ไม่พบผลการค้นหา
7 พรรคฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปซักถาม 'ประยุทธ์' กรณีกล่าวถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ ตามรัฐธรรมนูญ ��ลังนายกฯ เมินแจงกระทู้ถามสด 2 สัปดาห์ติดกันไม่เข้าใจระบบรัฐสภา ยืนยันฝ่ายค้านไม่ได้ล้มล้างรัฐบาลต้องการหาทางออกให้ประเทศ หากปล่อยไว้ไม่แจงหวั่นทำ ครม.ผิดกฎหมาย

วันนี้ (15 ส.ค.) ที่รัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านแถลงเตรียมเสนอญัตติขออภิปรายทั่วไปในการซักถามข้อเท็จจริงจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นอำนาจของสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 161 

โดยน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่ไม่เข้าตอบกระทู้สดเรื่องการถวายสัตย์ฯ ในสภา และไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะเข้าใจเองว่า เรื่องการถวายสัตย์ฯ เข้าสู่กระบวนการของผู้ตรวจการแผ่นดินไปแล้ว ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมาชี้แจงสภา ซึ่งถือเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก และสะท้อนให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังขาดความเข้าใจในระบบรัฐสภา ที่มาจากประชาชน อีกทั้ง การตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้เนื่องจากนายกรัฐมนตรีบกพร่อง และอาจผิดกฎหมาย ครม. สุ่มเสี่ยงเป็นโมฆะ จึงเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีต้องรีบมาชี้แจงต่อสภาอย่างเร่งด่วน ไม่ใช่ปล่อยปะละเลยแบบนี้

น.อ.อนุดิษฐ์ ยืนยันว่า ฝ่ายค้านไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะใช้เรื่องถวายสัตย์ฯ มาเป็นเครื่องมือในการโจมตีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลตามที่ถูกกล่าวหา แต่เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้าน หากไม่ทำหน้าที่ก็อาจถูกดำเนินการในฐานะละเว้นเช่นเดียวกัน ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจอำนาจหน้าที่ของตัวเอง และให้เกียรติกันด้วย ซึ่งฝ่ายค้านจำเป็นต้องใช้อำนาจของสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เพื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในการซักถามข้อเท็จจริงจากพล.อ.ประยุทธ์

ประชุมสภาฝ่ายค้าน อนุดิษฐ์.jpg

ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ฝ่ายค้านมีความเห็นตรงกันว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่มาตอบกระทู้ถามสดปมถวายสัตย์ฯ ถึง 2 สัปดาห์ติดกัน โดยอ้างว่าอยู่ในกระบวนการของผู้ตรวจการแผ่นดิน พรรคฝ่ายค้านมีความกังวลว่า หากปล่อยไปเช่นนี้ จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเกิดความล่าช้า และติดขัด เพราะหากคำวินิจฉัยออกมาไม่เป็นคุณต่อการบริหารราชการแผ่นดินของ ครม. ทั้งหมดก็จะมีปัญหา 

อีกทั้งช่องทางการร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นเรื่องมาตรา 231 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องดังกล่าวเป็นกระบวนการพิจารณาว่าจะส่งให้ศาลหรือไม่ และอาจล่าช้า เพราะผู้ตรวจการสามารถพิจารณาได้ในมาตรา 231 (2) ที่ส่งศาลปกครองเท่านั้น เนื่องจาก (1) ระบุไว้ว่า "บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจไม่เข้าใน (2) ซึ่งการกระทำที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ กรณีถวายสัตย์ฯ จะไปเข้าในข้อ (2) ที่ว่า กฎ หรือคำสั่งหรือการกระทำอื่นใด ของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีปัญหาเดี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง และให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง

"พรรคร่วมฝ่ายค้านได้หาทางออกให้กับรัฐบาล เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ ให้เดินได้ เพราะหลังจากการเลือกตั้งมาจนถึงวันนี้ ยังไม่มีการบริหารนโยบายอะไรที่เป็นรูปธรรม" นายจิรายุ ระบุ

ประชุมสภาฝ่ายค้าน อนุดิษฐ์.jpg

ด้านพล.ท.พงศกร รอดชมภู ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ยืนยันว่า สิ่งที่ฝ่ายค้านทำไม่ใช่การล้มล้างรัฐบาล การที่มีการแถลงนโยบายโดยไม่บอกแหล่งทุนอย่างชัดเจน ว่าจะหาเงินทุนรายได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ฝ่ายค้านกำลังให้คำแนะนำเพื่อให้เดินหน้าต่อไป ถ้าคลุมเครือการลงทุนจากต่างประเทศก็ไม่มี "ได้รัฐบาลที่สง่างาม น่าเชื่อถือ" 

ทั้งนี้ นายสุทิน คลังแสง กล่าวว่า พรุ่งนี้ (16 ส.ค.) เวลา 08.00 น. นัดหมายนายชวน หลักภัย ประธาสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และนายชวน จะมารับด้วยตัวเอง ต่อจากนี้เราจะให้สมาชิกมาลงชื่อ หัวหน้าพรรค 7 พรรค จะลงนาม จะลงชื่อกันทุกคน น่าจะ 246 ครบทุกคน

ส่วนข้อบังคับของสภาที่ยังไม่เสร็จ ก็ไม่ได้รองรับไว้เรื่องนี้ ซึ่งอาจจะล่าช้า เพราะรอข้อบังคับ วันนี้น่าจะแล้วเสร็จ ด้านกระบวนการทั้งหมด สัปดาห์หน้าจะเรียบร้อย เรื่องนี้เทียบเคียงได้กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะไปต่อวาระอื่นอีกไม่ได้ นายสุทินย้ำว่า อยากทำให้แล้วเสร็จก่อนการอภิปรายงบประมาณ เพราะไม่อย่างนั้นอาจเกิดปัญหาตามมา โดยตั้งใจอยากให้เรื่องนี้ต่อจากเรื่องข้อบังคับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประธานสภาผู้แทนราษฎร

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปฏิเสธที่จะกล่าวถึงกรณีที่ 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน เตรียมเสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีที่นายกรัฐมนตรี กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ และในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภานั้น รัฐบาล ไม่มีการระบุที่มารายได้ที่จะนำมาดำเนินโนบายต่าง ๆ โดยระบุเพียงว่า ยังไม่เห็นญัตติดังกล่าวของฝ่ายค้าน จึงยังไม่ขอออกความเห็นใด ๆ หรือจะบรรจุญัตติเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเลยหรือไม่