ไม่พบผลการค้นหา
ขณะเศรษฐกิจเสียหายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างต่ำเดือนละ 150,000 ล้านบาท ขบวนการได้มาซึ่งวัคซีนเต็มไปด้วยข้อกังหาแบบไร้ความจำเป็น

เวลาล่วงเลยมาเกิน 1 ปีเต็ม โควิด-19 ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมอีกต่อไป เช่นเดียวกับภาวะอดหลายมื้อกินมื้อเดียว เพราะต่อให้รัฐบาลปล่อยมาตรการเยียวยามามากแค่ไหน ก็ยังเป็นทางออกที่ตื้นเขินเกินไปสำหรับประชาชน

ไทยต้องเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้งคือคำตอบที่ทุกฝ่ายทราบดี โดยเฉพาะฝั่งรัฐบาล แม้ยังไม่อาจกลับไปแตะสถิติตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉียด 40 ล้านคน/ปี ในเร็ววัน 

การได้เม็ดเงินบางส่วนเข้ามา เป็นยิ่งกว่าน้ำที่มาช่วยให้อุตสาหกรรมที่กำลังจะขาดใจตายได้แหวกว่ายเอาตัวรอดอีกครั้ง แม้รายงานจากดีลอยต์ฉบับ ก.พ. 2564 ชี้ว่า ไทยอาจต้องใช้เวลา 2-3 ปี เพื่อดึงตัวเลขนักท่องเที่ยวกลับไปเท่าช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2564 ประมาณการตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ราว 4 ล้านคน 

ศักดิ์สยาม ตรวจศูนย์โควิด-นักท่องเที่ยว-สนามบิน-สุวรรณภูมิ-หน้ากากอนามัย


สูญ 1.5 แสนล้าน - ตกงานอีกไม่รู้กี่คน

ไทยมีรายได้เฉลี่ยจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เดือนละไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ในปี 2562 ก่อนมีโควิดนั้น ตัวเลขเฉลี่ยขึ้นมาสูงถึง 159,000 ล้านบาท/เดือน 

26 มี.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรไทย

นับแต่นั้น ตามสถิติจากธนาคารแห่งประเทศไทย ตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคงตัวเป็นศูนย์เรื่อยมา หรือหมายถึงเม็ดเงินราว 1.5 ล้านล้านบาท (คำนวณจากค่าเฉลี่ยรายได้ที่ 150,000 ล้านบาท/เดือน โดยนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2563 - ม.ค. 2564)

ตัวเลขมหาศาลที่ดูล่องลอยในอากาศเหล่านี้หมายถึงสถิติประชาชนที่ต้องขอรับความช่วยเหลือจากสิทธิประกันสังคม ตามมาตรา 33 เมื่อถูกออกจากงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไปแตะทะลุ 4% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในระบบประกันสังคม ขณะที่ตัวเลขก่อนวิกฤตเฉลี่ยเพียง 1.4% เท่านั้น 

ทั้งนี้ แรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ติดเป็นเพียง 31% ของแรงงานในประเทศทั้งหมด ในปี 2563 ไทยมีประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปทั้งหมด 56.8 ล้านคน คิดเป็นกำลังแรงงานรวม 38.5 ล้านคน และคิดเป็นผู้ว่างงาน 650,000 คน 

เพื่อช่วยแรงงานเหล่านี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศมีผล แต่ไม่เพียงพอ ย้อนกลับไปดูตัวเลขค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวชาวไทย/คน/วัน ในปี 2562 พบว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2,900 บาท ขณะนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉลี่ยอยู่ที่ 6,000 บาท ต่างกัน 52% 

ขณะที่ฝั่งการช่วยเหลือผู้ประกอบการ แม้จะมีข้อเรียกร้องมาตั้งแต่เริ่มต้นว่าโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมีข้อจำกัดสูงเกินจนผู้ประกอบการเข้าไม่ถึงสินเชื่อช่วยเหลือตรงนั้น และปัจจุบันจากวงเงินทั้งหมด 500,000 ล้านบาท สามารถปล่อยออกไปได้จริงเพียง 130,384 ล้านบาท ตามข้อมูล ณ 1 มี.ค. 2564 


วัคซีนจำเป็นทั่วโลก

เงื่อนไขสำคัญที่จะเปิดเศรษฐกิจได้คือการทำให้มั่นใจว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส วัคซีนจึงเป็นคำตอบสำคัญและคำตอบเดียว ไม่เพียงแค่กับประเทศไทย แต่กับทั่วโลก 

ตัวเลขจาก RAND สถาบันวิจัยเชิงนโยบายพบว่า หากไม่สามารถกระจายวัคซีนโควิด-19 ได้ทั่วถึง โลกจะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 104 ล้านล้านบาท เพราะมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมมีต้นทุนเศรษฐกิจที่ต้องจ่ายสูง

วัคซีน โควิด ซิโนแวค   7285223086494807_n.jpg

หากไปตกในกรณีว่า ประเทศรายได้สูงสามารถจัดหาวัคซีนให้กับพลเมืองตัวเองได้ แต่ประเทศยากจนเข้าไม่ถึงวัคซีน เศรษฐกิจโดยรวมของโลกจะยังได้รับผลกระทบสูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี หรือประมาณ 36 ล้านล้านบาท 

แม้แต่การปล่อยให้ประเทศยากจนแร้นแค้นมากๆ ไม่ได้รับวัคซีน ขณะที่ประเทศสถานะอื่นๆ ได้รับวัคซีนแล้วนั้น ยังสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/เดือน หรือ 300,000 ล้านบาท/เดือน อยู่ดี 

ขณะวิจัยอีกฉบับซึ่งสอดคล้องกันพบว่า หากประเทศพัฒนาแล้วไม่กระจายวัคซีนอย่างเป็นธรรมและปล่อยให้มีการฉีดวัคซีนในประชากรของประเทศพัฒนาแล้วเพียงครึ่งหนึ่งภายในกลางปี 2564 เศรษฐกิจโลกจะถูกทำให้เสียหายถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 122 ล้านล้านบาท

"ไม่มีเศรษฐกิจใดในโลกอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว" เศรษฐกิจโลกจะกลับมาได้ แปลว่าเศรษฐกิจทุกประเทศต้องกลับมาด้วย 


ข้อกังขาวัคซีนไทย

สำหรับประเทศไทยที่เศรษฐกิจเสมือนขึ้นอยู่กับภาวะเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายของกระบวนการได้มาซึ่งวัคซีน 63 ล้านโดส สำหรับประชากร 31.5 ล้านคน 

ข้อกังขามีตั้งแต่ ทำไมวัคซีนของไทยจึงล่าช้าและสับสนอย่างไร้ความจำเป็น รัฐบาลไม่เคยยอมรับว่าคาดการณ์สถานการณ์การแพร่ระบาดไม่ดีพอ จึงสั่งวัคซีนรอบแรกเพียง 26 ล้านโดส ใต้วงเงิน 6,049 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมประชากรเพียง 13 ล้านคน (1 คนต้องฉีด 2 โดส) เท่านั้น 

เมื่อเกิดคลัสเตอร์จากแรงงานข้ามชาติที่มีผลมาจากความหละหลวมของเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนไม่ได้รับรู้อย่างตรงไปตรงมาว่าค่าใช้จ่ายเพื่อสั่งซื้อวัคซีน 2 ล้านโดส จากริษัทซิโนแวค ไบโอเทค จำกัดของประเทศจีน มาด้วยต้นทุนสูงลิ่ว โดสละ 17 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 511 บาท/โดส) ขณะวัคซีนแอสตราเซเนการอบที่สั่ง 26 ล้านโดส มีราคาประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ/โดส หรือประมาณ 150 บาท 

เมื่อไทยตกขบวน COVAX ซึ่งเป็นโครงการวัคซีนเสมอภาคขององค์กรพันธมิตรทั่วโลกด้านวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันโรคและองค์การอนามัยโลก (WHO)

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ออกมาอธิบายว่า เนื่องจากไทยไม่ได้เป็นประเทศฐานะยากจน จึงไม่อาจรับวัคซีนได้ฟรีเหมือน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ หรือเวียดนาม หากต้องการเข้าร่วม ต้องเสียทั้งค่าธรรมเนียมและค่าประกันความเสี่ยง ซึ่งจะเป็นต้นทุนสำคัญทางราคาที่ประเทศต้องจ่าย รวมถึงยังต้องจ่ายเงินมัดจำก่อน แม้วัคซีนบางชนิดอาจพัฒนาไม่สำเร็จ 

มองในมิติข้างต้น กลุ่มผู้กำหนดนโยบายดูมีความใส่ใจกับเม็ดเงินภาษีของประชาชนที่ต้องเสียไปอย่างยิ่งยวด ทว่า หากเห็นแก่ประชาชนเช่นนั้นแล้ว เหตุใดการนำเข้าวัคซีนถึงผูกติดอยู่กับวัคซีนแบรนด์เดียวอย่างแอสตราเซเนกาตั้งแต่ต้น 

ย้อนกลับไปก่อนเกิดคลัสเตอร์ น.พ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัทธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) เผยกับ 'วอยซ์' ว่าพยายามนำเข้าวัคซีนจากซิโนแวคเพื่อเข้ามาทดลอง แต่ถูกปฏิเสธ คล้ายคลึงกับโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ ที่หาทางนำวัคซีนแบรนด์อื่นเข้ามาแต่ติดขัดไปหมด

ประยุทธ์ วัคซีนซิโนแวค sinovac

เมื่อมาถึงวันที่วัคซีนเดินทางถึงไทย และถูกสั่งระงับอีกครั้งจากผลข้างเคียงลิ่มเลือด กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่าที่สั่งหยุดฉีดวัคซีนชั่วคราวเป็นเพียงการตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยของคนไทยราว 1-2 สัปดาห์เท่านั้น

คำถามจึงกลับไปอีกว่า หากเพื่อผลประโยชน์ของคนไทยจริง เหตุใดจึงคิดเผื่อผลข้างเคียงเหล่านี้ไว้ไม่ได้ตั้งแต่ต้น การฉีดวัคซีนที่ยิ่งล่าช้าออกไป ยิ่งหมายถึงชีวิตประชาชนที่ยากจนลง เหตุใดรัฐบาลที่บอกว่าตนเองเป็นห่วงประชาชนทุกฝีก้าว ถึงพาประเทศมาติดหล่มเช่นนี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;