ไม่พบผลการค้นหา
เลขาฯ กกต. ซักซ้อมขอความร่วมมือทุกฝ่ายทำความเข้าใจระเบียบและวิธีการเลือก สว. ยืนยันได้ สว.ครบ 200 คน ตามโรดแมป เผย 'อนุทิน' ย้ำให้เจ้าหน้าที่วางตัวเป็นกลาง

วันที่ 16 พ.ค. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดโครงการประชุมสัมมนาเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ที่อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี เพื่ออบรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มีความเข้าใจระเบียบ และกติกาที่ตรงกัน โดยมี แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวเปิดการสัมมนา

แสวง กล่าวว่า เป้าหมายหลักของเราคือจะต้องทำหน้าที่ ให้ได้ สว. ครบ 200 คนตามกำหนดเวลา ถ้าทุกคนอยู่ตรงที่ถูกทางก็จะเรียบร้อยแต่ถ้าอยู่ผิดทิศผิดทางก็ทำงานยาก ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ในการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเป็นการใช้แบบเต็มรูปแบบในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในครั้งนี้ ซึ่งในการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยหรือ กทม. ก็ทำงานร่วมกับกกต.มาเป็นอย่างดี แล้วหวังว่าสำนักงาน กกต. จะได้รับความร่วมมือจากทั้งกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมส่งเสริมท้องถิ่น สำนักบริหารงานทะเบียน กรุงเทพมหานครและเขต ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งต่อไปจะเป็นการเลือกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งช่วงนี้บางจังหวัดทยอยลาออก ทำให้จะต้องมีการเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง และอีกครั้งคือการออกเสียงประชามติ ซึ่งมีลักษณะเดียวกับการเลือกตั้งแต่รูปแบบในการลงคะแนนเสียงแตกต่างไป ซึ่งสำนักงานกกตก็ต้องขอแรงสนับสนุนจากทั้งกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร และส่วนราชการอื่น เซ็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปรษณีย์ กระทรวงการต่างประเทศ การไฟฟ้าซึ่งสำนักงาน กกต.ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกหน่วยงานในการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นสำนักงาน กกต.จะเป็นผู้ออกรับแทนทั้งหมด

ส่วนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาครั้งนี้ ก็เป็นงานหนึ่งที่มหาดไทย และกรุงเทพฯ กฎหมายเขียนไว้ชัดเจน ในระดับอำเภอ นายอำเภอจะต้องมาเป็น ผู้อำนวยการเลือก สว.ซึ่งต้องเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้การเลือก สว.ผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ในหน่วยเลือกตั้งให้ผ่านไปได้ด้วยดีกว่าจะต้องตรวจสอบคุณสมบัติก่อนประกาศรายชื่อผู้สมัคร สว.ด้วย ซึ่งในระดับอำเภอถือเป็นชั้นแรกก่อนจะไปถึงระดับจังหวัดและประเทศ

สำหรับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ก็จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ ขณะที่นักวิชาการที่ออกมาพูด อาจทำให้ประชาชนสับสน และด้วยกระบวนการที่ออกแบบ โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ และจะต้องดำเนินการให้ได้ สว. 200 คนตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือช่วงเดือนกรกฎาคม 

ทั้งนี้จะต้องได้รับการมีส่วนร่วมจากประชาชน ถึงแม้ว่าจะทำได้แค่ติดตามเฝ้าดูการเลือก สว.ครั้งนี้

แสวง ยังกล่าวถึงระเบียบต่างๆ ที่ กกต.ออกมา เมื่อถึงหน้างานจริงๆคงไม่ได้ง่าย ฉะนั้นต้องมีมาตรการที่จะจัดการ กับกลุ่มจัดตั้งหรือกลุ่มที่ฮั้วกันมา หากเป็นคดีความศาลฎีกาจะเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งได้ยกตัวอย่างกรณี "โทรศัพท์ไปขอคะแนน" ศาลฎีกาได้ตัดสินโทษมีถึงขั้นถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้งตลอดชีวิต เพราะเป็นการฮั้วกัน

พร้อมยืนยันว่า ไม่มีเงื่อนไขใดที่จะทำให้ประวิงเวลาการประกาศรายชื่อ สว. 200 คนช้าออกไป ทั้งขั้นตอนการเลือก หากมีผู้สมัครไม่ครบทุกกลุ่มก็มีกฎหมายมาตรา 19 รองรับไว้ เรื่องคุณสมบัติ ถ้าเอกสารเท็จทั้งใบสมัครและเอกสารประกอบเป็นเท็จจะได้ใบดำ เพิกถอนการรับสมัคร หรือไม่รับสมัคร ซึ่งศาลต้องมีคำสั่งก่อนวันเลือก 1 วัน หรือหากประกาศให้เป็นผู้สมัครไปแล้ว ไปเจอตอนหลังว่าผิด ลบชื่อได้ทุกชั้นจนถึงระดับประเทศ และแม้ภายหลังศาลจะคืนสิทธิ์ ก็ไม่กระทบในสิ่งที่ทำไปแล้ว ดังนั้นเดินหน้าได้ตลอด ส่วนการพิจารณาคำร้อง ก็ไม่ได้กระทบกับกำหนดการที่วางไว้ 

และในช่วงบ่าย อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมมอบนโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุน กกต. ในการจัดการเลือก โดยเน้นย้ำในการทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลางทางการเมือง ทำหน้าที่อย่างสุจริตยึดหลัก “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที” ให้ใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยเพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือก สว. ให้ประชาชนได้รับทราบซึ่งตามระเบียบกฎหมายมีการกำหนดให้นายอำเภอเป็นประธานคณะกรรมการในระดับอำเภอ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยกระทรวงมหาดไทยยังให้การสนับสนุนการเลือกเลือก สว.ทั้ง 4 ด้าน ประกอบไปด้วย

1.การสนับสนุนประสานงานภารกิจของสำนักทะเบียนกลาง สร้างศูนย์สนับสนุนประสานงานการเลือก สว. ทุกระดับ

2.ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยสนธิกำลังหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่บริหารจัดการทำแผนรองรับการเผชิญเหตุและเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาชุมนุมสาธารณะ

3. ด้านการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบ

และ 4. การเป็นตัวกลางทางการเมืองเน้นย้ำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด 

ทั้งนี้การสัมมนาผู้ที่เกี่ยวข้องมีไม่น้อยกว่า 1,400 คนประกอบไปด้วย ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ กรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร