กระแสชาวเมียนมาที่เคลื่อนไหวผ่านโลกโซเชียลมีเดียแสดงอารยะขัดขืนในหลากรูปแบบวิธีตั้งแต่การเคาะตีภาชนะ ไปจนถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ แสดงจุดยืนไม่ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร กระทั่งล่าสุดที่แม้กองทัพเมียนมาพยายามปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพื่อสกัดความเคลื่อนไหวต่อต้าน แต่ก็ไม่อาจหยุดให้ชาวเมียนมาจำนวนหลายพันคน ออกมารวมตัวชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในรอบ 14 ปี ในหลายเมืองทั่วประเทศตั้งแต่นครย่างกุ้ง กรุงเนปิดอว์ ถึงเมืองมัณฑะเลย์ พร้อมบีบแตรรถยนต์ เดินขบวนชูสัญลักษณ์ รวมถึงโบกธงสีแดงอันเป็นสัญลักษณ์ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี แสดงให้เห็นถึงพลังของชาวเมียนมาที่ไม่ยอมกลับเข้าสู่วังวนของเผด็จการทหารอีกครั้ง หลังประเทศเริ่มเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตยได้เพียงไม่กี่ปี
"เราจะเดินหน้าเรียกร้องต่อไปจนกว่าจะมีประชาธิปไตย" เมียววิน หนึ่งในผู้ประท้วงที่นครย่างกุ้งเผยกับเอเอฟพี เช่นเดียวกับ จีผิ่วจอ หนึ่งในนักศึกษาหญิงที่ร่วมเคลื่อนไหวเผยว่า เธอรังเกียจรัฐประหารและไม่กลัวการปราบปราม และจะเคลื่อนไหวจนกล่าวอองซาน ซูจี จะได้รับการปล่อย เป็นเพียงเสียงสะท้อนหนึ่งของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเมียนมาที่ยืนหยัดไม่ยอมกลับสู่วงวนรัฐบาลทหารอีกครั้ง
ถั่น มินอู (Thant Myint-U) อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ อดีตเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ และผู้ประพันธ์หนังสือ The River of Lost Footsteps: A Personal History of Burma ผู้เป็นหลานของ 'อู ถั่น' (U Thant) อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติคนที่สาม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงมุมมองถึงสถานการณ์การเมืองในเมียนมาหลังกองทัพยึดอำนาจพรรคเอ็นแอลดีของอองซานซูจี ซึ่งทำให้เส้นทางประชาธิปไตยของเมียนมาต้องสะดุดลงว่า "ด้วยกระแสการประท้วงต่อต้านรัฐประหารที่เพิ่มขึ้น เราสามารถจินตนาการถึงปฏิกิริยาที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ทว่าสังคมเมียนมายุคนี้ ต่างอย่างสิ้นเชิงกับสังคมในปี 2531 และ 2550 ผมมีความเชื่ออย่างมากต่อคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน อะไรก็เกิดขึ้นได้"
อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์เชื้อสายเมียนมา กล่าวถึงการเปรียบเทียบสังคมเมียนมาในช่วงเหตุการณ์เคลื่อนไหวการเมืองสองเหตุการณ์คือ เหตุก่อการกำเริบ 8888 หรือ 8888 Uprising เมื่อปี 2531 ซึ่งจบลงด้วยการปราบปรามด้วยความรุนแรง มีรายงานผู้เสียชีวิตที่อาจถึงหลักหมื่นคน และเหตุการณ์ปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์ ในปี 2550 ที่จบด้วยการปราบปรามรุนแรงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้กองทัพจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่โพสต์ข้อความทั้งภาษาพม่าและภาษาอังกฤษของถั่น มินอู ได้รับการแชร์อย่างแพร่หลายในหมู่ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียชาวเมียนมา
อ่านเพิ่มเติม