ไม่พบผลการค้นหา
ผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกกำลังออกเดินทางออกนอกประเทศเป็นเรื่องปกติ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีการเดินทางทางอากาศก็ก้าวล้ำไปไกลมาก จนทำให้เส้นขอบฟ้าเต็มไปด้วยนวัตกรรมอันทันสมัย ส่วนบนภาคพื้นดินการอำนวยความสะดวกสบายด้วย ‘เลาจน์’ ก็นับเป็นอีกหนึ่งโฉมหน้าการต่อสู้ของธุรกิจสายการบิน ที่หลายเจ้ายอมลงทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์ เพื่ออัพเกรดเลาจน์ของตัวเองให้โดดเด่นเหนือกว่าคู่แข่ง

ปัจจุบัน ‘เลาจน์’ ไม่ใช่แค่สถานที่สำหรับผ่อนคลาย หรือห้องอาหารไว้ฝากท้องก่อนขึ้นเครื่องอีกต่อไป โดยเฉพาะในเที่ยวบินระดับพรีเมียม เลานจ์เป็นสิ่งสำคัญในการสัมผัสอารมณ์ ความรู้สึก และหัวใจของผู้โดยสาร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สายการบินฟูลเซอร์วิสที่ให้บริการเต็มรูปแบบตามมาตรฐานสากลทั่วโลก ต่างหันมาตระหนักถึงความสำคัญของการปรับปรุงการสร้างประสบการณ์การบินให้โดดเด่นตั้งแต่ภาคพื้นดิน


ก้าวเข้าสู่ทศวรรษของการลงทุนกับเลาจน์

บรรดาสายการบินเก่าแก่อายุยืนนานล้วนทุ่มเทให้กับการสร้างสรร���์เลานจ์มาหลายทศวรรษ อาทิ เลาจน์ของสายการบินเวอร์จิน แอตแลนติก ที่สนามบินลอนดอน ฮีทโธรว์ และสนามบินนานาชาติจอห์น เอฟ. เคนเนดี ถือเป็นตัวอย่างสำคัญของการลงทุนแปลงโฉมตัวเองให้สวยงาม และทันสมัยอยู่เสมอๆ

ตามมาด้วย 3 สายการบินจากตะวันออกกลางอย่าง กาตาร์ แอร์เวย์ส, เอมิเรตส์ แอร์ไลน์ และเอทิฮัด แอร์เวย์ส ที่ขึ้นชื่อเรื่องความไฮโซ หรูหรา และใหญ่โตโอ่อ่า ถึงขนาดให้บริการแบบจัดเต็มกับลูกค้าระดับไฮเอนด์ อาทิ สปา ฟิตเนส ห้องอาบน้ำ และอาหารเย็นการรันตีความอร่อยจากฝีมือเชฟมิชลิน สตาร์ ที่คนธรรมดาชั้นประหยัดอย่างเราๆ ก็อยากเข้าไปสัมผัสสักครั้งหนึ่งในชีวิต

สำหรับฝากฝั่งเอเชียเรา ล่าสุด ณ สนามบินนานาชาติฮ่องกง สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค เพิ่งเปิดตัวเลาจน์ใหม่ในชื่อเดอะ เดค (The Deck) โดยจำลองบรรยากาศของห้องรับแขกสไตล์คอนเทมโพรารี ตกแต่งด้วยวัสดุจากธรรมชาติ สร้างสรรค์พื้นที่สีเขียวด้วยต้นไม้หลากชนิด และประดับด้วยศิลปะของศิลปินท้องถิ่น เพื่อสร้างบรรยากาศต้อนรับแสนอบอุ่น 

The Deck 1.jpgThe Deck 5 (1).jpg

ส่วนสายการบินออล นิปปอน แอร์เวส์ ก็ไม่ยอมน้อยหน้า เร่งแปลงโฉมเลาจน์ภายในประเทศที่สนามบินซัปโปโร ซึ่งเล่นใหญ่ด้วยการดึงเคนโกะ คุมะ สถาปนิกมือฉมัง เข้ามาร่วมงานด้วย โดยการปรับปรุงใหม่ทำให้มันกลายเป็นเลานจ์ที่ดีสุดของสายการบินออล นิปปอน แอร์เวส์ และเป็นการสร้างสถานที่ที่ทำผู้โดยสารเพลิดเพลินไปกับบริการเหนือระดับ อีกทั้งยังเริ่มให้บริการสาเกในชั้นประหยัดบนเที่ยวบินระหว่างประเทศ และแน่นอนว่า ได้รับการตอบรับดีเกินคาด

cts-ana-lounge-2.jpg


เปิดให้ชมวิวทิวทัศน์สวยงามจับตา 

ต้องยอมรับว่า เลาจน์เป็นสิ่งล่อตาล่อใจ อย่างเลาจน์ที่สนามบินโคลเทิน เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่เปิดพื้นที่เฉพาะสำหรับผู้โดยสารระดับพรีเมียม และเฟิร์สคลาส โดยแยกการบริการชั้นธุรกิจออกไปอีกส่วน เพื่อให้ผู้โดยสารได้สัมผัสกับทัศนียภาพอันงดงามของเทือกเขาแอลป์ ซึ่งถือเป็นจุดขายสำคัญของเลาจน์


คำนึงถึงความถูกต้องทางวัฒนธรรม

ที่ผ่านมา สายการบินเตอร์กิช แอร์ไลน์ ของประเทศตุรกี ขยายเส้นทางการบินไปยังหลายๆ เมืองทั่วโลก และเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเลาจน์ไว้คอยให้บริการผู้โดยสาร 99 เปอร์เซ็นต์ ที่นับถือศาสนาอิสลาม เมื่อปี 2014 ซีไอพีเลานจ์ (CIP Lounge) ในสนามบินนานาชาติอิสตันบูล มีพื้นที่มากถึง 6,000 ตารางเมตร และได้รับการยกย่องว่าเป็นเลาจน์ที่ยิ่งใหญ่สุดในโลก เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายแบบไม่เคยมีใครหน้าไหนทำมาก่อน เช่น ห้องประชุม ห้องเล่นบิลเลียด ห้องอ่านหนังสือ ห้องจิบน้ำชา ทั้งหมดออกแบบด้วยคอนเซ็ปต์ ‘Kervansaray’ ที่รับแรงบันดาลใจมาจากสิ่งก่อสร้างที่มีอิทธิพลจากเปอร์เชีย ทำให้เลาจน์มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และเต็มเปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรมของอิสตันบูล

ci_230212_08-940x624.jpg

นอกจากนั้น ห้องอาหารยังพิเศษด้วยอาหารเตอร์กิชขนานแท้ระดับไฮเอนด์มากมาย เช่น เมซเซ่ พิซซ่าตุรกี และเนื้อย่างชั้นดี ทำให้คนมุสลิมมั่นใจได้ในเรื่องของอาหารการกินที่เป็นประเด็นความเชื่อทางศาสนา


สร้างพื้นที่ที่เป็นเหมือนสนามเด็กเล่น

เมื่อปีที่ผ่านมา สายการบินออล นิปปอน แอร์เวส์ เพิ่งสร้างสรรค์ ‘สตาร์ วอรส์ เอเอนเอ คิดส์ เลานจ์’ (Star Wars ANA Kids Lounge) ภายในอาคารผู้โดยสาร 2 ในสนามบินฮาเนดะ เป็นเลาจน์ที่จัดเต็มด้วยสภาพแวดล้อมปลอดภัย และสร้างความบันเทิงให้กับเด็กๆ ภายในประกอบด้วยสไลด์ โซฟายาว หนังสือภาพ และเสื่อรองพื้นที่นุ่มสบาย ที่สำคัญเด็กๆ สามารถรับสติ๊กเกอร์สตาร์ วอรส์ ได้ฟรี ณ แผนกต้อนรับส่วนหน้า


ธุรกิจเลาจน์รายชั่วโมง

แน่นอนว่า คุณต้องจ่ายเงินให้กับตั๋วเครื่องบินระดับเฟิร์สคลาส หรือเป็นสมาชิกสะสมไมล์ระดับพรีเมียมเท่านั้น ถึงจะสามารถเข้าไปใช้บริการเลาจน์ของสายการบินได้ ซึ่งนั่นมันดูไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย เพราะสถานะสมาชิกระดับพรีเมียมมันต้องเดินทางถึง 600,000 ไมล์ ภายในระยะเวลาแค่ 2 ปี ซึ่งนักเดินทางทั่วไปคงไม่มีโอกาสเอื้อมถึงแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสงครามการให้บริการเลานจ์บนภาคพื้นดินไม่ได้จำกัดเพียงธุรกิจสายการบินที่เป็นผู้เล่นหลักอีกต่อไปแล้ว อย่างหลุยส์ แทรเวิร์น เลาจน์ ที่พบได้บ่อยในสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นเลาจน์อิสระของบริษัทเครือมิราเคิล กรุ๊ป เปิดรองรับผู้โดยสารของสายการบินที่ไม่มีเลาจน์เป็นของตนเอง โดยทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย หรือจะลองพลาซ่า พรีเมี่ยม เลาจน์ ที่เปิดให้บริการมานานกว่า 20 ปี และมีมากกว่า 130 แห่งทั่วโลก ซึ่งนักเดินทางทุกระดับสามารถเข้าไปใช้บริการโดยจ่ายเป็นรายชั่วโมงได้ด้วย สนนราคาตั้งแต่ 35-50 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 1,250-1,800 บาท

นอกจากนั้น เลาจน์ยังมีผู้เล่นหน้าใหม่เป็นบริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิตชั้นนำของโลก เช่น อเมริกันเอ็กซ์เพรส ที่ตระเวนไปเปิดเลาจน์ใหม่ๆ ทั่วสหรัฐฯ