5 ก.พ. 2567 สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 โดยมี สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข วิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต และคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ เข้าร่วม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
โดยสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนเคยทำงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหายาเสพติด ในส่วนของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งทราบว่า มีคนติดยาเสพติด และมีปัญหาอาการหลอนเป็นโรคจิต โดยกระทรวงยูติธรรม ไม่สามารถแก้ปัญหาคนป่วยจากยาเสพติดได้ จึงอาจเกี่ยวข้องกับกรมสุขภาพจิต และคณะกรรมการชุดนี้ เพราะคนที่มีอาการมาก ครอบครัวไม่สามารถดูแลได้ อย่างที่เป็นข่าว ทำร้ายคนในครอบครัว รวมถึงเกิดการข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งตนเคยแก้ปัญหาในส่วนนี้ แต่ยังไม่ตรงทั้งหมด คือ การผลักดันกฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เพื่อป้องกันบุคคลอันตรายก่อเหตุซ้ำ ด้วยการใส่กำไลอีเอ็ม หลังพ้นโทษตามที่ศาลกำหนด โดยที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า เราแก้ปัญหาปลายทางมานานแล้ว จึงอยากให้ช่วยกันขับเคลื่อนการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทางด้วย
สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ยังได้รับทราบการดำเนินงานควบคุมและป้องกันความรุนแรง และการดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง โดยปี 2566 มีจำนวนผู้ก่อความรุนแรงรายใหม่ 15,000 คน ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยก่อความรุนแรงสะสม 42,629 คน ซึ่งได้มีการดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง อย่างใกล้ชิด พร้อมค้นหาเพิ่ม ด้วย 5 สัญญาณเตือน เพื่อนำเข้าสู่ระบบและรับการวินิจฉัย นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ยังได้เห็นชอบแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ( ปี 2561-2580) ระยะที่ 2 (ปี 2566-2570) ต่อคณะรัฐมนตรี รวมถึงแผนปฎิบัติการพัฒนาระบบและบริการสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนอย่างบูรณาการ (ปี 2566-2570)
“การแก้ปัญหาสุขภาพจิต และผู้ป่วยจิตเวช ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะผู้ป่วยจิตเวช มีการก่อเหตุความรุนแรงมากขึ้น ที่ประชุมจึงได้มีการพิจารณาทบทวนพระราชบัญญัติสุขภาพจิตฯ และอนุบัญญัติฯ เพื่อจัดตั้งกองทุนเพิ่ม เพราะที่ผ่านมา งบประมาณขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตและจิตเวช ไม่เพียงพอ รวมถึงอาจต้องมีการปรับเพิ่มบุคลากรด้วย โดยให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตำรวจ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิตนี้ ดังนั้น ที่ประชุม จึงเสนอทบทวนอนุบัญญัติ จำนวน 5 ฉบับ จากจำนวน 24 ฉบับ เพื่อเพิ่มการดำเนินงานแบบบูรณาการภารกิจยาเสพติด ซึ่งการเสนอตั้งกองทุน เพื่อจะได้ของบประมาณจากกองทุนยาเสพติด ของ ป.ป.ส. มาแก้ปัญหาผู้ป่วยจิตเวช เพราะต้องยอมรับว่า ผู้ติดยาเสพติดจำนวนมาก กลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช จึงมีการมอบให้ที่ประชุมไปดำเนินการแก้กฎหมาย เพื่อจัดตั้งกองทุน มาแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว