ไม่พบผลการค้นหา
หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลงจากตำแหน่ง ความเปลี่ยนแปลงภายใต้การนำของ โจ ไบเดน กำลังจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "นโยบายต่างประเทศ" ที่มีผลต่อภูมิภาคเอเชียโดยตรง แต่แม้ไบเดนจะไม่เห็นด้วยกับหลายสิ่งหลายอย่างในสมัยของทรัมป์ สิ่งหนึ่งที่จะยังคงเดินหน้าต่อคือ "นโยบายต่อต้านจีน"
​ลดความขัดแย้ง เพิ่มความร่วมมือ

บทวิเคราะห์จาก The Diplomat ชี้ว่า หากจะสรุปการทำงานของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ตลอดช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ในมิติของการออกนโยบายการต่างประเทศและวิธีการสานสัมพันธ์กับชาติสมาชิกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้ในคำเดียว คำนั้นคงต้องเป็น "การไร้ความร่วมมือ" หรือ "Incoherence" ซึ่งครั้งหนึ่งเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เปรียบเปรยการแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนไว้ว่าเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่าง "เสรีภาพและอำนาจเผด็จการ" 

ที่ผ่านมา ทรัมป์เดินหน้าเชื่อมสัมพันธ์กับผู้นำที่มีอำนาจเด็ดขาดและชื่นชมความเด็ดขาดของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในการปราบปรามยาเสพติดของ โรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ไปจนถึง วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ก็แสดงท่าทีชัดเจนในการสนับสนุนชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ยืนหยัดต่อสู้กับอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งท้ายที่สุดก็ทำให้ชาติสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับความบาดหมางทางการค้า และไม่ได้นำไปสู่การเจรจาแก้ปัญหาทางการทูตที่เป็นรูปธรรม

AFP - โจ ไบเดน โดนัลด์ ทรัมป์

อย่างไรก็ตาม The Diplomat มองว่า โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นผู้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงทำให้ภาวะการตัดสินใจที่ไม่แน่วแน่ของผู้นำสหรัฐฯ นั้นหมดไป และจะช่วยนำทางให้ทุกภาคส่วนของรัฐบาลสหรัฐฯ สามารถประสานและทำงานร่วมกันได้อย่างมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นในช่วงระยะเวลา 4 ปีหลังจากนี้


การลงทุนด้านการทูตที่มากขึ้น 

การอยู่ในอำนาจของรัฐบาลทรัมป์ไม่ได้ส่งผลดีต่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการต่างประเทศ ในฐานะที่พวกเขาเคยเป็นตัวแทนของชาวอเมริกันที่น่าภาคภูมิใจต่อสายตาประชาคมโลกดังที่เคยเป็นมา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกจัดให้เป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญอย่างมากต่อสหรัฐฯ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลทรัมป์ไม่ได้ปฏิบัติต่อชาติอื่นๆ ด้วยวิธีทางการทูตเท่าที่ควรจะเป็น แทนที่จะใช้วิธีการที่สุภาพ มีมารยาท และมีความยินยอมร่วมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นการใช้ไม้แข็ง อย่างเช่นหนึ่งในวิธีที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างก็คือ "การลงโทษด้วยมาตรการทางการค้า" และ "การกีดกันทางการค้า"

เมื่อไบเดนก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งเต็มตัว The Diplomat มองว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการแก้ไขความบกพร่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น และในฐานะผู้คร่ำหวอดในการเป็นวุฒิสมาชิกที่ดูแลเรื่องความสำพันธ์ระหว่างประเทศมายาวนาน ไบเดนจะเป็นหัวหอกในการทำให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ "ฟื้นคืนชีพ" ขึ้นมาอีกครั้ง และในประเด็นของนโยบายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภูมิภาคเอเชีย ไบเดนจะฟื้นฟูนโยบายที่ครั้งหนึ่ง อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัก โอบามา เคยมุ่งมั่นสร้างไว้ นั่นคือนโยบาย "ปักหมุดเอเชีย" หนึ่งในวิธีการที่จะทำให้เห็นว่าสหรัฐฯ หันมาใส่ใจในนโยบายเพื่อภูมิภาคนี้อย่างจริงจังอีกครั้ง

โจ ไบเดน_รอยเตอร์

แอนโทนี บลิงเคน ที่ปรึกษาอาวุโสของ โจ ไบเดน กล่าวให้คำมั่นไว้ว่า "ประธานาธิบดีไบเดนจะเข้าร่วม และมีส่วนร่วมกับการประชุมอาเซียน และเดินหน้าหาทางออกวิกฤตต่างๆ ร่วมกัน"

จริงอยู่ที่ว่าการมีนโยบายการต่างประเทศที่มากขึ้น ไม่ได้การันตีว่าจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม แต่นี่คือข้อพิสูจน์ว่านโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ นั้นถูกออกแบบมาอย่างเอาจริงเอาจังและน่าเชื่อถือเพื่อประโยชน์ของชาติสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


สิ่งที่ไม่มีทางเกิดขึ้นคืออะไร?

แม้โจ ไบเดน จะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ โดยมีแนวทางการทำงานที่ตรงกันข้ามกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ค่อนข้างชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่หลายฝ่ายคาดว่าไบเดนจะยังคงสานต่อภารกิจจากทรัมป์ก็คือการ "ต่อต้านรัฐบาลจีน" โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือประเด็นที่เกิดขึ้นกับฮ่องกง ไปจนถึงการปฏิบัติของรัฐบาลจีนต่อชนกลุ่มน้อยและผู้นับถือศาสนาอื่นใดที่รัฐบาลจีนไม่สนับสนุน

นอกจากนั้น กองทัพเรือสหรัฐฯจะเดินหน้านโยบายสนับสนุนเสรีภาพในการสำรวจพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ต่อไป หนึ่งในนั้นคือปฏิบัติการ "Freedom of Navigation" และในขณะที่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะถูกฟื้้นกลับมาหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลของไบเดนจะสามารถทำได้ก็คือการเดินหน้ามาตรการทาง "เศรษฐกิจ" เพื่อรับมือกับความท้าทายที่รุนแรงที่สุดจากทางรัฐบาลจีน The Diplomat ชี้ด้วยว่า ชาติสมาชิกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พึงพอใจกับนโยบายต่อต้านรัฐบาลจีนของทรัมป์ จะได้รับการสนุบสนุนจากรัฐบาลของไบเดนอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน

ทะเลจีนใต้.jpg