ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง สั่งไม่รับคำฟ้องของคณะราษฎรไทยแห่งชาติ กับพวกรวม 34 คน ที่ยื่นฟ้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากแต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง
โดย ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของทั้ง คสช.และนายกฯ เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 โดยมีบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้การรองรับ ซึ่งผู้ถูกร้องทั้งสองถือเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และการตั้งกรรมการสรรหา ส.ว.เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยตรงเพื่อสรรหาบุคคลไปทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ กรณีนี้จึงไม่ใช่ข้อพิพาทจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง
ส่วนที่อ้างว่า ศาลปกครองกลาง ไม่เรียกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสรรหา ส.ว.มาพิจารณาก่อนที่จะมีคำสั่งยกฟ้องนั้น ก็รับฟังไม่ได้ เนื่องจากตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2553 ข้อ 54 กำหนดให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้หน่วยงานหรือบุคคลส่งเอกสารหลักฐานได้ แต่เป็นดุลพินิจของศาลจะพิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการหรือไม่
ซึ่งในกรณีนี้เมื่อศาลไม่รับคำร้องไว้พิจารณา จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่ศาลจะต้องเรียกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสรรหา ส.ว.ตามที่ร้องขอ เช่นเดียวกับกรณีที่ขอให้นำเรื่องนี้เสนอต่อประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดนั้น ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 กำหนดให้เป็นอำนาจของประธานศาลปกครองสูงสุดใช้ดุลพินิจว่าจะนำเรื่องใดเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด จึงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของทั้งตุลาการ และผู้ร้องจะมีสิทธิเสนอต่อประธานศาลปกครองสูงสุดได้
อ่านเพิ่มเติม