'พชร์ อานนท์' ผู้กำกับมากประสบการณ์ วัย 47 ปี กำกับภาพยนตร์มาแล้วเกือบ 40 เรื่อง แม้จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ชมบางส่วนว่าหนังของเขา ‘ไร้สาระ’ แต่ก็หาแคร์ไม่ เพราะเจ้าตัวยืนยันว่าหนังของเขาให้เสียงหัวเราะ ความบันเทิง สอดแทรกสาระบ้างเล็กน้อย ที่สำคัญหนังเหล่านี้สร้างรายได้ให้กับเขา และนายทุน
ใกล้จะได้ชมกันแล้วสำหรับภาพยนตร์เรื่อง ‘หอแต๋วแตก แหกต่อไม่รอแล้วนะ’ อีกหนึ่งหนังผีกะเทยที่มีภาคต่อเยอะที่สุด ถึง 6 ภาค โดย พชร์ อานนท์ ที่ล่าสุดให้สัมภาษณ์กับ ‘วอยซ์ ออนไลน์’ ว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นภาคสุดท้ายของหอแต๋วแตกแล้ว โดยเป็นจุดจบของผีแพนเค้ก รับมีเสียดายนิดหน่อยที่เป็นภาคสุดท้าย อย่างไรก็ตามก็รอฟังกระแสตอบรับจากผู้ชม ว่าเป็นอย่างไร หากดี หอแต๋วแตกอาจจะกลับมาในชื่ออื่น
หอแต๋วแตก แหวกทุกกฎการทำหนัง
พชร์ อานนท์ เผยว่า สไตล์การทำหนังของเขาคือเป็นหนังโลกแตก ไม่สนโลก แม้ใครจะบอกว่าหนังของเขาปัญญาอ่อน แต่เขายืนยันว่าไม่สนใจ เพราะหากมัวแต่ไปฟังคำของคนอื่นชีวิตจะดำเนินไปข้างหน้าได้อย่างไร อยากให้คนที่วิจารณ์ช่วยมองข้อดีของตัวเขาบ้าง พร้อมทั้งยังบอกอีกว่า หากหนังของเขาเป็นหนังที่ทำให้วงการหนังไทยล่มจม มันจะไม่สามารถทำเงินได้ 50-60 ล้าน เพราะคนเรามีรสนิยมไม่เหมือนกัน หนังประเภทนี้สามารถทำร้ายได้ได้ แปลว่าต้องมีคนดูกลุ่มหนึ่งที่ชอบ
เขาเล่าย้อนไปเกือบ 10 ปีที่แล้ว ครั้งแรกที่คิดจะทำหนังเรื่องนี้ คือไม่ได้คิดอะไรมาก คิดแค่ว่าอยากทำหนังที่มี ผี กับ กะเทย มาสู้กัน ตอนนั้นมีแค่โครงเรื่องไปเสนอนายทุน ยังไม่มีบทด้วยซ้ำ แต่เขาก็ได้รับการอนุมัติให้ทำ พอทำเสร็จและฉาย สรุปว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ หอแต๋วแตกภาคแรก ทำรายได้ถึง 50 ล้าน หลังจากนั้นภาค 2 ก็สูงถึง 70 ล้าน จึงเห็นว่าการทำหนังประเภทนี้แล้วทำเงินได้ และเป็นที่มาทำให้เขาทำภาคต่อไปเรื่อยๆ แม้เจ้าตัวจะบอกว่าอยากทำหนังดราม่า หรือหนังแนวอื่นๆ บ้าง แต่ยังไม่มีนายทุนมาให้ทำ พร้อมทั้งยังเล่าให้ฟังว่ามีคนดูกลุ่มหนึ่งมาถามเขา ว่า
“ทำไมพี่พชร์ไม่ทำหนังแบบฉลาดเกมโกง? พี่บอกว่าถ้าพี่ทำหนังแบบฉลาดเกมโกง แล้วใครจะทำหนังแบบหอแต๋วแตกล่ะ เราจะไปเดินตามเขากันหมด ประเทศก็ไปได้ทางเดียวสิ มันก็ต้องไปหลายๆ ทาง .. พูดไปเดี๋ยวจะมาด่าพี่อีก มึงไม่มีฝีมือสิ ถึงไม่ทำ.. คือมีฝีมือ แต่กูไม่ชอบ กูชอบหอแต๋วแตก อย่างหนังเขาก็ดี พี่ก็ดูพี่ก็ชอบ”
ทำหนังเพื่อเงิน ไม่ใช่รางวัล
แม้พชร์ อานนท์ จะเคยทำภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลใหญ่ๆ ระดับประเทศมาแล้ว เรื่อง เพื่อน...กูรักมึงว่ะ ที่ได้รับคัดเลือกไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ผู้สร้างอิสระ บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ครั้งที่ 34 และยังได้รับรางวัล 'ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม' ส่วนในประเทศไทยภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับ 4 รางวัลสุพรรณหงส์ ในสาขา ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม กำกับภาพยอดเยี่ยม และ บันทึกเสียงยอดเยี่ยม
ในขณะที่ ภาพยนตร์เรื่อง 'เพื่อน...กูรักมึงว่ะ' เข้าฉายในปี 2550 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับภาพยนตร์เรื่อง 'หอแต๋วแตก' เข้าฉาย แม้หอแต๋วแตกจะไม่ได้รับรางวัลใดๆ ทั้งยังถูกวิพากย์วิจารณ์ในแง่ลบมากมาย แต่กลับทำเงินได้ถึง 50 ล้านบาท ขณะที่ภาพยนตร์เรื่อง เพื่อน...กูรักมึงว่ะ ทำเงินได้เพียง 16 ล้านบาทเท่านั้น
“อย่างหนังรางวัลเราเคยได้มาแล้ว แล้วทำไมเราต้องเอา รางวัลๆๆๆ ล่ะ ทำไมเราไม่เอา เงินๆๆๆๆๆ เราแก่ตาย แก่ไปป่วย เราก็มีเงินรักษา มีตุ๊กตาทองตั้งเต็มบ้าน ป่วยไปเอาตุ๊กตาทองไปจำนำรักษาหรอ เขาก็ไม่เอา เราก็ถึงคิดแหกกว่าชาวบ้านเขาไง...รางวัลจากนักวิจารณ์ รางวัลจากสุพรรณหงส์อะไร อันนั้นไม่สำคัญเท่ากับ คนดูมาดูหนังเราเยอะๆ คนดูมาสนับสนุนเราเยอะๆ อันนั้นอะคือรางวัลสูงสุดของชีวิตของการเป็นผู้กำกับ” พชร์ อานนท์ กล่าว
หยิบทุกกระแสมายำในหนัง อีกหนึ่งลายเซ็นของพชร์ อานนท์
หากใครเป็นแฟนหนังของพชร์ อานนท์ จะรู้ดีว่าผู้กำกับที่มักจะอยู่ในกระแสเสมอ ก็นำเอากระแสสังคมตอนนั้นๆ ใส่เข้าไปในหนังด้วย ไม่ใช่เฉพาะภาพยนตร์เรื่องหอแต๋วแตกเท่านั้น แต่คือทุกเรื่องของเขา ก็จะใส่ไว้หมด พชร์ อานนท์ เผยว่า เพียงแต่หอแต๋วแตกเป็นหนังที่ยัดได้ทุกกระแส แบบไม่ทำให้เสียเนื้อเรื่อง อย่างชื่อของตัวละคร ‘แพนเค้ก’ ที่รับบทโดย โก๊ะตี๋ ชื่อนี้ก็มาจากชื่อนักแสดงหญิง แพนเค้ก เขมนิจ ที่ช่วงนั้นกำลังดังมากๆ หรือตัวละคร ‘มดดำ’ ก็มาจากชื่อพิธีกรชื่อดัง มดดำ คชาภา เช่นกัน พชร์กล่าวว่า ตอนนั้นใครดังก็จะมีชื่ออยู่ในหนังพชร์ อานนท์หมด
ส่วนในตัวอย่างภาพยนตร์หอแต๋วแตกแหกต่อไม่รอแล้วนะ ภาคที่ 6 นี้ ก็รวบรวมทุกอย่างที่เป็นกระแสสังคมมาอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้เช่นเดียวกัน เช่น การเต้นหน้าห้าน, ดอกไม้มุราคามิ, เต่างอย, หอหมกฮวกไปฝากป้า, ละครนาคี รวมถึงผู้ที่มีชื่อเสียงในโลกโซเชียลก็ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้เช่นกัน เช่น ขนเพ็ชร, สิตางศุ์ สะบัดต่อไม่รอแล้วนะ, หนูรัตน์ เป็นต้น
โดยพชร์ อานนท์ เผยว่าอยากจะทำภาพยนตร์ที่ทันต่อยุคต่อสมัย เพราะสังคมเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และอีกอย่างถือเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ เพราะแต่ละปีมีอะไรเกิดขึ้น ก็จะอยู่ในภาพยนตร์หอแต๋วแตกหมด ซึ่งในภาพยนตร์เป็นเพียงส่วนเล็กๆ เท่านั้น หากแต่ยังมีภาพยนตร์ที่เขาตั้งใจที่จะทำเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ด้วย เช่น ภาพยนตร์เรื่อง ‘รักเอาอยู่’ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอุทกภัยใหญ่ เมื่อปี 2554 แต่เขาบอกว่าไม่ค่อยมีใครพูดถึง เนื่องจากเป็นหนังงบน้อย แต่สนุกมาก อยากให้ไปดู