ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ 'ทรงผม' ที่ตัดสั้นเรียบร้อย ตั้งแต่ 'นายพล' ถึง 'พลทหาร' โดยทหารชายด้านข้างสั้นเกรียน (ขาว) ทั้งสามด้าน ผมด้านบนความยาวไม่เกิน 3 เซนติเมตร ส่วนทหารหญิง ห้ามผมปะบ่า ให้รวบเก็บให้เรียบร้อย ห้ามถักเปียและห้ามทำทรงผมที่สวมหมวกไม่ได้ ห้ามย้อมผม ยกเว้นสีดำ
ล่าสุดมีการเผยแพร่ระเบียบเพื่อ ‘ขอความร่วมมือ’ กับกำลังพลในทุกเหล่าทัพ โดยฝ่ายความมั่นคงเหล่าทัพต่างๆ ระบุตรงกันว่าเป็น ‘ระเบียบ’ ที่ออกมาเพื่อ ‘กำชับ’ เท่านั้น ไม่ใช่ระเบียบใหม่ แต่อย่างใด
แต่ในครั้งนี้สร้าง ‘การตื่นตัว’ กับกำลังพลไม่น้อย เพราะมีการ ‘ตีความ’ ไปถึงการแสดงออกผ่านโซเชียลฯ ที่ระเบียบเดิมให้มีความสำรวม-เหมาะสม ซึ่งเป็น ‘ระเบียบ’ ที่ออกมาในหน่วยทหารย่อยใน จ.เชียงราย เพื่อขอความร่วมมือใน ‘หน่วยงานนั้นๆ’ แต่ถูกเผยแพร่ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ จนทำให้เกิดการตื่นตัวไปทุกเหล่าทัพ
โดยเฉพาะการห้ามสวมใส่ชุดเครื่องแบบทหารเป็น ‘ภาพโปร์ไฟล์’ ต่างๆ และการห้ามถ่ายภาพกับนักการเมือง และห้ามให้ผู้อื่นถ่ายภาพแล้วไปเผยแพร่ในโซเชียลฯ
ทำให้เพจที่นิยมนำภาพ ‘ทหาร-ตร.’ ที่ ‘หล่อ เท่ หุ่นดี’ มาเผยแพร่ ต้องประกาศปิดตัวไปหลายเพจ เช่น เพจหนุ่มนายร้อยไฉไล เป็นต้น และทำให้กำลังพลทุกระดับชั้นส่วนใหญ่พากันเปลี่ยนภาพโปร์ไฟล์เป็นชุดพลเรือนปกติแทน และลดการเล่นโซเชียลฯลงไปอย่างมาก ซึ่งภายหลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ออกมาชี้แจงว่าไม่มีการสั่งห้ามใดๆ
“การแต่งเครื่องแบบต้องรักษาเกียรติและรักษาวินัยทหาร หากไปในที่ที่ไม่สมควรไป เช่น ไปดื่มสุราก็ไม่ควรสวมเครื่องแบบ ซึ่งไม่ได้ห้ามว่าไม่ให้ใส่เครื่องแบบถ่ายรูปลงในโซเชียลฯ และเรื่องดังกล่าวก็กำชับมานานแล้วไม่ใช่เพิ่งมาออกตอนนี้ ส่วนการตั้งรูปโปรไฟล์ใน Facebook และ LINE นั้นก็ขอให้ดูตามความเหมาะสม ไม่ได้ห้าม
โดยสามารถใส่เครื่องแบบเป็นรูปโปรไฟล์ได้ แต่ไม่ใช่ว่าใส่เครื่องแบบแล้วไปทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมและผิดกฎหมาย” พล.อ.ประวิตร ชี้แจง
ล่าสุดมีการตั้งกรรมการสอบฯ ‘สิบโท’ ที่ไปออกรายการโทรทัศน์ร้องเพลง โดยแต่งเครื่องแบบสนามลายพราง และมีทรงผมไม่ถูกระเบียบ ซึ่งได้มีการตักเตือนผู้บังคับหน่วยที่ปล่อยปละละเลยหรืออนุญาตให้ไปออกรายการด้วย
ทำให้เกิด ‘ระเบียบ’ กำชับกำลังพล ในการไปออกรายการโทรทัศน์ที่ไม่เกี่ยวกับราชการทหารด้วย ซึ่งมีรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น
โดยระเบียบมีรายละเอียดว่า “ข้าราชการทหารผู้ใดประสงค์จะสมัครเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของรายการที่มีการเผยแพร่ออกอากาศทางโทรทัศน์ ซึ่งเป็นรายการที่ไม่ใช่ของข้าราชการทหาร จะต้องรายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อขออนุญาต โดยให้ปฏิบัติตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการเข้าสมาคม เข้าศึกษา หรือบอกความในราชการ พ.ศ.2510 และเมื่อได้รับอนุญาติแล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาติดตามพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง และหากจะต้องสวมเครื่องแบบร่วมกิจกรรมนั้นๆ ให้คำนึงถึงภาพลักษณ์ของทหาร โดยจะต้องแสดงออกในลักษณะที่เหมาะสม”
ระเบียบเหล่านี้ที่ออกมา เป็นสิ่งที่ทำให้กำลังพลต้องตระหนักถึงหน้าที่หลักในการเป็น ‘ทหาร’ และให้รักษาเกียรติการแต่งเครื่องแบบด้วย
“การใส่เครื่องแบบไปออกรายการทีวีนั้น ถ้าเป็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของทหารสามารถทำได้” พล.อ.ประวิตร ชี้แจง
อีกทั้งมีการออก ‘ระเบียบ’ กำชับกำลังพล ถึงการรับงาน ‘นอกราชการ’ ต่างๆ ออกมาด้วย โดยเฉพาะการห้ามไปข้องเกี่ยวกับสิ่งผิดกฎหมาย เช่น อบายมุขต่างๆ เป็นต้น แต่มีการ ‘ตีความ’ ไปถึงว่าห้ามกำลังพลรับงานนอกราชการ หรือ ‘จ็อบเสริม’ ทำให้ พล.อ.ประวิตร ต้องออกมาชี้แจงว่าไม่จริง
“ไม่ได้มีคำสั่งห้ามกำลังพลรับงานนอก แต่การรับงานนอกต้องดูที่ความเหมาะสมและห้ามนำเครื่องแบบไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมาย“ พล.อ.ประวิตร กล่าว
โดยระเบียบมีรายละเอียดว่า “ให้ปฏิบัติตามคำสั่ง ทบ.ที่ 1301/2534 ลงวันที่ 17 ธ.ค.34 เรื่องให้ข้าราชการไปเกี่ยวข้องกับสถานเริงรมย์ แหล่งอบายมุข เช่น ห้ามข้าราชการไปทำงานหรือเกี่ยวข้องกับสถานเริงรมย์ ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบริการ แหล่งอบายมุขต่างๆ หรือกิจการใดๆ ที่ไม่สมควร รวมถึงการประกอบอาชีพเสริมนอกเวลาราชการ จะต้องเป็นงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อการปฏิบัติราชการ หรืองานนั้นมีผลกระทบต่อหน้าที่ประจำ และการประกอบอาชีพเสริมจะต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชารับทราบ”
ซึ่งระเบียบการห้ามไปยุ่งเกี่ยวกับ ‘อบายมุข’ นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาก็มี ‘ทหาร-ตำรวจ’ ไปเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยตามร้านอาหารหรือสถานเริงรมย์ต่างๆ โดยเป็นเวลานอกราชการ ด้วยเหตุผลเป็นธุรกิจที่เปิดในช่วงค่ำคืน
แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการจัดแถวทหาร-ตำรวจที่ไปประกอบธุรกิจเหล่านี้ด้วย และเป็นการป้องกันการใช้ ‘อิทธิพล’ ผ่านเครื่องแบบไปในตัว เพราะธุรกิจเหล่านี้ในอดีตก็เป็นจุดกำเนิดของ ‘ทหารมาเฟีย - คนมีสี’ และป้องกันการไป ‘เรียกรับประโยชน์’ ด้วย
อย่างไรก็ตามยังไม่มีคำสั่งห้ามกำลังพลรับงานนอกราชการ แต่จะต้องไม่ขัดระเบียบต่างๆ หากมีการสั่งห้าม ก็มีความกังวลว่ากระทบกำลังพลระดับล่างจึงยังไม่มีการสั่งห้าม ตามที่ ‘ตีความ’ กันไปก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่โหมดการ ‘เลือกตั้ง’ แล้วนั้น การวางตัวของทหาร-ตำรวจ จึงมีความสำคัญ ซึ่งได้มีการออกนโยบายห้ามทหาร-ตำรวจ ไปเดินตามหรือหาเสียงกับนักการเมืองด้วย
ก่อนหน้านี้ 2-3 เดือนก่อน พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. สั่งการในสายงานด้านกำลังพล เน้นย้ำเพิ่มเติม ในเรื่องการแต่งกาย และการปฏิบัติตนของกำลังพลสังกัดกองทัพบก และแจกจ่ายทั่วกองทัพบก ให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.เครื่องแบบทหาร พ.ศ.2477 และกฎกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบทหารบกฉบับที่80 พ.ศ.2552 รวมถึงข้อกำหนดต่างๆที่บังคับใช้
โดยมีรายละเอียดโดยรวมว่า “ห้ามใช้เวลาราชการปฎิบัติความสำราญส่วนตัวหรือกระทำการใดๆที่เสื่อมเกียรติยศของกองทัพบกโดยเด็ดขาด หากตรวจพบว่ามึนเมาสุรา ทะเลาะวิวาท หรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ให้ทำการปลดทุกกรณี
พร้อมกันนี้ ให้ระมัดระวังการกระทำใดๆ ที่อาจเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายคอมพิวเตอร์ จากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเฉพาะการส่งข้อมูลสำคัญหรือที่มีชั้นความลับ ผ่านระบบเครือข่าย
รวมถึง การฝึกและการปฏิบัติ ท่าบุคคลเบื้องต้นให้ยึดถือปฏิบัติตามคู่มือแบบการฝึกวิชาบุคคล ท่ามือเปล่า ท่าอาวุธของโรงเรียนทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
การออกนอกหน่วยทหาร ระหว่างเวลาราชการ หรือ ช่วงพักรับประทานอาหารมื้อกลางวัน จะต้องพิจารณาความเหมาะสมการแต่งกายและสถานที่ที่ไป
ส่วนการติดบัตรแสดงตนจะต้องเป็นผู้ที่รับได้รับอนุญาตและจะต้องใช้ประกอบเครื่องแบบทหารบกทุกโอกาสที่กำหนดโดยติดบริเวณที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน และให้งดเว้นการติดเครื่องหมายแสดงความสามารถพิเศษหรือกิตติมศักดิ์ประกอบเครื่องแบบทหารบก
นอกจากนี้ ห้ามนำสิ่งอื่นใดที่ไม่ได้อนุญาตติดทับเครื่องแบบเด็ดขาด เช่นห้ามคล้องพวงกุญแจ บริเวณหูกางเกงหรือหูเข็มขัด ห้ามนำสายแว่นตาคล้องเกี่ยวกับช่อง ระหว่างกระดุมเสื้อหรือกระเป๋าเสื้อ
รวมทั้งการใส่เสื้อคลุมทหารบก(แจ็คเก็ตสีเขียว) สำหรับสวมใส่กันหนาวหรือให้ความอบอุ่น จะต้องประกอบด้วยอินทรธนู แสดงยศทหารบก ทำด้วยผ้าหรือสักหลาด ประดับบริเวณบ่าทั้งสองข้าง ยกเว้นลูกจ้างและพนักงานราชการทั้งนี้ต้องรูดซิปให้ได้แนวเดียวกับกระดุมเม็ดที่สอง จากด้านบนของเสื้อด้านใน
ส่วน การถอดหมวกและการสวมหมวกให้ปฏิบัติเมื่ออยู่ภายในและภายนอกอาคารตามลำพัง ไม่ควรถอดหมวกในสถานที่สาธารณะหรือบนยานพาหนะหรือขณะผ่านบริเวณชุมชน เป็นต้น
ทั้งหมดนี้จึงเป็น ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ที่เห็นได้ชัดในวงการทหาร-ตำรวจในยุคปัจจุบัน ที่มีความเป็น ‘ระเบียบ’ มากขึ้น
โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็น ‘แบบอย่าง’ ให้กับสังคม และเป็น ‘ที่พึ่ง’ ให้กับประชาชน เรียกได้ว่า ‘เป๊ะ แอนด์ เนี้ยบ’ ทั้งภายนอกและภายในเลยทีเดียว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง