ไม่พบผลการค้นหา
สรรพากร-สมาคมธนาคารไทยได้ข้อสรุปปมภาษี-ข้อมูลรายได้ดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ เตรียมออกประกาศใหม่ ยันเจ้าของบัญชีเงินฝากที่ไม่ประสงค์ให้แบงก์แจ้งข้อมูลสรรพากร จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี และต้องแจ้งแบงก์ทุกรายที่มีบัญชีภายในวันที่ 7 พ.ค. เป็นต้นไป

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า จากกรณีสิทธิลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยของประชาชนล่าสุด กรมสรรพากรได้พุดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อกำหนดแนวทางการส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้แก่กรมสรรพากร 

โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปที่จะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ฝากเงินมากที่สุด โดยธนาคารจะนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยแก่กรมสรรพากร แต่หากผู้ฝากเงินไม่ประสงค์จะได้รับยกเว้นภาษี ต้องแจ้งแก่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยไม่ให้นำส่งข้อมูล ซึ่งธนาคารจะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยดังกล่าวไว้ในอัตราร้อยละ 15 ทั้งนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว

ทั้งนี้ ประกาศใหม่ของกรมสรรพากร จะไม่ทำให้การส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของลูกค้าธนาคารพาณิชย์ ที่ผู้ฝากมีรายได้ดอกเบี้ยรวมกันทุกบัญชีไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ได้รับผลกระทบหรือต้องเสียภาษีร้อยละ 15 เนื่องจากประกาศใหม่ กรมสรรพากรจะให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทุกบัญชีมาให้กรมสรรพากรประมวลผล หากผู้ที่มีรายได้ดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาท ก็ไม่มีภาระต้องเสียภาษี แต่หากมีรายได้ดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาท ทางสรรพากรจะส่งข้อมูลกลับไปให้ธนาคารพาณิชย์หักดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 15 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ต้องส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของผู้ฝากให้กรมสรรพากรอยู่แล้ว แต่ส่งเป็นเอกสารกระดาษไปในแต่ละพื้นที่ของกรมสรรพากรที่รับผิดชอบอยู่ แต่ระบบใหม่ จะให้ส่งเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาที่ระบบกลางของกรมสรรพากรประมวลผล ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากกว่า 

ดังนั้น ผู้มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องแจ้งธนาคารว่าให้ยินยอมส่งข้อมูลให้เกิดความยุ่งยากเหมือนประกาศเก่า ยกเว้นผู้ฝากเงินที่ไม่ต้องการให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้กรมสรรพากร ก็ไปแจ้งกับธนาคารได้ แต่ธนาคารต้องหักดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ตั้งแต่บาทแรกให้กรมสรรพากร 

info ดอกเบี้ย 20,000

ด้าน นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับลูกค้าที่ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าว และไม่ต้องการให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้กรมสรรพากร ต้องกรอกแบบฟอร์มเพื่อแจ้งความประสงค์ที่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยที่ลูกค้ามีบัญชีให้ครบทุกธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป โดยการแจ้งครั้งเดียวจะมีผลตลอดไป จนกว่าลูกค้าจะมาแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น

ทั้งนี้ ลูกค้าที่มาแจ้งภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 จะมีผลตั้งแต่รอบภาษีดอกเบี้ยจ่ายครึ่งปีแรกในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :