ไม่พบผลการค้นหา
'กัณวีร์' รับหนังสือแรงงานเมียนมา ขอรัฐสภาไทยสนับสนุนหลักการประชาธิปไตยในเมียนมา ต้องการต่อบัตรสีชมพูทำงานโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ โดยกัณวีร์ พร้อมผลักดันแก้ปัญหาตามช่องทางกฏหมาย แนะรัฐบาลเดินหน้าเปิดศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไทย-เมียนมา เป็นความคิดดี แต่จัดผิดที่อาจไม่เห็นผล

14 ก.พ. 2567 ยกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม รับหนังสือจาก กลุ่มแรงงานชาวเมียนมาในไทย หรือ ไบร์ทฟิวเจอร์ (Bright Future) เดินทางมายื่นหนังสือแก่ เพื่อเรียกร้องให้รัฐสภาไทยช่วยสนับสนุนหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในเมียนมา โดยแถลงการณ์ของกลุ่มแรงงานชาวเมียนมาในไทย ระบุว่า 

“วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ภายหลังประชาชนเมียนมาลงคะแนนเสียงให้กับพรรค National League For Democracy อย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งปีก่อนหน้า ฝ่ายกองทัพก็ออกมากล่าวหา ว่ามีการทุจริตเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วส่งกองกำลัทหารออกมาทำการรัฐประหารยึดอำนาจแต่งตั้งนายพลมินอ่องหล่ายและพรรคพวกขึ้นมา ถืออำนาจเบ็ดเสร็จแทนที่ผู้แทนจากเสียงของประชาชน รัฐบาลเมียนมาปัจจุบันจึงเป็นเพียงผู้เข้าครอบงำอย่างไร้ความชอบธรรม

ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา คนธรรมดาได้ร่วมกันต่อต้านรัฐประหารทั้งด้วยสันติวิธีและการประท้วงนัดหยุดงานทั่วประเทศ Civil Disobedience Movement หรือ CDM จนต่อมาเกิดรัฐบาลพลัดถิ่น National Unity Government of Myanmar หรือ NUG ขึ้นมาเพื่อยกระดับการต่อต้านพวกของมินอ่องหล่ายที่ได้เข่นฆ่าประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 4,507 คน โดยล่าสุดวันที่ 7 ก.พ. 67 นักสู้ฝ่ายประชาธิปไตยสองคนถูกทหารของมินอ่องหล่ายจับทรมานอย่างโหดเหี้ยม ล่ามโซ่และเผาไฟทั้งเป็นต่อหน้าผู้คนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในภาคมะกเว นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งทหารของมินอ่องหล่ายทำเป็นประจำเสมอมา

เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปี การต่อต้านรัฐประหารเมียนมา พวกเราขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลและรัฐสภาไทยด้วยความคาดหวังในหลักการประชาธิปไตยสากลและสิทธิมนุษยชน ดังนี้

1. ให้ผลักดันการเปิดช่องทางต่ออายุบัตรสีชมพู (Work Permit) สำหรับแรงงานเมียนมา ที่ทำการดื้อแพ่ง ขัดขืนนโยบายภาษีหนังสือเดินทาง 2% ของรัฐบาลเผด็จการมินอ่องหล่าย ซึ่งใช้กลไกสถนทูต เพื่อขูดรีดประชาชนเมียนมาในต่างประเทศและนำเงินไปทำสงคราม

2. ให้ผลักดันการเปิดช่องทางให้มีการต่ออายุบัตรสีชมพู (Work Permit) โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติหรือ CI (Certificate of Identity) อย่างซ้ำซ้อน

3. ให้สนับสนุนประธานอาเซียนในการเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามชายแดนเมียนมาทั้งหมด โดยให้กำหนดเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นกลางและปราศจากปฏิบัติการทางทหาร (Humanitarian Corridor) รวมถึงจัดหาสถานที่พักพิงสำหรับผู้ผลัดถิ่นด้วย

4. ให้ร่วมมือกับรัฐบาลประชาธิปไตย National Unity Government of Myanmar หรือ NUG รวมถึงกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และภาคเอกชนของกลุ่มกะเหรี่ยงบริเวณชายแดนไทย ในการช่วยเหลือภารกิจด้านมนุษยธรรม แทนที่จะร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จการมินอ่องหล่าย

5. ให้รับมือสถานการณ์ผู้ลี้ภัยจากเมียนมา ซึ่งจะทวีคูณหลังรัฐบาลประกาศบังคับเกณฑ์ทหาร”

สุรัด คีรี กลุ่มแรงงานชาวเมียนมาในไทย กล่าวว่า สาเหตุที่มาในวันนี้ คือพวกเราโดนรัฐประหารมาเป็นระยะเวลา 3 ปี อยากให้ทางรัฐบาลไทยช่วยเหลือคนเมียนมาในไทยและคนเมียนมาในประเทศเมียนมาด้วย โดยล่าสุดทางรัฐบาลทหารของมินอ่องหลาย ประกาศให้คนในประเทศเข้าเกณฑ์ทหาร เนื่องจากปัญหาขณะนี้ถือว่าหนักมากสำหรับคนเมียนมา จึงอยากให้ฝั่งรัฐบาลไทยช่วยดูแลตรงส่วนนี้ด้วย เนื่องจากจะมีผู้ลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมากจากกฎเกณฑ์ในการบังคับเข้าเกณฑ์ทหาร แต่จากสถานการณ์การต่อสู้ของทุกชาติพันธ์ ได้ใกล้ถังชัยชนะแล้ว และประชาชนชาวเมียนมา มีความหวังที่จะได้กลับบ้าน และอยากจะทำงานในประเทศไทยอย่างมีศักดิ์ศรี

ยกัณวีร์ กล่าวว่า ความจำเป็นที่ไทยจะต้องไปดูแลผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากประเทศไทยมีจุดภูมิรัฐศาสตร์ที่ติดกับประเทศเมียนมา เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัญหาที่เกิดในเมียนมาก็จะมีผลกระทบในประเทศไทย หากประเทศไทยไม่มีจุดยืนที่ดี ไม่สามารถสร้างจุดยืนที่จะสามารถแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนให้กับประเทศเมียนมาได้ เราก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้อีกต่อไป 

ส่วนการพูดถึง Humanitarian Corridor หรือ ระเบียงมนุษยธรรม นายกัณวีร์ ระบุว่าตอนนี้รัฐบาลไทยมีเรียบร้อยแล้ว หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา นายปานปรีย์​ พหิทธานุกร​ รองนายก​รัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​การต่างประเทศ​ ได้เดินทางไปลงพื้นที่ อ. แม่สอด จ.ตาก เข้าไปพูดถึงเรื่องการสร้างระเบียงมนุษยธรรม เพื่อไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับการประหัตประหาร ผู้ที่หนีภัยการสู้รบ และผู้ที่พลัดถิ่นในประเทศเมียนมาที่ติดกับชายแดนไทย แต่วันนี้เราได้มีจุดยืนและมีการเตรียมความพร้อมเพียงพอและถูกต้องแล้วหรือไม่ ในการจัดลำดับความสำคัญต่างๆ เพราะฉะนั้น วันนี้เราจะนำข้อมูลต่างๆ ข้อเสนอแนะ ข้อเรียกร้อง จากกลุ่มแรงงานชาวเมียนมาไปดำเนินการต่อในขั้นถัดไป 

“วันนี้เราขอย้ำจุดยืนในประเทศไทยตอนนี้ว่าเปลี่ยนแปลงไปแล้ว “Non-Interference หรือหลักการไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศเมียนมา ของอาเซียน ยังสามารถใช้ได้หรือไม่ ประเทศไทยเราควรจะเปลี่ยนแปลงจุดยืนอย่างไร ดังนั้นความสง่าผ่าเผยของประเทศไทยในประชาคมโลก เราจำเป็นที่ควรจะมีจุดยืนที่ดี” กัณวีร์ กล่าว

กัณวีร์ กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือมนุษยธรรมชาวเมียนมา อ.แม่สอด จ.ตาก ของรัฐบาลว่าเป็นความคิดที่ดีในการจัดตั้งพื้นที่ระเบียงมนุษยธรรมของประเทศไทย เพราะเห็นได้ว่ามีพี่น้องจำนวนหลายแสนคนที่อาศัยติดอยู่กับชายแดนไทย แต่การจัดตั้งที่ อ.แม่สอด ตนเองกังวลว่าฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเมียนมาที่ติดกับชายแดนไทย ยังไม่ใช่จุดพื้นที่ที่จัดว่าเป็นจุดในลำดับความสำคัญที่เร่งด่วนที่สุด แต่พื้นที่ที่มีความสำคัญเร่งด่วนที่สุด คือพื้นที่ที่มีคนพลัดถิ่นภายในประเทศเข้ามาประชิดในประเทศไทยที่มากคืออยู่ตาม จ.แม่ฮ่องสอน ขึ้นไปทั้งหมด ซึ่งจะมีพี่น้องที่รอการลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ที่ อ.แม่สอด อาจเกิดปัญหาเรื่องการขนส่งหรือการประสานงานกับประเทศเมียนมาได้ไม่ทั่วถึง จะติดต่อกับกาชาดเมียนมาได้หรือไม่ 

“ถ้าเราจะเปิดพื้นที่มนุษยธรรมแล้วเราไม่ทำตามหลักมนุษยธรรม มองว่าอย่าไปทำ แต่ถ้าจะทำต้องทำให้ถูกต้องตามหลักการ แล้วค่อยมาสร้างกระบวนการในการสร้างระเบียงมนุษยธรรม” กัณวีร์ กล่าว 

ด้าน สุรัด กล่าวต่อว่า อยากให้ทางสภาฯ ผลักดันกรณีปัญหาบัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย หรือบัตรสีชมพู (Work Permit) พร้อมยืนยันว่าคนเมียนมาไม่มีความต้องการที่จะทำพาสปอร์ตเล่มแดง หรือ CI (Cerificate of Identity ) 

“ทุกคนรู้ดีว่าคณะเผด็จการมินอ่องหล่าย ขาดเงินจึงได้ขูดรีดประชาชนเมียนมาในต่างประเทศ เพื่อนำเงินไปทำสงคราม พี่น้องชาวเมียนมาเราเข้ามาอยู่ในประเทศไทยหลายปี เข้ามาใช้แรงงาน และจ่ายภาษี เราคิดว่าเรานั้นมีสิทธิ์ที่จะอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ต้องให้พาสปอร์ตเล่มแดง อยากให้รัฐบาลไทยอย่าทำเป็นไม่รู้เรื่อง เพราะปัญหาเกิดขึ้นมา 3 ปีแล้ว ยังไม่เกิดการแก้ไข คิดว่ารอบนี้เป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้ช่วยเหลือพี่น้องชาวเมียนมา” สุรัด กล่าว

กัณวีร์ กล่าวอีกว่า ขอให้เปลี่ยนมุมมองในการมองพี่น้องชาวเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทยตอนนี้ อย่ามองว่าเป็นภาระ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ลี้ภัย หรือจะเป็นแรงงานข้ามชาติ ต้องยอมรับว่าพี่น้องชาวเมียนมานั้นมีการต้องจ่ายส่วยในประเทศไทย การที่เอาปัญหาของพวกเขาขึ้นมาบนพรม และแก้ปัญหา ไม่ให้มีการจ่ายส่วย และทำให้ถูกต้องตามกระบวนการ จะทำให้คนกลุ่มนี้จากการเป็นภาระจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศไทยผ่านการทำงาน อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 

กัณวีร์ ยังกล่าวอีกว่า เราจะผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่สภาฯ และเสนอการปรับปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นโยบายคำสั่งต่างๆ ของทางรัฐบาล เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พี่น้องเมียนมาในประเทศไทย จากการเป็นภาระให้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศไทยไปด้วยกัน จะทำให้เห็นว่าการแก้ปัญหาสามารถทำร่วมกันได้ จากแก้ปัญหาในครั้งนี้