ไม่พบผลการค้นหา
‘สว.เฉลิมชัย’ อัดนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่น เตือนส่อขัดรัฐธรรมนูญ-วินัยการคลังฯ ขาดความรอบคอบ สร้างผลกระทบ ศก.ประเทศ กู้เงิน ธ.ออมสิน ผิดวัตถุประสงค์ ซ้ำนายกฯ ปลุกมวลชนหนุนแจกเงิน สร้างความแตกแยกหรือไม่ ขู่ ‘กกต.’ ปล่อยนโยบายแบบนี้ อาจถูกร้อง ป.ป.ช.

วันที่ 17 ต.ค. ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 23 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ที่มี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม วาระอภิปรายแผนการปฏิรูปประเทศ เฉลิมชัย เฟื่องคอน สว. ได้ลุกกล่าวอภิปรายเป็นคนแรก ในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง โดยระบุว่า พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีนโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ซึ่งมีผู้ร้องเรียนไปทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ก็ได้รับคำตอบมาว่า ไม่ผิด เนื่องจากมาจากเงินงบประมาณของรัฐ ไม่ใช่เงินส่วนตัว

เฉลิมชัย กล่าวว่า การที่ กกต. ตอบแบบนี้ เป็นการติดกระดุมเม็ดแรกที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ เนื่องจาก กกต. ไม่ได้นำกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา ปัจจุบันไทยมีหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนสูง ไม่รู้ว่า กตต. ให้หลักเกณฑ์ใดมาตัดสินว่าหากได้งบประมาณของรัฐแจกไม่มีความผิด ทั้งที่ตอนนี้ก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะนำงบประมาณมาจากไหน 

“ถ้าคิดให้ดี ผมว่าความจริงน่าจะร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาว่า กกต. จงใจปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไปร้องได้นะครับ ตามรํฐธรรมนูญมาตรา 234 และ 235 ความจริงก็น่าจะไปร้องดูนะครับ”

เฉลิมชัย ชี้ว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยทำผิดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 162 ตั้งแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพราะไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่าย ปัจจุบันก็ยังไม่มีการชี้แจง สุ่มเสี่ยงชัดต่อการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ และคณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง และก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ออกข่าวมาโดยตลอดว่าจะไม่ใช่งบประมาณ และจะไม่กู้ แต่จะใช้มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ คือมอบหมายให้ธนาคารออมสินจ่ายงบประมาณไปก่อนในโครงการนี้ ทว่าโครงการดังกล่าวก็ไม่ได้อยู่ในหน้าที่และอำนาจ และขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งธนาคารออมสินแต่อย่างใด ตาม พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน ปี 2489 มาตรา 7

“ผมว่าถ้าบังคับผู้อำนวยการธนาคารออมสินท่านมากๆ ท่านอาจจะลาออกได้นะครับ เนื่องจากท่านก็กลัวจะมีความผิดตามกฎหมายมาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญาฯ” เฉลิมชัย กล่าว

เฉลิมชัย กล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรียังได้ให้ข่าวอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 1 ก.พ. 2567 เงินดิจิทัลจะเข้าสู่ระบบ และประชาชนทุกคนจะได้เงิน แต่จะเอาเงินมาจากไหน ในเมื่อปฏิทินงบประมาณปี 2567 จะออกเมื่อเดือน เม.ย. 2567 แสดงว่า ครม. ต้องใช้วิธีกู้เงินจากธนาคารของรัฐ หรือธนาคารออมสิน แต่เงินกู้ที่ได้มาก็ต้องเป็นเงินแผ่นดินเช่นกัน จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ เฉลิมชัย ยังระบุว่า มีหลายหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบโครงการนี้ได้ ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีผู้ไปร้องแล้ว เช่นเดียวกับ ป.ป.ช. ก็ได้ตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบโครงการนี้โดยตรง รัฐบาลจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ 

เฉลิมชัย กล่าวว่า โดยสรุปโครงการเงินดิจิทัลมีข้อสงสัยมากมายคือ จะนำเงินงบประมาณมาจากไหน 5 แสน 6 หมื่นล้านบาท, ทำไมไม่จ่ายเป็นเงินสดเข้าบัญชีธนาคารโดยตรง ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแลกเหรียญดิจิทัลกลับไปกลับมา 6% อีก 3 หมื่น 3 พัน 6 ร้อยล้านบาท ค่าจ้างทำโปรแกรมบล็อกเชนอีกกว่า 1 หมื่น 2 พันล้านบาท, กรณีดังกล่าวหากเกิดเงินเฟ้อ สินค้าแพงขึ้น หนี้สาธารณะจะเพิ่มอีกเท่าใด, จริงหรือที่การแจกเงินจะทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุน 3 รอบ และได้ถามพรรคร่วมรัฐบาลว่าเห็นด้วยแล้วหรือไม่

เฉลิมชัย ยังกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไป จ.พิษณุโลก เมื่อ 14 ต.ค. และปลุกระดมให้ชาวพิษณุโลกคัดค้านคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเงินดิจิทัล เป็นการที่นายกรัฐมนตรีพูดให้ประชาชนขัดแย้งแตกแยกกันเองหรือไม่ เหตุใดพรรคเพื่อไทยไม่คิดวิเคราะห์ผลกระทบและความเสี่ยงให้รอบคอบรอบด้านก่อนจะออกมาเป็นนโยบายหาเสียง เพื่อให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

เฉลิมชัย ทิ้งท้ายว่า กกต. ต้องกำหนดกลไกความรับผิดชอบของพรรคการเมืองในการประกาศโฆษณานโยบายที่ไม่ได้วิเคราะห์ผลกระทบของความคุ้มค่าและความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการแจกเงินดิจิทัล เป็นการสัญญาว่าจะให้อย่างเห็นได้ชัด เป็นการซื้อเสียงล่วงหน้า แต่ กกต. กลับตีความว่าไม่ผิด หวังว่า กกต. คงไม่ปล่อยนโยบายแบบนี้ออกมาอีกในการเลือกตั้งอีก 4 ปีข้างหน้า

“ผมก็ไม่ได้ไม่ให้ทำนะครับ ท่านจะทำก็ทำไป แต่ท่านต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย และรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ ของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายด้วย ก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม” เฉลิมชัย กล่าวในท้ายสุด