ไม่พบผลการค้นหา
สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ ทดลองเครื่องมือใหม่ประเมินความเสี่ยงปล่อยตัวชั่วคราว 'ผู้ถูกขัง' พบว่ากลุ่มความเสี่ยงสูงการใช้เงินประกันก็อาจทำให้เกิดการหลบหนีได้ แต่ความเสี่ยงน้อย อัตราการหลบหนีมีน้อยมาก โครงการนี้หากได้ผลจะเป็นประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่ใน 3-5 ปีข้างหน้าไม่ต้องมีเงินประกันตัวเลย

นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา เปิดเผยแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนจากการใช้เงินประกันตัวมาเป็นการใช้ระบบการประเมินความเสี่ยง เริ่มมีการวิจัยโดยสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ ภายใต้สำนักงานศาล เพื่อทำการวิจัยและทดลองตามนโยบายของประธานศาลฎีกา ในการหาเครื่องมือใหม่ มาใช้ในการปล่อยชั่วคราว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นระบบเก่าหรือใหม่ ศาลยังคงมีดุลพินิจอย่างกว้างขวางที่จะปล่อยใครหรือขังใครก็ได้ 

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักด��์ ได้ทำการศึกษาและพบว่ามีคนจำนวนมากไม่ได้ยื่นคำขอปล่อยชั่วคราวเพราะเชื่อว่าตนเองนั้นไม่มีเงิน ซึ่งเป็นผู้ถูกขังกว่าร้อยละ 90 ในเรือนจำ ศาลจึงได้ค้นหาข้อมูลและพบว่าในสหรัฐอเมริกาที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และในบางมลรัฐมีการแก้ไขปัญหานี้ โดยการใช้เงินประกันตัว ซึ่งถือเป็นระบบใกล้เคียงของประเทศไทยมากที่สุด

“หลักการก็คือว่า ในสหรัฐอเมริกา เขาเอาสำนวน ซึ่งมีในระบบคอมพิวเตอร์หลายแสนสำนวนมาวิ่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์แล้วให้หาลักษณะร่วมกันของคนที่หนี เครื่องสามารถหาแฟคเตอร์ มาได้ 10 แฟคเตอร์ ที่สามารถพยากรณ์ความเสี่ยงในการหลบหนีได้ หลังจากประเมินก็มีมาตรการกำกับดูแล ถ้าเกิดว่าสงสัยว่ามีความเสี่ยงในขั้นตอนต่างๆ” ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกากล่าว

นายมุขเมธินกล่าวต่อว่า ได้มีการว่าจ้าง สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ทำการวิจัยร่วมกับศาล โดยใช้วิธีการนำสำนวนของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลอาญา และศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช รวม 3 ศาล จำนวนพันกว่าสำเนามาศึกษา เพื่อดูลักษณะร่วมกันของคนที่หนีและไม่หนี จนได้ปัจจัยของไทย 14 ปัจจัย

หลังการศึกษามีข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ การใช้เงินเป็นหลักประกัน อัตราการใช้เงิน กับอัตราการหลบหนี ไม่สม่ำเสมอกัน คือหากเงินมีผลจริง ก็ต้องเป็นว่าเงินมากหนีน้อย เงินน้อยหนีมาก แต่ในความเป็นจริงอัตราการหนีในทุกอัตราเงินประกันจะกระโดดไปกระโดดมาทำให้ไม่สามารถทำนายได้จากการวางเงินประกัน รวมไปถึงอัตราโทษต่าง ๆ ก็พยากรณ์ไม่ได้เหมือนกัน

นอกจากนี้ยังพบว่าคนที่มีความผูกพันธ์กับท้องถิ่นมาก ๆ อยู่ในท้องถิ่นมาตลอดชีวิตแล้วไม่ได้ย้ายไปไหน หรือไม่มีความสามารถที่จะย้ายถิ่นได้ง่าย กลุ่มคนเหล่านี้จะไม่หนี ในขณะเดียวกันคนที่เคยหนี มีแนวโน้มจะหนีมากเป็น 10 เท่า โดยตัวอย่างสถิตินี้จะนำมาใช้ในการทำแบบประเมินของไทยซึ่งต้องทดลองก่อนเพื่อให้เกิดความแน่ใจ

ทั้งนี้สำนักงานศาลยุติธรรมได้อนุญาตให้ทางสถาบันวิจัยฯทำการทดลองก่อนในพื้นที่จำกัด 5 ศาล คือ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลจังหวัดจันทบุรี และศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช สำหรับอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี เพื่อกระจายภูมิภาคไปในลักษณะต่างๆ ทั้งเมืองใหญ่ เมืองเล็ก ให้เป็นตัวแทนประชากร

"โทษเราใช้โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี เพราะว่าหากเกิดแผนผิดพลาด แบบประเมินไม่ได้ผล มีคนหนีมากๆ ก็ยังกระทบสังคม แต่ปัญหาของการทดลองที่สำคัญคือ วิธีการประเมินความเสี่ยงจะใช้เจ้าหน้าที่สัมภาษณ์ผู้ต้องหาแต่ละคนที่มาศาลว่ามีลักกษณะข้อเท็จจริง ใน 14 รายการอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องใช้เวลา"นายมุขเมธินกล่าว

นอกจากการสัมภาษณ์แล้ว เจ้าหน้าที่ยังต้องตรวจสอบข้อมูลจากฐานข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์สอบถามบุคคลที่อ้างอิงถึง เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง หลังจากนั้นถ้ายืนยันข้อมูลถูกต้องแล้วก็จะประเมินความเสี่ยง โดยใช้คะแนนประเมินแล้วเสนอผู้พิพากษา 

สำหรับคะแนนประเมินความเสี่ยงนั้นแบ่งออกเป็น 5 ประการ ได้แก่ เสี่ยงสูงมากให้จำคุก เสี่ยงสูงใช้มาตรการในการดูแลเข้มงวด ร่วมกับกำไลข้อเท้า หรือ Electronic monitoring (EM) เสี่ยงปานกลาง ใช้มาตรการกำกับดูแลโดยให้มารายงานตัวต่อศาลเป็นระยะๆ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ว่าสามารถทำให้คนรู้สึกว่าอยู่ในการควบคุมและไม่ไปไหนได้ กรณีเสี่ยงน้อยและน้อยมาก ให้สาบานตัวแล้วปล่อยไป 

วิธีดังกล่าวเริ่มทดลองมาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 โดยจากข้อมูลถึงเดือนสิงหาคมมีการสรุปในเบื้องต้น สามารถปล่อยคนที่มีความเสี่ยงน้อยไปได้ 865 คน มีจำนวนผู้หลบหนีหรือไม่มาตามนัด 52 คน หรือคิดเป็น ร้อยละ 6 ซึ่งบางส่วนระบุว่าไม่มีเงินสำหรับการเดินทางมารายงานตัว

" เรายืนยันได้ว่าคนที่เราปล่อยไป เป็นคนยากจน ซึ่งในทางปกติ ถ้าไม่มีระบบนี้แล้วคนกลุ่มนี้จะต้องถูกขังอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นการไม่มาศาลจำนวน 52 คน เราก็ยังยืนยันว่า 700 กว่าคนที่ถูกปล่อยในคราวนี้ ที่ยังมาศาลแล้วไม่ได้หนีไปไหน นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่าโครงการนี้ได้ประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่ " นายมุขเมธินกล่าวและว่าในฐานะที่ดูแลสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ เชื่อมั่นมากว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จที่จะเป็นเครื่องมือใหม่ให้ผู้พิพากษาสามารถใช้แทนการปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้เงินได้ 

" เราหวังว่าภายในที่สุดแล้ว ใน 3-5 ปีข้างหน้าถ้าโครงการนี้ได้ผล จะไม่ต้องมีเงินประกันตัวเลย แล้วเราก็เชื่อว่า ในที่สุดแล้วเมื่อทุกคนสามารถ ประเมินความเสี่ยง ศาลพิจารณาอาศัยข้อมูลความเสี่ยงต่าง ๆ ในการตัดสินใจปล่อยชั่วคราว เราเชื่อว่าเราจะปล่อยคนที่ควรปล่อยและขังคนที่ควรขังได้ ซึ่งในที่สุดแล้วอุดมการณ์ก็คือ ต่อไปไม่ว่าคุณจะมีเงินหรือไม่มีเงินก็ตาม ถ้าคุณมีความเสี่ยงสูงว่าจะก่อเหตุ หรือหลบหนี คุณต้องถูกขังไว้ ในทำนองเดียวกันถ้าคุณไม่มีความเสี่ยงที่จะหลบหนีหรือก่อเหตุร้าย คุณก็จะได้รับการปล่อยโดยไม่ต้องเกี่ยวกับฐานะการเงิน " ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกากล่าว