ไม่พบผลการค้นหา
‘จาตุรนต์’ ชี้ 8 ปี รัฐประหาร 57 ยิ่งนานวัน คสช.ได้ทิ้งมรดกบาปใหญ่ยิ่งชัด ออกกฎกติกาสร้างอำนาจไว้ให้ตัวเองและพวกพ้อง อุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ปลุกประชาชนเปลี่ยนกติกาใหม่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ

วันที่ 21 พ.ค. 2565 จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในวาระครบรอบ 8 ปี การก่อรัฐประหารโดย คสช.ว่า. ประเทศไทยต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการสมบูรณ์แบบอยู่นานถึง 5 ปี หลังจากนั้นก็ยังอยู่ภายใต้กฎกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การบริหารปกครองบ้านเมืองอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มบุคคลและองค์กรที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน การเลือกตั้งไม่มีความหมายอย่างในอารยประเทศ ทำให้รัฐบาลไม่ตอบสนองความต้องการหรือการเรียกร้องใดๆของประชาชนและไม่สามารถนำพาประเทศจมอยู่กับวิกฤต

แม้ว่ามีรัฐธรรมนูญบังคับใช้และต่อมาอำนาจ คสช.ก็หมดไปแล้ว แต่สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ถุกคุกคามจำกัด แทบจะไม่ต่างอะไรจากการปกครองในระบอบเผด็จการ ในขณะที่ระบบยุติธรรมของประเทศซึ่งสั่นคลอนมานับสิบปีแล้วก็กำลังอยู่ในจุดที่ตกต่ำที่สุด

นอกจากการวางระบบโครงสร้างที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่มีกลไกปกป้องคุ้มครองตัวเองให้มีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงแล้ว คสช.ยังได้ทิ้งมรดกบาปไว้ให้สังคมไทย ที่เห็นได้ชัดมากขึ้นทุกทีก็คือการที่คสช.ออกคำสั่งนับร้อยนับพันคำสั่งและการที่สนช.ออกกฎหมายนับร้อยๆฉบับด้วยกระบวนการออกกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมและมีเนื้อหาที่ล้าหลังขัดขวางการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ

น 2-3 ปีมานี้ ไม่ว่าสังคมไทยจะแตะไปที่ปัญหาไหนก็จะพบว่าระบอบเผด็จการคสช.ได้ทิ้งปัญหาไว้มากว่าที่เคยคิดกันเช่น 

 -ระบบของตำรวจที่ว่าต้องปฏิรูปกลับล้าหลังลงไปอีก

 -การกระจายอำนาจสู่ประชาชนในท้องถิ่นถอยหลังไปไม่ต่ำกว่า 20 ปี จากคำสั่งคสช.และระเบียบต่างๆ

 -ระบบโครงสร้างในการบริหารจัดการการศึกษาก็เสียหายด้วยคำสั่งคสช.และกำลังจะทำให้ล้าหลังลงไปอีกด้วยกฎหมายที่กำลังพิจารณากันอยู่

 -การประมงของไทยเสียหายมหาศาลอย่างต่อเนื่องและยากต่อการแก้ไขเนื่องจากเกี่ยวข้องกับคำสั่งและกฎหมายเป็นร้อยๆเรื่อง

 -การดูแลป่าถูกวางระบบไว้ด้วยแผนยุทธศาสตร์ คำสั่งและกฎหมายต่างๆทำให้แยกประชาชนออกจากป่าและทำให้พื้นที่ป่าของประเทศมีแต่จะลดน้อยลง

 -ระบบที่ดูแลแรงงานข้ามชาติถูกวางไว้ในทางที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการประกอบการของภาคเอกชนและต่อครอบครัวที่ต้องอาศัยแรงงานข้ามชาติ แต่ระบบนี้กลับเอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบมากกว่า

การบริหารราชการของประเทศเรานั้น ข้าราชการแต่ละหน่วยงานต่างก็ถือกฎหมายคนละหลายฉบับอยู่ในมือ เมื่อกฎหมายจำนวนมากเป็นปัญหาก็จำเป็นต้องแก้กฎหมาย แต่การแก้กฎหมายในรัฐสภาตามกติกาที่เป็นอยู่ไม่มีทางสะสางปัญหาที่ถูกสร้างไว้อย่างซับซ้อนยุ่งเหยิงได้ทันการณ์เลย

คสช.และสนช.ออกกฎหมายกองพะเนินเทินทึกในชั่วพริบตา แต่ในสมัยประชุมหนึ่งๆรัฐสภาออกกฎหมายไม่กี่ฉบับซึ่งก็ไม่แน่ด้วยว่าจะเป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์หรือไม่ด้วย

ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตในหลายด้านนี้ แต่ละประเทศต้องปรับตัวและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ประเทศไทยอยู่ท้ายแถวในการฟื้นเศรษฐกิจและในการพัฒนาประเทศอีกหลายด้าน กฎกติกาที่คณะรัฐประหารเมื่อ 8 ปีก่อนวางไว้เพื่อรักษาอำนาจไว้ในมือของตนเองและพวกพ้องกำลังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ

จาตุรนต์ กล่าวว่า ประเทศไทยจะหลุดพ้นจากวิกฤตที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้อนี้ได้ ผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลายคงต้องช่วยกันสื่อสารทำความเข้าใจให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากวิกฤตทั้งหลายมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องร่วมกับประชาชนเปลี่ยนแปลงกฎกติกาเสียใหม่ให้เอื้อต่อแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศ