วันที่ 25 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา (สว.) ครั้งที่ 28 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตาม ม.153
โดยในช่วงบ่าย สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมในรัฐบาลว่า ตนไม่ก้าวล่วง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่กลับสู่เมืองไทย ผมสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง และยินดีที่จะให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะการที่ ทักษิณ เข้ามาเพราะได้รับมหากรุณาธิคุณพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี แต่เรื่องที่ต้องพูดคือ ปัญหาการบังคับโทษที่เกิดขึ้นในระบบทั้งการเมือง และข้าราชการ
สมชาย ยังเปิดเผยอีกว่า การลุกนั่ง หรือโหนขึ้นรถกอล์ฟด้วยมือข้างขวาที่เอ็นเปื่อยยุ่ยนั้นเป็นจริงหรือไม่ และการเดินขึ้นบันไดดอยสุเทพนั้น แสดงว่า ท่านแข็งแรง ก็ยินดีด้วย เพราะแสดงให้เห็นว่า หมอในโรงพยาบาลตำรวจนั้นรักษาดี หรือท่านมีกำลังใจดี แต่เจ้าหน้าที่ที่มารายงานต่อคณะกรรมาธิการนั้น กลับพบว่า ทักษิณ ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ผังผืดที่ปอดจากโควิด-19 กล้ามเนื้อหัวใจตีบ และกระดูกเสื่อม
สมชาย ระบุว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกอ้างเพื่อไม่ให้เปิดเผยอาการป่วยของทักษิณนั้น ก็สามารถใช้ได้ เว้นแต่จัดเก็บไว้ใช้เพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะ แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ได้บังคับใช้แก่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา และกมธ. ที่แต่งตั้งโดยสภาฯ ดังนั้นจึงไม่อยู่ในส่วนที่จะสามารถกล่าวอ้างได้
สมชาย ยังอ้างข้อมูลอีกว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 จนถึง 25 ธันวาคม 2566 ระยะเวลา 1 ปี 2 เดือน มีผู้ป่วยไปรักษาตัวภายนอกเรือนจำในระยะเวลา 30 วัน จำนวน 100 คน รักษาตัวภายนอกเรือนจำในระยะเวลา 60 วัน จำนวน 30 คน รักษาตัวภายนอกเรือนจำในระยะเวลา 120 วัน จำนวน 3 คน โดยทั้ง 3 คนนี้ รักษาตัวด้านจิตเวชที่โรงพยาบาลพิษณุโลก และสถาบันราชนครินทร์ แต่คนที่ 3 คือ ‘ทักษิณ ชินวัตร‘ รักษาตัวทั้งสิ้น 125 วัน
เมื่อเดิมนั้นเวลานักโทษได้รับการพักโทษต้องรับโทษไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 อายุ 70 มีโรคประจำตัว แต่มีการแก้ไขในเอกสารโดย ป.ป.ช. ตรวจสอบได้ 'จาก และ เป็น หรือ' ทำให้คนอายุ 70 ต่อไปนี้ใครจะโกงชาติบ้านเมืองก็ 70 พอ จะได้กลับบ้านได้แล้ว
“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการสั่นคลอนกระบวนการยุติธรรมอย่างยิ่ง ผมไม่ได้มาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพราะไม่มีสิทธิ์ แต่ประชาชนจะไม่ไว้วางใจท่าน และจะเกิดวิกฤตศรัทธา และมันจะนำมาซึ่งสึนามิ และแก้ไขได้ยาก ผมอยากเห็นการแก้ไข และคนที่ต้องถูกดำเนินคดีคือ ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และฝ่ายการเมืองที่เอื้อประโยชน์” สมชาย กล่าวย้ำ
สมชาย มองว่า เมื่อ ทักษิณ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานอภัยลดโทษให้เหลืออยู่ 1 ปีแล้ว ควรตอบสนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างแท้จริง ด้วยการรับโทษที่เหลือในเรือนจำ โดยไม่ขอพระราชทานอภัยโทษอีก ซึ่งจะเรียกว่า สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
นอกจากนี้ยังขอเสนอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินคดีต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และข้าราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่วนศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยว่า การกระทำทั้งหมดนี้ทั้งการออกระเบียบราชทัณฑ์นั้นขัดกับหลักนิติธรรมเพื่อความผาสุกของประชาชนโดยส่วนรวม เพราะกรณีดังกล่าวเป็นที่สงสัยของประชาชนโดยส่วนรวม ขัดต่อพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ถือเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายเหมือนพรรคการเมืองหนึ่ง
รวมไปถึง ขอให้ร้องต่อศาลปกครองที่มีคำสั่งให้ทักษิณรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งถือว่า เจ้าหน้าที่รัฐทำผิดละเมิด ม.172 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี
ด้าน ถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า น่าเสียดายที่ก้าวแรกของ ทักษิณ ที่ได้เหยียบย่างลงบนผืนแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ ก็มีเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม เพราะได้รับสิทธิพิเศษมากมาย ไม่แน่ใจว่า เข้าเรือนจำถึง 12 ชม. หรือไม่ ก่อนถูกส่งไปรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ด้วยข้อมูลทางการแพทย์ที่ไม่ชัดเจน ทั้งที่ก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็ดูแข็งแรง
ภายหลังจากการ ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ ทักษิณ ได้สิทธิรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจนาน 6 เดือน โดยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ หลังได้รับพักโทษไม่ถึง 1 สัปดาห์ก็เปิดบ้านต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ไม่ถึงเดือนก็เดินทางไปเยี่ยมบ้านที่ จ.เชียงใหม่
“น่าแปลกที่มีรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการ มาต้อนรับและรายงานข้อราชการดูเหมือนไม่ใช่นักโทษที่ได้รับการลงโทษแล้วกลับไปเยี่ยมบ้าน เพราะไม่เหลือเค้าของอาการการเจ็บป่วยรุนแรงตามที่แพทย์โรงพยาบาลตำรวจยืนยันมาโดยตลอด” ถวิล กล่าว
ถวิล กล่าวต่อว่า ท่านคิดว่า คนไทยกินหญ้า กินแกลบ หรือกินน้ำค้างไม่ได้กินข้าวเหมือนกับเจ้าหน้าที่รัฐ จึงหลอกตนเอง และคนทั้งประเทศคิดว่า คนคงจะลืม คงจะแล้วๆ กันไป ปลุกม็อบไม่ขึ้นเนื่องจากบาดเจ็บกันมามาก คนไทยขี้ลืม เดี๋ยวก็ลืมกันไป เรื่องนี้จะไม่ลืมเป็นอันขาด เรื่องนี้เป็นบาดแผลลึกที่ไม่มีวันหาย เป็นฝันร้ายไม่มีวันจาง กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว
“รอกฎหมายตามเช็กบิลการกระทำที่ไม่ถูกต้อง วันหนึ่งไม่ช้ากฎแห่งกรรมจะทำหน้าที่เที่ยงตรง มอบคุณมอบโทษให้กับทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ตามวิบากกรรม ตามการกระทำต่อไป” ถวิล กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวชี้แจงหลังถูกพาดพิงในประเด็นกระบวนการยุติธรรมซึ่งถูกตั้งคำถามถึงความไม่เป็นธรรม ในการประชุมสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ญัตติอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตาม ม.153
โดย พ.ต.อ.ทวี กล่าวยืนยันว่า ในการบริหารราชการแผ่นดินนั้น ตนมีอุดมการณ์แน่วแน่ ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตนปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และยึดในหลักการของกฎหมาย ยึดประโยชน์ส่วนรวม และตนเข้าใจดีว่า ประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม ตนเลือกประโยชน์ส่วนรวม รวมทั้งบุญคุณกับการถูกกฎหมาย ตนเลือกการถูกกฎหมาย
ส่วนในเรื่องของกฎหมายกับความถูกต้อง แม้อาจจะไปด้วยกันไม่ได้ แต่เราต้องแก้ไขให้ไปด้วยกันได้ และระบบอุปถัมภ์กับระบบคุณธรรม ตนก็เลือกระบบคุณธรรม ซึ่งกรณีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตนยืนยันว่า อดีตนายกฯ ไม่ได้สั่งการที่ขัดต่อกฎหมาย และคุณธรรม
โดยกรณีที่ ทักษิณ กลับสู่ประเทศไทยเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเมื่อวันที่ 22 ส.ค. นั้น ยังอยู่ในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคือ วิษณุ เครืองาม ส่วนปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รวมถึงผู้บัญชาการเรือนจำเป็นคนๆ เดียวกันหมดกับรัฐบาลนี้
สำหรับกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) บางคนระบุว่า ตนได้ทำลายกระบวนการ และระบบยุติธรรมไปแล้วนั้น ยืนยันว่า ตนไม่สามารถไปสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ว่า ทักษิณ กลับประเทศแล้วต้องไปโรงพยาบาลทันที ซึ่งขณะนั้นตนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พรรคประชาชาติมี 9 คนจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ ตนจึงอยากให้ความเป็นธรรมตรงนี้
”ผมคิดว่า การทำลายระบบยุติธรรมคือ การยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ ทำลายระบบยุติธรรม และตนรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหลัง ทักษิณ ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว“ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า
พ.ต.อ.ทวี ย้ำว่า เหตุผลที่ ทักษิณ ได้ไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ คือกฎหมายราชทัณฑ์ปี 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเข้าสู่สภาฯ ในวาระแรกเมื่อปี 2559 โดยขณะเดียวกันยังเป็นกฎหมายที่ออกโดยบุคคลจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน อาทิ ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นต้น
พ.ต.อ.ทวี ยังกล่าวยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้แก้มาแล้วคนราชทัณฑ์แทบไม่มีอำนาจ แต่เป็นเรื่องของศาล และเรื่องการบริหารโทษเป็นเรื่องของกฎหมายราชทัณฑ์ โดย กรณีของ ทักษิณ จะต้องมีคำสั่งจำคุกจากศาลฎีกาก่อน และการส่งตัวไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจนั้นเป็นไปตามหลักการทางการแพทย์ ซึ่งการแพทย์ของระบบราชทัณฑ์ไม่พร้อม ขณะเดียวกันในกฎหมายราชทัณฑ์ยังระบุถึงที่คุมขังอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ นั่นคือโรงพยาบาลหมายรวมไปถึงโรงพยาบาลเอกชนด้วย