ไม่พบผลการค้นหา
นอกจากข้อกล่าวหาว่าบีบีซีเลือกปฏิบัติเรื่องค่าจ้างที่แตกต่างระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ยังมีการระบุด้วยว่าระบบบริหารจัดการภายในองค์กรของบีบีซีไม่ได้มาตรฐานด้านความน่าเชื่ปอถือ

แคร์รี เกรซี บรรณาธิการอาวุโสของบีบีซีประจำประเทศจีน ลาออกจากตำแหน่งเพื่อประท้วงความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ในองค์กร แต่เธอยืนยันว่าจะทำงานฝ่ายข่าวต่อไป โดยจะไปเป็นผู้ร่วมดำเนินรายการของสถานีวิทยุเรดิโอ 4 ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางออกอากาศของบีบีซีที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสหราชอาณาจักร และหวังว่าบีบีซีจะปฏิรูปองค์กรให้มีความเท่าเทียมกันด้านรายได้ระหว่างบุคลากรหญิงและชาย พร้อมระบุว่านี่เป็นการต่อต้านสิ่งที่เรียกว่า "การเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ" ภายในองค์กร

เว็บไซต์เดอะการ์เดียนของอังกฤษรายงานว่า เกรซีทำงานให้กับบีบีซีมานานกว่า 30 ปี ทั้งยังเป็นผู้สื่อข่าวที่ได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถโดดเด่น และเข้ารับตำแหน่ง บก.ข่าวของบีบีซีในจีนตั้งแต่ปี 2013 จนกระทั่งได้รับตำแหน่งผู้ร่วมดำเนินรายการช่วงเช้าของเรดิโอ 4 ของบีบีซีภาษาอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม เกรซีระบุว่าบีบีซีไม่มีความคืบหน้าในการตรวจสอบและแก้ไขเรื่องช่องว่างระหว่างรายได้ โดยอ้างอิงรายงานผลตรวจสอบภายในองค์กรซึ่งบีบีซีเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว พบว่าบุคลากรที่ได้รับค่าตอบแทนสูงสุด 10 อันดับแรกของบีบีซีเป็นผู้ชายถึง 7 คน แต่มีผู้หญิงเพียง 3 คน และบรรณาธิการผู้ชายจะได้รับเงินเดือนสูงกว่าผู้หญิงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์

ผลจากการเผยแพร่รายงานในครั้งนั้น ทำให้บุคลากรของบีบีซี 40 รายร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้บีบีซีปรับปรุงแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้และการเลือกปฏิบัติอันสืบเนื่องจากเพศ และโทนี ฮอลล์ ผู้อำนวยการใหญ่ของบีบีซี ระบุว่าจะกำจัดความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ระหว่างผู้หญิงและผู้ชายให้หมดไปจากองค์กรภายในปี 2020 (พ.ศ.2563) แต่เกรซีระบุว่าบีบีซีเกิดวิกฤตความเชื่อมั่น เพราะเธอไม่มั่นใจว่าระบบการบริหารจัดการปัญหาภายในองค์กรว่ามีความน่าเชื่อถือ เที่ยงตรง หรือตรวจสอบได้จริงหรือไม่ 

ผู้ประกาศหญิงที่มีชื่อเสียงของบีบีซีในอังกฤษอย่างน้อย 3 คน ได้แก่ แคลร์ บอลดิง, เคิร์สตี วาร์ค และซาราห์ มองเทคิว ร่วมติดแฮชแท็กข้อความ #IStandWithCarrie ในทวิตเตอร์ เพื่อสนับสนุนการประท้วงของเกรซี เช่นเดียวกับผู้ที่สนับสนุนความเท่าเทียมและความเสมอภาคภายในองค์กรอีกเป็นจำนวนมากก็ติดแฮชแท็กดังกล่าวด้วย

ขณะที่เว็บไซต์เทเลกราฟรายงานอ้างอิงแถลงการณ์ของเกรซีเพิ่มเติม ระบุว่าผู้หญิงราว 200 คนเคยยื่นเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรมาก่อนแล้ว เพราะรู้สึกว่ามีการเลือกปฏิบัติด้านค่าตอบแทน แต่ผู้หญิงทั้งหมดจะได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่า "ไม่มีการเลือกปฏิบัติภายในองค์กร" จนกระทั่งรายงานเรื่องผลตอบแทนเผยแพร่ออกมาเมื่อปีที่แล้ว จึงได้เห็นว่ามีความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้เกิดขึ้นจริง 

ทีมโฆษกของบีบีซีออกแถลงการณ์ชี้แจงในเวลาต่อมา โดยยืนยันว่าค่าเฉลี่ยรายได้หรือค่าตอบแทนของบุคลากรบีบีซีที่เป็นผู้ชาย สูงกว่ารายได้ของผู้หญิงประมาณร้อยละ 9.3 เท่านั้น โดยสถิติดังกล่าวเป็นสัดส่วนที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยด้านช่องว่างทางรายได้ขององค์กรอื่นๆ ในประเทศ และบีบีซีมีกฎเกณฑ์เรื่องความเท่าเทียมกันในองค์กร หลังจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอย่างจริงจังก็สามารถสรุปได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการจงใจเลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้ บีบีซีเป็นกิจการวิทยุโทรทัศน์และสื่อสารมวลชนที่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ และมีรายได้ส่วนหนึ่งจากผู้ชมที่จ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อรับชมข้อมูลข่าวสารและรายการต่างๆ ทำให้บีบีซีเป็นองค์กรที่ต้องเปิดเผยข้อมูลการบริหารและการตรวจสอบดูแลภายในองค์กรต่อสาธารณชนด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ระหว่างบุคลากรหญิงและชายในแวดวงสื่อสารมวลชนไม่ได้เกิดขึ้นที่บีบีซีเพียงแห่งเดียว เพราะก่อนหน้านี้สถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีและสถานีโทรทัศน์แชนแนล 9 ของออสเตรเลียก็ประสบกับปัญหาเดียวกันนี้ โดยเมื่อปีที่ผ่านมา มีผู้ประกาศหญิงอย่างน้อย 2 รายลาออกจากตำแหน่ง หลังทราบข้อมูลว่าเธอได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ชายซึ่งมีตำแหน่งและประสบการณ์เท่าๆ กัน 

อ่านเพิ่มเติม: