วันที่ 22 มีนาคม 2567 สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล (ครน.) โดยมี ชัยเกษม นิติสิริ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กิตติกร โล่ห์สุนทร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง วิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำรองนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการ ครน. เข้าร่วม ที่ทำเนียบรัฐบาล
โดย สมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุม ครน.วันนี้ ได้พิจารณาทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กที่ก่อเหตุความรุนแรงเกี่ยวกับเพศและด้านต่างๆ โดยมี พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พ.ต.ท.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ กัน จอมพลัง มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาเด็กก่อเหตุความรุนแรง เพราะจากข้อมูลของกรมพินิจฯ มีเยาวชนที่กระทำความผิดคดีอาญา ฐานข่มขืนกระทำชำเรา ปี 65 จำนวน 670 คน ปี 66 จำนวน 881 คน และปี 67 มีแล้วจำนวน 198 คน ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ กัน จอมพลัง กล่าวว่า ตนได้รับฟังความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียส่วนตัว เกี่ยวกับเด็กที่ก่อความรุนแรง ควรมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งมีผู้มาแสดงความคิดเห็นกว่า 5 พันคน ส่วนใหญ่ อยากให้ภาครัฐปรับแก้กฎหมาย หรือ วิธีการป้องกันให้ดีกว่านี้ เพราะจากประสบการณ์ที่ตนลงพื้นที่ พบว่า ผู้ก่อเหตุจำนวนไม่น้อย เมื่อพ้นโทษออกมา ก็จะก่อเหตุซ้ำ รวมถึงมีพฤติกรรมก่อกวนเหยื่อ ทำให้เหยื่อต้องตกอยู่ในความหวาดระแวงตลอดเวลา นอกจากนี้ ปัญหาเด็กก่อเหตุความรุนแรง ยังพบผู้นำท้องถิ่น เข้ามาเกี่ยวข้องในการช่วยเหลือด้วย ตนจึงมีแนวคิดว่า ผู้ก่อเหตุที่มีพฤติกรรมกระทำความผิดซ้ำ ควรบังคับฉีดให้ฝ่อ เพื่อป้องกันพ้นโทษออกมาก่อเหตุอีก เพราะหลายกรณีได้รับโทษเบา เพียงไม่กี่ปี ก็พ้นโทษ รวมถึงที่ผ่านมา เหยื่อไม่ค่อยได้รับการเยียวยา จึงอยากให้มีการปรับแก้ให้เข้มงวดขึ้น
ด้าน พ.ต.ท.ประวุธ กล่าวว่า กฎหมายเด็กอายุไม่เกิน 12 กระทำผิด จะไม่ต้องรับโทษนั้น เป็นไปตามหลักสากล ไม่สามารถส่งสถานพินิจได้ ส่วนเด็กช่วงอายุ 12-15 ปี กระทำผิด ไม่ต้องรับโทษเหมือนกัน แต่ศาลมีอำนาจว่ากล่าวตักเตือน หรือ ส่งตัวเด็กไปสถานฝึกอบรม แต่ไม่ให้เกินกว่าวันที่เด็กมีอายุครบ 18 ปี ซึ่งกลุ่มช่วงอายุ 12-15 ปี เป็นช่วงที่กระทำความผิดสูง ส่วนเด็ก 15-18 ปี ศาลสามารถสั่งลงโทษได้ ส่วนการแก้ช่วงอายุไม่ต้องรับโทษ ต้องเกี่ยวข้องกับหลักสากลด้วย จึงควรมีการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน แต่ที่สามารถทำได้ คือ ส่งเข้าสถานฝึกอบรม จากไม่เกินอายุ 18 ปี ขยายเป็น 24 ปี เพื่อเพิ่มการดูแลให้มากยิ่งขึ้น
โดย สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ตนเคยออกกฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เพื่อเฝ้าระวังบุคคลอันตรายก่อเหตุซ้ำ ซึ่งกฎหมายนี้ จะสามารถช่วยแก้ปัญหาเด็กก่อเหตุความรุนแรงได้ แต่แนวทางการแก้ปัญหาแบบรูปธรรม ที่ประชุม ครน.ได้มีมติ มอบหมายให้สำนักงานกิจการยุติธรรม ไปรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ควรมีการปรับแก้กฎหมายเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อช่วยแก้ปัญหาเด็กก่อเหตุความรุนแรง พร้อมมอบหมาย ให้สร้างการรับรู้ และทำให้สังคมตระหนักรู้ มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยตนขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันขับเคลื่อนแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง