ไม่พบผลการค้นหา
สหรัฐฯ เปิดสถานทูตประจำอิสราเอลในกรุงเยรูซาเลม พื้นที่ขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ โดยอิวังกา ทรัมป์ และสามี จะไปร่วมพิธีเปิดด้วย แม้ก่อนหน้านี้การย้ายสถานทูตจะถูกคัดค้านอย่างหนักว่าทำให้ความบาดหมางระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์รุนแรงขึ้น

บุคลสำคัญในรัฐบาลสหรัฐฯ ได้แก่นายสตีเฟน มนูชิน รัฐมนตรีคลัง นายจอห์น ซัลลิแวน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ รวมถึงอิวังกา ทรัมป์ และสามี จาเร็ด คุชเนอร์ ซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายยิว จะเดินทางไปร่วมพิธีเปิดสถานทูตสหรัฐฯประจำอิสราเอลในกรุงเยรูซาเลม ในวันนี้ (14 พ.ค.) ซึ่งตรงกับวันประกาศเอกราชของอิสราเอล ครบรอบ 70 ปีพอดี โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะกล่าวเปิดงานนี้ผ่านทางวีดีโอลิงค์ด้วย

สถานทูตดังกล่าวเป็นสถานทูตชั่วคราว ตั้งอยู่ในอาคารสถานกุงสุลสหรัฐฯประจำเยรูซาเลม ซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว ขณะที่สถานทูตอย่างเป็นทางการซึ่งจะต้องมีบริเวณกว้างขวาง ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าจะตั้งอยู่ในบริเวณใด และขณะนี้สถานทูตสหรัฐฯประจำอิสราเอลในนครเทลอาวีฟก็ยังคงเปิดใช้งานตามปกติ จนกว่าการย้ายสถานทูตจะเสร็จสมบูรณ์

นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ชื่นชมสหรัฐฯที่ยอมย้ายสถานทูตมายังกรุงเยรูซาเลม และเรียกร้องให้ประเทศอื่นเดินตามรอยสหรัฐฯ ย้ายสถานทูตมายังเมืองหลวงแห่งใหม่นี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงต่อความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯครั้งนี้ ขณะที่นายมาห์มูด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ ถึงกับกล่าวว่าการตัดสินใจของนายทรัมป์ ถือเป็น "การตบหน้าแห่งศตวรรษ" ขณะที่ชาวปาเลสไตน์นับหมื่นคนก็รวมตัวกันบริเวณกำแพงกั้นพรมแดนระหว่างอิสราเอลกับฉนวนกาซาเพื่อประท้วงการเปิดสถานทูตสหรัฐฯในวันนี้

AP18131493953259.jpg

การเปิดสถานทูตสหรัฐฯถูกมองว่าจะเป็นการเพิ่มความตึงเครียดในกาซา เพราะตั้งแต่มีนาคมที่ผ่านมา มีชาวปาเลสไตน์ถูกทหารอิสราเอลสังหารไปแล้วอย่างน้อย 40 ราย เนื่องจากการประท้วงต่อต้านสหรัฐฯและอิสราเอล ทำให้นายเซอิด ราอัด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ต้องเตือนว่าอิสราเอลใช้กำลังเกินกว่าเหตุกับพลเรือน แต่อิสราเอลก็ยืนยันว่าทำไปเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มติดอาวุธข้ามพรมแดนมาทำร้ายพลเรือนอิสราเอลได้

AP18133286667539 (1).jpg

สาเหตุที่ทำให้การย้ายสถานทูตสหรัฐฯมายังเยรูซาเลม กลายเป็นการเพิ่มความตึงเครียดในกาซา เป็นเพราะหากสหรัฐฯยอมตั้งสถานทูตในเยรุซาเลม จะเท่ากับการรับรองอำนาจอธิปไตยของอิสราเอล เหนือดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ต้องการสถาปนาเป็นเมืองหลวงของประเทศ 

อำนาจอธิปไตยของอิสราเอลเหนือเยรูซาเลม ไม่เคยได้รับการยอมรับในประชาคมระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ และตามสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ปี 1993 สถานะของเยรูซาเลมจะเป็นสิ่งที่ต้องตกลงกันในการเจรจาครั้งต่อไป 

นับตั้งแต่ปี 1967 อิสราเอลตั้งนิคมชาวยิวในเยรุซาเลมตะวันออก มีชาวยิวเข้าอยู่อาศัยกว่า 200,000 คน ซึ่งถือว่าขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และในปี 1980 รัฐบาลอิสราเอลก็ประกาศให้เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของประเทศอย่างเป็นทางการแทนที่เทลอาวีฟ ท่ามกลางการคัดค้านจากสหประชาชาติ ทำให้สถานทูตหลายประเทศที่ตั้งอยู่ในเยรูซาเลม ย้ายออกไปยังเทลอาวีฟเพื่อไม่ให้ประเทศตนเองได้ชื่อว่ารับรองสถานะของเยรูซาเลม แม้แต่สหรัฐฯ ซึ่งมีสถานทูตอยู่ในเทลอาวีฟ ก็ยังชะลอการย้ายสถานทูตไปยังเยรูซาเลม แม้กฎหมายสหรัฐฯจะระบุให้สถานทูตสหรัฐฯต้องตั้งอยู่ในเมืองหลวงของประเทศอื่นเท่านั้นจนกระทั่งทรัมป์ตัดสินใจสั่งย้ายสถานทูต

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง