ไม่พบผลการค้นหา
เปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายกรณีการถวายสัตย์ปฏิญานไม่ครบ "ชวน หลีกภัย" นั่งประธาน ยืนยันญัตติไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ นายกฯ เข้าร่วมรับฟัง หลังเสร็จภารกิจช่วงเช้า พท.-อนค. บี้ ‘ประยุทธ์’ ลาออกรับผิดชอบ ลั่นรัฐบาลไม่ทำตามกฎหมาย ด้าน ‘ปิยบุตร’ ขอ ‘วิษณุ’ กลับมาเป็นที่ปูชนียบุคคลทางกฎหมายเหมือนเดิม

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เริ่มเมื่อเวลา 09.40 น. โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร แจ้งต่อที่ประชุมกรณีนายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจากตำแหน่ง โดยให้นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ กล่าวคำปฏิญาณตนเลื่อนขึ้นเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเข้าเป็นกรรมาธิการการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน แทนที่นายกรณ์ จาติกวณิช ที่ลาออกจากกรรมาธิการ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาถึงที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร์ ตั้งแต่เวลา 09.40 น. โดยยังไม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ประเด็นถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วน นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ได้ขอหารือ โดยยกคำชี้แจงของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่รับกรณีนี้ไว้วินิจฉัย เนื่องจากเป็นการกระทำทางการเมืองของคณะรัฐมนตรี และในการถวายสัตย์ปฏิญาณตน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานพระราชดำรัส และพระราชทานพระราชหัตถ์ให้ในภายหลัง

จากนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระ ซึ่งเป็นการอธิบายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 แม้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว แต่สภาผู้แทนราษฎรได้หารือกับฝ่ายกฎหมายและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และมีความเห็นร่วมกันเป็นเอกฉันท์ว่าญัตติไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยผู้เสนอญัตติมีสิทธิ์ที่จะสอบถามข้อเท็จจริงและเสนอคำแนะนำ จึงอนุญาตให้มีการบรรจุญัตตินี้

นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นมาประท้วงว่า "ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีอำนาจตรวจสอบ แล้วเป็นแค่ประธาน" จากนั้นถูกปิดไมค์ไป ขณะที่นายวีระกร ก็แสดงความเป็นห่วงว่า การดำเนินการของสภาผู้แทนราษฎรและการอภิปรายจะขัดต่อกฎหมาย ซึ่งนายชวนชี้แจงว่า กรณีนี้ไม่ผูกพันต่อสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่ง แต่ไม่ได้เป็นคำวินิจฉัยชี้ขาด จึงไม่ได้ทำให้ญัตติต้องตกไป โดยการอภิปรายก็ใช้สิทธิ์เพียงให้คำแนะนำ

ขณะที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล กล่าวขอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า ขอให้การอภิปรายวันนี้จบภายในเวลา 16.00 น. จากนั้นประธานสภาผู้แทนราษฎรกำชับกฎเกณฑ์ในการอภิปรายให้เป็นไปตามข้อบังคับ

สมพงษ์

จากนั้นนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดอภิปรายโดยย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำถวายสัตย์ปฏิญาณตน โดยต้องเป็นไปตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ แต่กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณตนของพลเอกประยุทธ์ไม่ครบถ้วนถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ จึงมีปัญหาเรื่องความครบถ้วนถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายฝ่ายก็เสนอทางออก แต่นายกรัฐมนตรีก็ยังเพิกเฉย จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่ต้องเปิดอภิปราย

นายสมพงษ์ ยังย้ำถึงหลักการของการถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อหน้าสถาบันอันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ เพื่อเป็นการยืนยันถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ถวานสัตย์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณตนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 บัญญัติไว้ จะกล่าวยาวกว่าหรือน้อยกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ไม่ได้ และอิงจากข้อความในหนังสือที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยเขียนในหนังสือ ว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณตน จะต้องเป็นวาจาด้วยถ้อยคำที่กฎหมายกำหนด

นายสมพงษ์ ย้ำว่า ถ้อยคำ "ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติการซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" เป็นถ้อยคำที่ขาดไปแต่สำคัญอย่างยิ่งยวด แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีไม่ได้กล่าวถ้อยคำนี้ จึงถือเป็นการกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ซึ่งพลเอกประยุทธ์เองก็เคยผ่านการถวายสัตย์ปฏิญาณตนมาหลายรอบ แต่มีเจตนาใดที่ถวายสัตย์ปฏิญาณตนครั้งนี้ไม่ครบถ้วน เหตุใดจึงไม่ใช้เอกสารที่สำนักนายกรัฐมนตรีจัดเตรียมไว้ให้

นายสมพงษ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ฝ่ายค้านเห็นว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างนโยบายการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานและโครงสร้างคมนาคม ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินมหาศาล แต่ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดถึงงบประมาณในการดำเนินนโยบาย

นายสมพงษ์ ยังกล่าวสรุปย้อนไปถึงพฤติกรรมที่ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่การฉีกรัฐธรรมนูญด้วยการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ทั้งการถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนและการไม่ชี้แจงรายละเอียดงบประมาณในการดำเนินนโยบาย ถือเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้ง

"นายกฯ พร้อมครม.กระทำผิดพลาดและฝ่าฝืนตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการถวายสัตย์ที่ไม่ครบถ้วนและไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ บทเรียนที่เกิดขึ้นครั้งนี้กระผมต้องขอเรียนว่า ท่านนายกฯเป็นผู้นำของประเทศได้แสดงถึงความไม่มีวุฒิภาวะ ไม่ยินยอมรับฟังจากผู้หวังดีทุกฝ่าย ไม่ยอมรับรู้ว่าตนเองทำสิ่งใดผิด สิ่งใดถูกและจะแก้ไขให้ถูกต้องอย่างไร ได้ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นลูกโซ่ ทำให้ประเทศขาดความเชื่อมั่น เพราะมีความจงใจกระทำผิดรัฐธรรมนูญที่เป็นหลักกฎหมายสำคัญของบ้านเมืองอยู่เสมอ เมื่อความเชื่อมั่นไม่เกิดความยอมรับนับถือไม่มี" นายสมพงษ์ ระบุ

ประยุทธ์ ปิยบุตร รัฐสภา ถวายสัตย์ humb หลัก 180919.jpg


เพื่อไทยลั่นรัฐบาลไม่ทำตามกฎหมาย

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ ส.ส. กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำวินิจฉัยก็ยุติลงไปในชั้นของศาล แม้จะมีคำสั่งมาแล้ว แต่ไม่เกี่ยวข้องและไม่ได้ผูกพันกับการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ตรวจสอบทางกฎหมาย แต่สภาทำหน้าที่ตรวจสอบทางการเมือง และไม่มีบทบัญญัติใดๆ ที่ห้ามไม่ให้สภามีความเห็นในเรื่องนี้ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีนำการถวายสัตย์ฯ และตัดถ้อยคำท่อนสุดท้ายออกไป ทำให้มีคำถามว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 161 หรือไม่ และการถวายสัตย์เป็นพิธีกรรมอย่างเป็นทางการ หากยังถวายสัตย์ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ก็ยังเข้ารับหน้าที่ไม่ได้ ตนเห็นว่ากิจการหลังจากนั้นของรัฐบาลก็อาจจะไม่สมบูรณ์ พวกตนไม่อาจปล่อยเรื่องนี้ให้ผ่านไปได้ เพราะการให้คำมั่นสัญญาต่อประชาชนก่อนการเข้ารับตำแหน่งเป็นพิธีกรรมสากล เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นแล้วในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็ต้องปฏิญาณตนใหม่ ในทางสังคมและศาสนา หากการให้คำมั่นสัญญาระหว่างสองฝ่ายกระทำไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ก็ต้องแก้ไข

ยกตัวอย่างเช่นการกู้ยืมเงิน หากทำสัญญาไม่ครบก็จะไม่สามารถนำมาฟ้องร้องเอาความผิดได้ เป็นต้น และหากตัดท่อนสุดท้ายในการถวายสัตย์ออกไป อาจตีความได้หลายอย่าง เช่น ครม. อาจไม่เคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหรือไม่? หรือไม่จำเป็นต้องทำตามนโยบายที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่? เพราะทั้งหมดคณะรัฐมนตรีไม่เคยสัญญาว่าจะทำตามรัฐธรรมนูญ และคนที่จะเสียหายคือประชาชน ดังนั้นการให้สัญญาว่าจะรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการย่อมสำคัญอย่างยิ่ง เพราะแบ่งตามเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ ท่อนสุดท้ายย่อมมีความหมายผูกพันตามเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 3 ข้อคือ คุ้มครองสิทธิหน้าที่ของประชาชน, ทำตามแนวนโยบาย, และทำตามหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นประชาชนจะไว้วางใจให้คณะรัฐมนตรีบริหารประเทศได้หรือไม่ เหมือนคนมาสู่ขอลูกสาว สัญญาว่าจะรัก แต่ไม่รับปากว่าจะดูแล คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็คงจะไม่ยกลูกสาวให้ ตนจึงมีข้อเสนอแนะทางออกคือ นายกรัฐมนตรีต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองตามปกติของนานาอารยประเทศ คือ การลาออก ท่านเพียงใช้ความกล้าหาญลุกขึ้นลาออก แล้วแสงสว่างจะเกิดขึ้นกับประเทศชาติของเราทันที

ขณะที่นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย อภิปรายโดยยกความเห็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ว่าอย่าเอาพระราชดำรัสตีความเป็นพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับกระบวนการถวายสัตย์ปฏิญาณตน และเรียกร้องไปถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งกระทำการขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง ควรลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อรักษามาตรฐานจริยธรรมของผู้นำประเทศ

ปิยบุตร-หลังม่านการเมือง รัฐสภา ถวายสัตย์

"ปิยบุตร" ลั่น รัฐบาลชุดนี้เป็นโรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า ตนเป็นผู้ที่เริ่มหยิบยกประเด็นถวายสัตย์ปฏิญาณขึ้นมาหารือและหาทางแก้ไขให้กับคณะรัฐมนตรี แต่ไม่ได้รับโอกาสให้อภิปรายเพียงพอ และกล่าวหาให้ตนในฐานะผู้พูดเปิดประเด็นต้องรับผิดชอบ แต่ตนไม่แน่ใจว่านายกรัฐมนตรีกล้ารับผิดชอบการกระทำของตนเองหรือไม่ เพราะหากวันนั้นยอมรับว่าถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน ปัญหาก็จะเบาบางกว่านี้ แต่เมื่อนิ่งเงียบ จนคณะรัฐมนตรีเข้าทำหน้าที่แล้ว แต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ต่างๆ ทางการเมืองแล้ว และอนุมัติงบประมาณไปแล้ว จะยิ่งเกิดปัญหาที่ตามมา ขณะที่นายกรัฐมนตรีก็หลบเลี่ยงไปมา ทำให้ตนต้องถอนกระทู้ถามสดทั้ง 2 ครั้ง จนมาถึงวันนี้

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับพิจารณาปมถวายสัตย์เรื่องจากเป็นประเด็นทางการเมือง ก็ไม่เกี่ยวกับการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ตนจึงขออภิปรายเป็น 4 ประเด็น คือ ก่อนที่ข้าราชการการเมือง ส.ส. ตุลาการ และองค์กรสำคัญๆ ก่อนจะเข้ารับหน้าที่ต้องปฏิญาณตนทั้งสิ้น เพราะการถวายสัตย์ปฏิญาณ คือเงื่อนไขบังคับก่อนเข้ารับหน้าที่ หากไม่ปฏิญาณก็ไม่มีการเข้ารับหน้าที่และเพื่อให้มีเส้นแบ่งให้ชัดว่าคณะรัฐมนตรีชุดเก่าจะสิ้นสุดการทำงานเมื่อไหร่ และชุดใหม่เริ่มเข้ารับหน้าที่เมื่อไหร่, การถวายสัตย์คือการยืนยันหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” จึงเป็นถ้อยคำสำคัญที่ทุกองค์กรต้องปฏิญาณ, และเป็นการให้คำสัญญากับพระมหากษัตริย์และประชาชน อีกทั้งการถวายสัตย์ที่ต้องมีถ้อยคำเหมือนกันคือเพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอกันทุกคณะรัฐมนตรี เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และรักษารัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้เมื่อตนกลับไปย้อนดู พล.อ.ประยุทธ์ เคยทำรัฐประหาร และเข้ารัฐตำแหน่งเป็นนากยรัฐมนตรี และนำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนมาแล้ว 5 ครั้ง โดย 4 ครั้งกล่าวครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญปี 2557 และครั้งที่ 5 กล่าวตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งกล่าวตามบัตรแข็งที่สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แต่ครั้งล่าสุดที่กล่าวคำปฏิญาณไม่ครบ ไม่ได้ใช้บัตรแข็งจากสำนักงานเลขาธิการฯ แต่กลับหยิบมาจากกระดาษแข็งที่กระเป๋าเสื้อ และหากในอนาคตนายกรัฐมนตรีน้ำรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาถวายสัตย์ปฏิญาณ หรือองค์กรอื่นๆ เข้าถวายสัตย์ ไม่ต้องกล่าวให้ครบก็ได้หรือ? เป็นอาการของ ‘โรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ’ ไม่ได้มองว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดจริงๆ แต่มองว่าเป็นเครื่องมือในการปกครอง อะไรที่ท่านไม่ได้ประโยชน์ก็จะไม่อ้างรัฐธรรมนูญ ถ้าอะไรมรีประโยชน์ถึงจะอ้างรัฐธรรมนูญ พฤติกรรมเหล่านี้ ท่านแสดงให้เห็นว่าพอใจก็ใช้รัฐธรรมนูญ ไม่พอใจก็ฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 และใช้ 2557 เพื่อให้ตนเองมีอำนาจ แล้วเขียนรัฐธรรมนูญฉบับบ 2560 ซึ่งท่านเองก็ทำไม่ได้ ในขณะที่คนอื่นต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แต่ตนเองไม่ต้อง

ทั้งยังกล่าวว่าวันหนึ่งจะรู้เองว่าทำไมไม่ตอบเรื่องปมถวายสัตย์ แสดงให้เห็นถึงการขาดความเป็นผู้นำ ไม่แสดงความรับผิดชอบ และทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยทั้งต่อตัวรัฐบาลและการพระราชทานพระบรมราชโอการ คำถามคือนายกรัฐมนตรีเตรียมคำถวายสัตย์มาเองและจงใจเตรียมคำถวายสัตย์ใหม่มาหรือไม่ และเหตุใดจึงไม่ใช้คำถวายสัตย์ตามบัตรแข็งที่สำนักเลขาธิการฯ เตรียมไว้ให้ และหากมีรัฐมนตรีคนใดลาออก จนต้องถวายสัตย์ปฏิญาณตนใหม่ จะปฏิญาณตามรัฐธรรมนูญหรือตามแบบเดิมที่ไม่ครบถ้วน และหากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนได้หรือไม่ และถามนายวิษณุ เครืองาม ที่ทำงานกับคณะรัฐมนตรีมา 11 ชุด ท่านเคยเห็นนายกรัฐมนตรีคนใดทำแบบพลเอกประยุทธ์ หรือไม่ และทำได้หรือไม่ ตนจึงอยากเสนอให้นายวิษณุ กลับมาเป็นอาจารย์คนเดิม เป็นปูชนียบุคคลทางกฎหมาย หยุดให้ความช่วยเหลือ พล.อ.ประยุทธ์ ทางกฎหมาย และเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :