นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักและภาวะน้ำล้นตลิ่งอาจทำให้เกิดภัยธรรมชาติได้ในหลายพื้นที่ ซึ่งทำให้นายจ้าง ลูกจ้างไม่สามารถประกอบกิจการและทำงานได้ตามปกติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว กสร. จึงได้ออกประกาศขอความร่วมมือช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ โดยขอให้นายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างที่ที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบเป็นเหตุให้เดินทางไปทำงานไม่ได้หรือมาทำงานสาย สามารถหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลาหรือเป็นความผิด และขอให้นายจ้างจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญและแก้ไขสถานการณ์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและความสูญเสีย ในส่วนของคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานขอให้ร่วมมือปฎิบัติตามแผนฉุกเฉิน ตรวจสอบเกี่ยวกับไฟฟ้า เครื่องจักร อาคารสถานที่ในสถานประกอบกิจการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายขึ้น
นายอนันต์ชัย กล่าวต่อไปว่า ขอให้คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการร่วมมือกับนายจ้างในการดูแลและสนับสนุนการจัดสวัสดิการให้ช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบภัยตามความเหมาะสม สำหรับเครือข่ายด้านแรงงานขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบและประสานงานช่วยเหลือ และขอให้นายจ้าง ลูกจ้าง และองค์การแรงงานปรึกษาหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาโดยหลักสุจริตใจและความเห็นอกเห็นใจกันเพื่อให้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ คลี่คลายและผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยดี
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยขณะนี้ นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลของพายุโซนร้อน “เซินติญ” ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มใน 27 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พิจิตร นครสวรรค์ ตราด แพร่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ระนอง เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ อำนาจเจริญ พะเยา เชียงราย กาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี บึงกาฬ สกลนคร ร้อยเอ็ด และยโสธร รวม 85 อำเภอ 302 ตำบล 1,936 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 37,659 คน 99,456 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 18 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 9 จังหวัด รวม 51 อำเภอ 246 ตำบล 1,741 หมู่บ้าน ทั้งนี้ มีประชาชนได้รับผลกระทบ 34,012 ครัวเรือน 89,068 คน