ไม่พบผลการค้นหา
‘เลขา กกต.’ มองคงไม่แก้รูปแบบคัดเลือก สว. แม้ถูกทักท้วง เหตุ รธน.กำหนดไว้ ชี้ไทม์ไลน์ ไม่เหมือน ‘เลือกตั้ง สส.’ รอนับหนึ่งหลัง พ.ร.ฎ.ออก แล้วจึงเริ่มกระบวนการให้เสร็จใน 60 วัน ยันมีมาตรการป้องกัน ‘การฮั้ว’ ทุกพื้นที่

วันที่ 2 พ.ค. แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่มีการทักท้วงรูปแบบการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กกต.จะนำไปปรับปรุงหรือไม่ ว่า รูปแบบของการเลือกตั้งคงแก้ไขอะไรไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.บ.) ไม่ใช่ กกต. เป็นคนกำหนด สิ่งที่ กกต. ทำได้ คือเรื่องการแนะนำตัวระเบียบ 

สำหรับกรณีที่ประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือก หรือรูปแบบการเลือก เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ กกต. แก้อะไรไม่ได้แน่นอน

ส่วนการแนะนำตัวก็มาจากกฎหมาย เราไม่ได้ทำเกินกฎหมาย กฎหมายบอกว่า ให้แนะนำตัวกับผู้มีสิทธิ์เลือก ซึ่งคือผู้สมัครด้วยกันเอง ระเบียบก็ออกมาแบบนี้

แสวง กล่าวต่อว่า แต่เราตระหนักถึงความสำคัญของประชาชน เพราะสุดท้าย สว.ถึงจะไม่ได้เลือกโดยตรงจากประชาชน แต่ก็เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย เพราะต้องทำหน้าที่แทน 

ทั้งนี้ ประชาชนมีสิทธิ์ติดตาม ตรวจสอบ สังเกตการณ์ ตั้งแต่หลังปิดรับสมัคร เนื่องจากระหว่างการสมัคร ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ เพราะจะมีส่วนได้เสียระหว่างกลุ่มต่างๆ 

โดยเราจะนำชื่อของผู้สมัคร สว.ทุกคนลงในแอปพลิเคชั่น สมาร์ทโหวตและนำไปไว้ในเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต. ซึ่งประชาชนจะทราบทั้งรายชื่อ ประวัติส่วนตัว ประวัติการทำงาน ประสบการณ์ของผู้สมัคร สว.ทุกคน และผู้สมัคร สว.ก็จะสามารถติดต่อกันได้ในช่องทางต่างๆ ที่อยู่ในแบบ สว.3 เพื่อให้เขาได้แนะนำตัวเองไม่ว่าจะในกลุ่มหรือข้ามกลุ่ม 

แสวง กล่าวถึงจำนวนผู้สมัคร ว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าไหร่ แต่ในชั้นระดับจังหวัดจะเหลือ 55,000 คน มีข้อมูลทุกกลุ่มสาขาอาชีพ ในระดับประเทศ ประชาชนก็สามารถติดตามได้ตลอด และในวันคัดเลือกเราจะถ่ายทอดกล้องวงจรปิดจากทุกที่ ตั้งแต่การให้ผู้สมัครเข้าไปนั่งรอลงคะแนน เพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชนได้สังเกตการณ์ภายในได้ตลอด ทั้งระดับอำเภอ ทั้ง 928 อำเภอ ชั้นระดับจังหวัด 77 จังหวัด และในระดับประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่เมืองทองธานี อีกหนึ่งแห่ง

แสวง ย้ำว่า ด้วยระบบนี้ตนคิดว่าเพียงพอที่จะทำให้ทั้งประชาชนและผู้สมัครมีข้อมูลในการพิจารณาเลือกผู้สมัครด้วยกันเองได้ 

สำหรับกรณีที่ขณะนี้มีผู้สมัครบางคนออกมาประกาศตัวลงสมัครนั้น แสวง มองว่า ไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร การเปิดตัวและการเชิญชวนสามารถทำได้ กกต.เองก็เชิญชวน เพียงแต่ขอให้เป็นคนที่มีคุณสมบัติ ไม่มีลักษณะต้องห้าม และเป็นผู้มีประสบการณ์ในกลุ่มที่จะลงสมัคร ย้ำว่า ไม่ได้มีข้อห้ามอะไรในการทำแบบนี้

ส่วนกรณีของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า แสวง กล่าวว่า ตนได้ตอบไปแล้ว ไม่ว่าใครจะเป็นคนทำ นาย ก. นาย ข. จะทำแบบนี้ ก็ทำได้

เมื่อถามถึงกรณีที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ออกมาระบุว่า ยังไม่มีความชัดเจน เรื่องวันประกาศและไทม์ไลน์นั้น แสวง ระบุว่า เรื่องเวลาของ สว. ไม่ได้เหมือนเวลาของ สส. ที่จะต้องมีการกำหนดว่า จะต้องเลือกตั้งภายในกี่วัน แต่ สว. จะนับหนึ่งก็ต่อเมื่อมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ ลงมา และจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการ ว่ากระบวนการใดใช้เวลาเท่าไหร่บ้าง มันมีเวลาของมัน รวมแล้วไม่เกิน 60 วัน 

เมื่อถามว่า หากมี พ.ร.ฎ.ออกมาแล้ว ผู้สมัครสามารถเผยแพร่ประวัติ หรือข้อมูล รวมถึงการแนะนำตัว ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือโซเชียลมีเดียได้หรือไม่ แสวง กล่าวว่า ในระเบียบแนะนำตัว สามารถทำผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่แนะนำตัวได้แค่กับผู้สมัครด้วยกันเอง เพราะรัฐธรรมนูญให้ผู้สมัครเลือกกันเอง เขาก็ต้องแนะนำกันเอง 

เมื่อถามถึงข้อปฏิบัติของสื่อมวลชน ในส่วนการสัมภาษณ์ และแนะนำตัวผู้สมัครก่อนหน้านี้ จะต้องมีการลบ หรือซ่อนเนื้อหาหรือไม่ แสวง ระบุว่า ที่ผ่านมายังไม่เห็นอะไรที่ผิดกฎหมาย เราดูทั้งสื่อ ทั้งพฤติการณ์ของกลุ่มผู้ที่คิดว่าจะสมัคร จากการรวบรวมยังไม่มีอะไรที่เป็นการหมิ่นเหม่ หรือล่อแหลม ที่จะผิดกฎหมาย

แสวง กล่าวต่อว่า หากพูดถึงสื่อ ระเบียบการแนะนำตัวออกมาใช้กับผู้สมัครเท่านั้น ไม่ได้บังคับใช้กับสื่อ สื่อจึงรายงาน เสนอ วิเคราะห์ ให้ความเห็น จัดเวที หรืออะไรได้หมด แต่ให้พึงระวังในกฎหมายอื่น ที่อาจจะไปหมิ่นประมาทผู้สมัคร หากเป็นข้อเท็จจริง ก็นำเสนอได้ ไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด 

เมื่อถามว่า กกต.มีกลไกในการป้องกันการทุจริต หรือการฮั้ว ไว้อย่างไรบ้าง แสวง กล่าวว่า ด้วยตัวระบบ กฎหมายออกแบบมาเพื่อป้องกันการฮั้วอยู่แล้ว เรามีมาตรการในทุกพื้นที่