ไม่พบผลการค้นหา
แรงงานเมียนมาชุมนุมหน้าสถานทูต เรียกร้องความคุ้มครองตามสิทธิ ลั่น ค่าแรง 350 ไม่พอ เพราะเจอนายหน้าหักหัวคิว วอน 'ประยุทธ์' อย่าทิ้งกัน เพราะไม่ได้เผากรุงศรี แต่ช่วยสร้างกรุงเทพ

19 ธ.ค. เวลา 14.00 น. บริเวณด้านหน้าสถานทูตเมียนมา แรงงานชาวเมียนมาในไทย ราว 200 คน ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล (International Migrants Day) เรียกร้องสิทธิที่ควรได้รับตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 รวมถึงเรียกร้องประชาธิปไตยให้กลับคืนสู่ประเทศ นับตั้งแต่รัฐบาลเผด็จการทหาร นำโดย พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่ายน์ ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564

โดย สุรัช แกนนำผู้จัดกิจกรรม กล่าวว่า ตั้งแต่เราโดนยึดอำนาจ เราพยายามหาพื้นที่แสดงออกเพื่อให้โลกรู้ว่า เรายังสู้ เรายังไม่ยอมแพ้ ชาวเมียนมาฝ่ายประชาธิปไตยที่อยู่ในไทย เราเต็มที่กับการไล่มินอ่องหล่ายน์

และวันนี้ เรามาเพื่อย้ำข้อเรียกร้องเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ดังนี้

1. ให้ตำรวจไทยดำเนินคดีกับบริษัทนายหน้าผู้ทุจริตหลอกลวงตามกฎหมายอาญามาตรา 344 อย่างตรงไปตรงมา และกระทรวงแรงงานต้องเข้าช่วยเหลือเยียวยาแรงานที่ตกเป็นเหยื่อโดยเร็ว รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องไม่ปล่อยให้มีขบวนการข่มขู่แรงงานด้วยกฎหมายเพื่อทำการเก็บส่วย กระทำการนอกเหนือจากหน้าที่ และความถูกต้องในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งอยู่ใต้ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่

2. กรมวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ต้องมีการช่วยเหลือทางกฎหมาย จัดหาทนายให้ในการฟ้องร้อง พนักงานตรวจแรงงานต้องให้ข้อมูลกับแรงงาน อย่างครบถ้วนเพื่อให้แรงงานสามารถเรียกสิทธิประโยชน์ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ รวมไปถึงการจัดให้มีการช่วยเหลือค่าเดินทางเพื่อให้คนทำงานได้เข้าถึงกลไกกฎหมายแรงานได้ง่ายยิ่งขึ้น และเพื่อให้คนทุกกลุ่มได้รับสิทธิแรงงานกับผลประโยชน์ต่างๆ (รวมถึงประกันสังคมและเงินบำนาญตามการคุ้มครองตามกฎหมายไทยอย่างไม่เลือกปฏิบัติ

3. กรมจัดหางานต้องแก้ไขปัญหาการหลอกลวงไปค้ามนุษย์ด้วยการทำสัญญาจ้างแบบรัฐต่อรัฐ ยกเลิกระบบนายหน้าเอกชนพร้อมจัดหาการช่วยเหลือด้านภาษา ทำระบบการร้องเรียยแบบที่เดียวจบ หรือ One Stop Service โดยไม่ผลักภาระให้ผู้ร้องเรียนต้องเดินเรื่องไปกระทรวงต่างๆ หลายแห่งหลายครั้ง เร่งทำกระบวนการทำเอกสารให้เรียบง่าย ค่าธรรมเนียมย่อมเยา ทำบริการของรัฐให้เข้าถึงได้จริง

4. เอกสารที่จำเป็นต่อการจ้างงานแรงานข้ามชาติไม่ควรต้องรวมพาสปอร์ตด้วย เนื่องจากการแสดงตนซ้ำช้อนกับเอกสารอื่น ๆ อย่างใบอนุญาตทำงาน นับเป็นการสร้างอุปสรรคทางเอกสารโดยไม่จำเป็น สถานทูตต่างๆ จะต้องมีค่าธรรมเนียมที่โปร่งใสและย่อมเยา ช่วยให้แรงงานเข้าถึงและดำรงสถานะถูกต้องตามกฎหมายได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เข้าถึงการคุ้มครองตามกฎหมายได้อย่างตรงไปตรงมาอีกด้วย

สุดท้ายนี้ ขอเรียกร้องให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ใช้หลักการสิทธิมนุษยชนเป็นที่ตั้ง มิใช่ความเชื่อในลัทธิชาตินิยม มองคนให้เท่ากับคนและสร้างจิตสำนึกร่วมกันว่า เราล้วนต่างคือพี่น้องในวังวนการดิ้นรนทำงานหาเงินมาเลี้ยงชีพเฉกเช่นเดียวกัน และเราจะไม่มีวันหลุดพ้นจากปัญหาเดิม ๆ หากเราไม่ผนึกกำลังแล้วร่วมมือกันแก้ปัญหาของคน 99% ไปด้ายกัน เพื่อที่สักวันหนึ่งเส้นพรมแดนจะต้องไม่ขวางกั้นความมั่นคงในปากท้องของคนทำงาน

แรงงานเมียนมา

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงตัวเลขค่าแรงที่แรงงานข้ามชาติได้รับ สุรัช เปิดเผยว่า ค่าแรงตอนนี้ 335-350 บาท แต่เชื่อไหมว่า บางคนได้แค่ร้อยกว่าบาทเท่านั้น บางทีก็ 200 บาท คนที่ได้เต็มจำนวน 350 บาท ก็มีแต่เป็นส่วนน้อย ส่วนมากคือเราโดนหักเงินประกันสังคม แต่พบว่าบางกรณี เจ้านายเราไม่ได้ส่งเงินสมทบให้กับประกันสังคม จึงต้องไปดำเนินการทางกฎหมายฟ้องร้องกันหลายปี แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่จบ ตนจึงมองว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยต้องทำงานให้ไวกว่านี้

“มันจะมีค่ารถ ค่าห้อง ค่ากิน 350 บาท ยังไงก็ไม่พอ แน่นอนว่าอยากได้มากกว่านั้น 600-700 บาท ก็ว่ากันไป ถ้าได้ค่าแรงจำนวนเท่านั้น เราอาจจะอยู่ได้สบายสักระยะหนึ่ง เพราะอย่าลืมว่าคนที่จะหาผลประโยชน์จากเรื่องนี้ก็เยอะมาก เช่น พวกนายหน้าที่กดขี่ กินค่าหัวคิว” สุรัช ระบุ

ทั้งนี้ สุรัช ฝากข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา อย่าว่าแต่คนไทยเลยที่อดอยาก คนเมียนมาก็จะไม่มีกินเหมือนกัน เข้าใจว่าเป็นเพื่อนกับ มินอ่องหล่ายน์ แต่อย่าอวยหรือเข้าข้างกันมาก มาเข้าข้างคนเมียนมาดีกว่า เพราะพวกเราไม่ได้เผากรุงศรี แต่พวกเราสร้างกรุงเทพ อยากให้ดูแลและเห็นใจพวกเราบ้าง อย่าทิ้งพวกเรา

แรงงานเมียนมาแรงงานเมียนมาแรงงานเมียนมาแรงงานเมียนมา