill และปรับไปทำดิจิทัลมากขึ้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง