ไม่พบผลการค้นหา
"ชวน" ย้ำเดินหน้าคณะกรรมการสมานฉันท์ หลังฝ่ายค้าน-ผู้ชุมนุม ไม่เข้าร่วม ยืนยันไม่ใช่เรื่องได้เปรียบเสียเปรียบ ด้าน "วิรัช" ยืนยันพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผล ปฏิเสธรวมหัว ส.ว.มัดมือชกฝ่ายค้าน คาดได้ข้อสรุปในบางเรื่องภายในสิ้นปีนี้ และเสร็จสิ้นทั้งหมดในเดือน ม.ค. 64 ขณะ "พรเพชร"ย้ำ ส.ส.ร.มาจากเลือกตั้งได้ แต่ต้องไม่ใช่ทั้งหมด ควรเปิดโควต้าผู้ทรงคุณวุฒิ-เยาวชนร่วมวง

ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นำ ส.ส., ส.ว.,ผู้แทนพรรคการเมือง ข้าราชการ และ ผู้แทนสถาบันพระปกเกล้า วางพานประดับพุ่มดอกไม้ ถวายบังคมพระรูปต้นแบบ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 10 ธันวาคม 

ชวนถวายพานพุ่ม.jpg

หลังเสร็จพิธี ชวน กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ว่า สัปดาห์หน้าจะได้รายชื่อคณะกรรมการทั้งหมดก่อนสิ้นปี ส่วนที่ฝ่ายค้านและกลุ่มผู้ชุมนุมจะไม่เข้าร่วม นั้นก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ซึ่งเดิมฝ่ายค้าน แสดงความจำนงที่จะไม่เข้าร่วมตั้งแต่แรกแล้ว โดยตนเองเคยไปเจรจาอยากให้เข้าร่วมใน ขณะนั้นมีแนวโน้มจะตอบรับ แต่ยังขอดูท่าทีก่อน ซึ่งผู้นำฝ่ายค้านระบุว่าโครงสร้างสัดส่วนแต่ละฝ่ายไม่สมดุล และได้ชี้แจงแล้วว่าเรื่องสัดส่วนไม่ได้นำมาลงมติ แต่เป็นการระดมความคิด ความร่วมมือของแต่ละฝ่าย จึงไม่ใช่ว่าฝ่ายใดจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ทั้งนี้จะเสนอแนวคิดนี้เข้าไปในโครงสร้างด้วย

1111111111.jpg

ชวน ยังย้ำ ไม่ว่าคณะกรรมการฯจะมีเท่าไหร่ก็จะเดินหน้าต่อ และเมื่อได้รายชื่อแล้วคณะกรรมการฯจะนัดประชุม ซึ่งตนเองจะเข้าร่วมประชุมในนัดแรกเพื่อรับฟังความคิดเห็นด้วย

ส่วนการนัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นั้น 

ชวน กล่าวว่า ยังไม่มีการนัดประชุม และได้บรรจุอยู่ในระเบียบวาระแล้ว แต่ต้องรอว่ามีวาระอื่นที่สำคัญก่อนหรือไม่ ซึ่งในเดือนธันวาคม จะมีการนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งสุดท้ายของปี ในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ ซึ่งมีญัตติที่ค้างอยู่กว่า 200 ญัตติ


มอบเลขาฯสภา พิจารณาต่อสัญญาก่อสร้างอาคารรัฐสภา

ชวน กล่าวถึงสัญญาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาที่จะหมดอายุสัญญาสิ้นปีนี้ ว่า ยังไม่มีการต่อสัญญา และเมื่อวานนี้ (9 ธ.ค.) ได้สอบถามเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เรื่องการต่อสัญญา โดยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งว่าจะมีการต่อสัญญา แต่ส่วนตัวยังไม่ทราบรายละเอียด ต้องให้คณะที่ปรึกษาฯที่ตนเองแต่งตั้ง ไปพิจารณาร่วมกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร


'วิรัช' ยืนยันพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผล

วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลหรือ วิปรัฐบาล กล่าวถึงการเสนอรายชื่อบุคคลเข้าร่วมคณะสมานฉันท์ ว่า ขณะนี้แต่ละฝ่ายได้มีการส่งชื่อมาแล้ว ขณะที่สัดส่วนของคณะรัฐมนตรี ได้มีการ เตรียมการไว้แล้วเช่นกัน แต่ยังไม่ทราบรายชื่อ ส่วนในสัดส่วนของ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล ที่เสนอชื่อไว้ 3 คน ได้แก่ นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ นครสวรรค์ สรอรรถ กลิ่นประทุม บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย และเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ แต่สัดส่วนกำหนดไว้แค่ 2 คนนั้น วิรัตน์ ชี้แจงว่า อาจจะส่งไปเป็น สัดส่วนของคณะรัฐมนตรี 1 คน ซึ่งก็จะส่งผลให้คณะรัฐมนตรีจะต้องหารายชื่อมาอีกหนึ่งคน 

วิรัช ยังปฏิเสธที่จะตอบคำถามกรณีที่ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านรวมไปถึงกลุ่มผู้ชุมนุมปฏิเสธไม่เข้าร่วมคณะกรรมการชุดนี้ ว่าจะยังทำงานได้หรือไม่ และไม่อยาก ให้คิดไปล่วงหน้ามาก เพราะในอนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจก็ได้

วิรัช ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมรัฐสภายังชี้แจงถึงกรณีที่ฝ่ายค้าน กล่าวหากรรมาธิการในซีกวุฒิสภา และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ใช้เสียงข้างมาก ในการลงมติเพื่อปิดกั้นฝ่ายค้าน ว่า กรรมาธิการได้พิจารณาตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สภารับหลักการมาแล้วเห็นชอบให้ใช้ร่างแก้ไขของฉบับรัฐบาล เป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งการปรับแก้รายละเอียดต่างๆ กรรมาธิการจะมีการพูดคุยกันอีกครั้ง ซึ่งความเห็นที่ไม่ตรงกันก็จะต้องมีการพูดคุยกัน หรือ ลงมติซึ่งอยู่ที่กรรมาธิการแต่ละคนจะพิจารณาด้วยเหตุและผลอย่างไร โดยไม่ได้เลือกปฏิบัติ แต่คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ จะได้ข้อสรุปในบางเรื่อง และน่าจะเสร็จสิ้นทั้งหมดในเดือน ม.ค.


'พรเพชร' ย้ำ ส.ส.ร.มาจากเลือกตั้งได้ แต่ต้องไม่ใช่ทั้งหมด

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นไปตามการดำเนินการของคณะกรรมาธิการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทรายว่าตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็น ส่วนกระบวนการคงเป็นไปตามการพิจารณากฎหมายปกติ เร่งรัดมากไม่ได้ เพราะบทบัญญัติบางบทบัญญัติไม่สามารถลอกของเก่าได้ เนื่องจากอาจเกิดการขัดกันของกฎหมาย จึงต้องพิจารณาให้มาตราต่างๆสอดคล้องกัน 

ส่วนข้อเรียกร้องของฝ่ายต่างๆให้ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้น พรเพชร มองว่า ส.ส.ร.ควรมาจากการเลือกตั้ง แต่ควรรับฟังความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ทางด้านการเมือง รัฐธรรมนูญ และการปกครองด้วย รวมไปถึงควรให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยพบว่าเสียงผู้ทรงคุณวุฒิเพียงไม่กี่คนจะมีบทบาททำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงขออย่ามองในแง่ร้าย เพราะผลสรุปสุดท้ายต้องเป็นไปตามเสียงข้างมาก 

พรเพชร ยังกล่าวถึงการส่งตัวแทนร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ในสัดส่วนของวุฒิสภา 2 คน ว่า มีการทาบทามบุคคลที่เหมาะสมแล้ว แต่ปรากฏว่า เมื่อนํารายชื่อเข้าสู่ที่ประชุมวิปวุฒิสภา มีคนถอนตัวไป เหลือเพียงคนเดียว โดยจะดำเนินการคัดเลือกให้แล้วเสร็จภายในปีนี้เพื่อส่งรายชื่อให้กับ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และคงต้องพูดคุยกัน ให้หนักแน่นมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการถอนตัวอีก ซึ่งที่ผ่านมาก็ตั้งสเปกผู้ที่จะมาเป็นกรรมการสมานฉันท์ค่อนข้างสูง ไม่เอาคนที่เคยร่างรัฐธรรมนูญ 

ส่วนที่ผู้เห็นต่าง ยืนยัน ไม่เข้าร่วมเป็นกรรมการสมานฉันท์นั้น นายพรเพชร มองว่า เดี๋ยวก็คง แต่เบื้องต้นไม่ทราบ เพราะไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการเทียบเชิญ แต่มองว่าต้องทำความเข้าใจกันมากขึ้น ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องพยายามทำให้ครบองค์ประกอบ และคาดว่านายชวน จะพูดคุยกับฝ่ายค้านอีกรอบ



ข่าวที่เกี่ยวข้อง :