ไม่พบผลการค้นหา
ปีใหม่ยังไม่ได้กลับบ้าน ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว 'ไมค์-อานนท์-เพนกวิน-ไผ่' คดี 112 ศาลเชื่อจะก่อเหตุลักษณะเดิมอีก และยังไม่มีข้อเท็จจริงที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ในชั้นนี้จึงยังไม่อนุญาตให้ประกันตัว

ช่วงบ่ายวันนี้ ศาลอาญามีนัดอ่านคำสั่งขอประกันตัว 4 ผู้ถูกกล่าวหาคดี 112 จากการทำกิจกรรม 19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 ประกอบด้วย ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา , เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หลังจากมีการนัดไต่ส่วนคำร้องขอประกันตัวไปเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่าน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่ายังมีเหตุอันควรเชื่อว่า ถ้าปล่อยตัวไป ทั้งหมดจะไปกระทำในลักษณะเดิมซ้ำอีก และยังไม่มีข้อเท็จจริงที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ในชั้นนี้จึงยังไม่อนุญาตให้ประกันตัว

อย่างไรก็ตามในการนัดไต่สวนคำร้องขอประกันตัวเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ทั้ง 4 คนได้แถลงต่อศาลในลักษณะเดียวกันว่าว่า หากได้รับการปล่อยตัวยินปฏิบัติตามเงื่อนไข 4 ข้อ คือ 1.จะไม่ก่อเหตุที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.จะไม่เข้าร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง 3.จะไม่หลบหนี และมาศาลทุกครั้ง และ4.ยินดีที่จะปฎิบัติตาม หากศาลจะให้อยู่ในเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นต้องติดต่อราชการที่ศาลหรือสถานีตำรวจ ไปเรียนหรือไปสอบ ไปรักษาตัวหรือมีเหตุอื่นโดยได้รับอนุญาตจากศาล 

ด้านกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวหลังมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว 4 แกนนำราษฎร ว่า คณะผู้พิพากษาศาลอาญาประชุมลงมติกันไม่ให้ประกันตัวทั้ง 4 คน ส่วนแนวทางสู้คดีจากนี้มี 3 แนวทางคือยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ,การยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง และสุดท้ายคือ ไม่ต้องยื่นประกันตัวเลยซึ่งให้ผู้ต้องหาทั้ง 4 คนและครอบครัวปรึกษาแนวทางร่วมกัน

ส่วนตัวในฐานะทนายความคิดว่า โอกาสจะได้การรับประกันตัวยากมาก แต่ละคนมีโทษหลายคดีต้อง หากไม่ได้รับการประกันตัวต้องถูกจองจำระหว่างต่อสู้คดีอย่างน้อย 3 ปี โดยเทียบกับคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน เมื่อปลายปี 2563 ศาลอาญากรุงเทพฯใต้นัดสืบพยานนัดแรกปี 2566 ซึ่งถือว่ายาวนานมาก ซึ่งตนต่อสู้คดีอย่างเต็มที่แล้ว หลังมีคำสั่งมาให้ประกันญาติของแกนนำราษฎรหรือ 'ราษมัม' ก็ร้องไห้ด้วยความผิดหวังและเสียใจและตนเองก็ไม่รู้จะปลอบอย่างไรด้วย 

กฤษฎา ยืนยันว่า ผู้ต้องหาคดีอาญาทุกคนควรได้รับการประกันตัว ตามรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายที่ต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นคดีร้ายแรงหรือโดนกี่คดีก็ตาม ขณะที่มีความเห็นต่างระหว่างฝ่ายอัยการกับฝ่ายทนายความจำเลย โดยฝ่ายอัยการ เห็นว่าคดีมีความร้ายแรง จึงคัดค้านการปล่อยตัวและศาลก็เห็นตาม 

ในส่วนนี้อัยการซึ่งเป็นทนายแผ่นดินควรทบทวนหลักคิดและการทำหน้าที่ของตัวเองเกี่ยวกับหลักการ สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์เมื่อยังไม่มีคำตัดสินถึงที่สุดว่ามีความผิดตามที่ถูกกล่าวหาด้วย ที่สำคัญคดีนี้ต้นหญ้ายืนยันกับผู้เกี่ยวข้องและผู้บริหารศาลอาญาหลายครั้งว่า เป็นคดีการเมือง ซึ่งราษฎรขัดแย้งกับผู้มีอำนาจรัฐ ดังนั้น รัฐบาลย่อมไม่พอใจและเอาผิดข้อหาร้ายแรง

ขณะเดียวกันสังคมก็รับรู้ว่าตำรวจในชั้นพนักงานสอบสวนมีมาตรฐานขนาดไหน ใช้ถุงดำคลุมหัวเพื่อบังคับให้ผู้ถูกกล่าวหารับสารภาพก็ทำได้ มีหลายคดีทำส่งอัยการฟ้อง และทำให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องติดคุกหลายปี เนื่องจากไม่ได้ประกันตัวระหว่างต่อสู้หรือพิจารณาคดี ก่อนที่ศาลจะยกฟ้องคดีในที่สุด อย่างเช่นคดี "เชอรี่แอน" ที่เป็นเรื่องอื้อฉาวกรณีจับแพะ