ท่ามกลางวันเวลาและกระแสข่าวที่ไหลเลื่อนไปบนทั้งกระดาษและออนไลน์ บางครั้งข่าวที่ทำให้คนสะเทือนใจอย่างคนฆ่ากันตายก็ทิ้งตะกอนความรู้สึกไว้ชั่วขณะ หรือถูกมองผ่านไปเมื่อเข็มนาฬิกาล่วงเลย ก่อนจะถูกนำกลับมาฉายซ้ำใหม่เมื่อสังคมพูดถึง
ฉันพกความรู้สึกดังกล่าวบรรจุลงปากกาที่ติดตัวมา ส่วนช่างภาพนาม ‘เสก สามย่าน’ คงพกความรู้สึกบางอย่างไว้เต็มเลนส์กล้อง ระหว่างที่รถของเรากำลังแล่นผ่านเส้นทางกว่า 528.9 กิโลเมตร บนถนนมิตรภาพ จากกรุงเทพฯ ถึง ต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู เพื่อไปยังสถานที่ซึ่งเคยเกิดเหตุโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่
จากฟ้าสางเปลี่ยนเป็นโพล้เพล้ ร่วม 9 ชั่วโมงบนถนนที่คุณภาพสลับสับเปลี่ยน ไม่รู้ว่ายางรถยนต์นั้นตกหลุมตื้นลึก หรือเหินเนินปูดบนถนนคอนกรีต บ้างเป็นถนนลูกรังดินแดงดินกรวดในบางพื้นที่ ตามที่จีพีเอสนำทางมา
จวนค่ำที่เราสองคนเดินทางออกจากที่พัก จากถนนใหญ่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 210 เข้าสู่ถนนทางหลวงชนบท 2 เลน ถนนที่ว่าทอดยาวตัดกับหมู่บ้านชุมชนที่กระจุกตัวเป็นบางแห่ง สลับกับทุ่งนา ป่าอ้อย และบึงน้ำ ก่อนจะผ่านซุ้มเฉลิมพระเกียรติเป็นที่ต้อนรับแขกเหรื่อจากถิ่นอื่น
ผ่านป้ายบอกทาง ‘อบต.อุทัยสวรรค์ ตรงไป’ ก่อนเลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางที่เป็นทางเข้าออกทางเดียว จากหน้าอาคาร อบต. เลี้ยวไปยังด้านหลังก็เจออาคารชั้นเดียว ช่างภาพหยุดรถไม่ห่างมากนัก ฉันลงจากรถและเดินเข้าไปเกาะรั้วปูนสูงไม่เกิน 1 เมตร ตรงนี้มีทั้งขนม นมเปรี้ยว ดูแล้วเต็มไปด้วยของชอบสำหรับเด็กๆ แต่ใกล้กันเต็มไปด้วยพวงมาลัย ดอกไม้ และธูปเทียน
ประตูรั้วเหล็กสีดำแซมสนิมเย็นเฉียบด้วยอุณหภูมิราวๆ 20 องศา เราทั้งคู่เอื้อมมือไปจับแล้วค่อยๆ ลูบเบาๆ สนิมติดมือมาแถมด้วยความรู้สึกเย็นเฉียบปนเปความหดหู่ มองเข้าไปที่ประตูด้านในสภาพแตกเป็นรูโหว่พอให้เด็กเล็กลอดผ่านไปได้
ลมหนาวอ่อนๆ พัดโชยมา ธงชาติไทยสีหม่นปลิวเอื่อยอยู่บนยอดเสา และห้อยดิ่งเมื่อลมอ่อนผ่านพ้นไป พงหญ้าขึ้นแทรกในสนามเด็กเล่นคลุมสูงเกือบครึ่งแข้ง ส่วนทางเข้าตรงกลางปรากฏรอยพงหญ้าถูกถอนเหี้ยนจากการปูพรมแดงอันลือลั่น
“มาเฮ็ดอีหยังครับ” เสียงหนึ่งดังขึ้นทำให้หลุดจากภวังค์
เราต่างแนะนำตัว กับ วินัย-เจ้าหน้าที่กองช่างประจำ อบต. “คนที่ทำงานกองช่างเขานอนตายตรงนี้เลย ตรงที่เอ็งยืนอยู่น่ะ” เขาเปิดบทสนทนา แม้วันนั้นเขาจะอยู่ขณะเกิดเหตุ แต่มาถึงหลังจากทุกอย่างสงบเรียบร้อยแล้ว
เราทราบว่าผู้ตายที่วินัยพูดถึงนั้นถูกยิงด้วยกระสุนปืนเข้ากลางหลังและศีรษะ จนชิ้นเนื้อกระจายไปทั่ว ส่วนอีกคนที่ถูกยิงบริเวณนี้ก็พยายามคลานเข้าไปแอบในห้องน้ำ แต่ทนพิษบาดแผลไม่ไหว เลยเสียชีวิตในห้องน้ำ
ระหว่างแลกเปลี่ยนเหตุโศกนาฏกรรม สุนัขพันธุ์ทางสีดำวิ่งดุ่มๆ มาหาวินัย คงจะเป็นสหายของเขาเวลาเข้างานกะกลางคืน
“ไอ้นี่มันวิ่งก่อนตัวแรกเลย เสร็จแล้วพอทุกอย่างนิ่งมันก็ออกมาเลียเลือด เลียเนื้อคนที่ตาย” วินัยว่า
วินัยกับผู้ก่อเหตุเห็นหน้าค่าตากันอยู่ประจำ เพราะมักจะมาส่งลูกที่ศูนย์เด็กเล็ก ก่อนวันเกิดเหตุ ระหว่างที่เขานอนเปลเล่นในยามเย็น เขาก็เห็นผู้ก่อเหตุขับมอเตอร์ไซค์เข้ามาวนรอบ อบต. และขับไปทางศูนย์เด็กเล็กก่อนขับออกไป ซึ่งเขาไม่เอะใจถึงเหตุสะเทือนขวัญที่กำลังจะตามมา
“ปิดห้องกันเงียบ ส่วนนายก อบต. ออกไปกินข้าว” วินัยเล่าถึงวันเกิดเหตุ จากการฟังเพื่อนที่อยู่ในเหตุการณ์เล่ามาอีกที ตอนนั้นทุกคนไม่มีใครกล้าวิ่งออกมาดู พอเริ่มเห็นพวกครูส่งเสียงโวยวาย ต่างก็รีบล็อคประตูปิดหน้าต่างมิดชิด แม้แต่ลมหายใจพวกเขาก็พยายามส่งเสียงให้เงียบที่สุด
“พวกกู้ภัยเขาเก็บศพกันเสร็จตั้งแต่บ่ายแล้ว แต่ต้องรอเจ้านายมาดูตอนกลางคืน” วินัยพูดถึง รมว.สาธารณสุขและผบ.ตร. ที่เข้ามาตรวจสอบสถานที่ ก่อนจะกวักมือเรียกให้เราเข้าไปดูที่ทำงานของครูผู้รอดชีวิตที่อยู่ห่างจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่ถึง 50 เมตร
ห้องขนาดย่อม ปูหลังคาด้วยฝ้าและสังกะสี แปรสภาพเป็นสำนักงานเล็กๆ ไม่เกิน 10 ตารางเมตร เพียงพอที่จะวางโต๊ะทำงานพร้อมคอมพิวเตอร์ 4 ตัว พร้อมเครื่องปรับอากาศตัวและนาฬิกาแขวนผนัง
เวลาค่ำแล้ว เจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อพปร.) เข้ามาดูแลพื้นที่ต่อ เราลาวินัยชั่วคราว ส่วนเขาเชื้อเชิญให้เรามาคุยกับบรรดาครูต่อพรุ่งนี้ ครูผู้รอดชีวิตจะเข้ามาทำงานกัน
เรากลับมาที่เดิมอีกครั้งในช่วงบ่าย หน้าต่างถูกเลื่อนออกหลังจากที่ฉันเดินไปเคาะทักทายเบาๆ ครูประจำศูนย์ฯ ส่งสัญญาณให้เราถามไถ่กับคนที่พวกเขาเห็นว่าน่าจะมีจิตใจเข้มแข็งที่สุดเท่าที่จะพูดคุยได้
“ตอนแรกมีกันอยู่ 6 คน แต่เสียพร้อมลูกในท้องไป 1 คน” ครูเพลิน-นันทิชา พันธ์ชุม หัวหน้าครูประจำศูนย์ฯ ยกนิ้วขึ้นมานับขณะเล่าให้ฟัง
เธอพาเรานั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปในช่วงบ่ายคล้อยของวันนั้น ระหว่างบรรยากาศทุกอย่างดำเนินไปอย่างปกติ ครูให้เด็กน้อยทำกิจกรรมวาดรูประบายสี ท่องตัวอักษรหรือพยัญชนะ กินข้าว แล้วก็นอนกลางวัน เป็นกิจวัตรแสนสามัญของเด็กวัย 2-4 ขวบ
“วันนั้นครูตัดสินใจปีนข้ามรั้วด้านหลังเพื่อวิ่งไปหาคนมาช่วย แต่ไม่มีคนเชื่อ ไปเล่าให้ใครฟังไม่มีใครเชื่อ เราเองก็ยังไม่เชื่อว่าเขาจะทำขนาดนี้” ครูเพลินค่อยๆ ฉายความรู้สึกนึกคิดในวันนั้น และย้ำให้อีกว่า หากวันนั้นตัวเธอเองไม่ตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง คงไม่มีวันที่เธอจะมานั่งเผยสนทนาในวันนี้
กลิ่นถ่านของความโกรธแค้น เจ็บปวด โศกเศร้า ทุกข์ทรมานยังคงก่อตัวขึ้นและค้างในห้วงรู้สึก แม้จะผ่านไปร่วมเดือนแล้ว แม้รัฐบาลตั้งความแน่วแน่ในการถอดบทเรียน เจ้าหน้าที่พยายามสืบเสาะค้นหาถึงต้นตอที่งปะทุเป็นความรุนแรง ทั้งประเด็นยาเสพติด โครงสร้างรัฐ ระบบตำรวจ หรือการกีดกันของคนในชุมชน ฯลฯ
ในมุมของครูเพลิน เธอไม่อยากจะโทษใคร เหตุเกิดขึ้นและผ่านไปแล้ว แต่ห้วงรู้สึกที่ยังกัดกินใจเธออยู่คือ “ความรู้สึกโทษตัวเอง”
“มันทำใจไม่ได้ ตัวครูเองก็ยังปรับไม่ได้ จะหลับตานอนก็ยังคิดถึงภาพเดิมซ้ำๆ เราทั้งคิดน้อยใจ และโทษตัวเองที่ไม่สามารถช่วยเด็กได้ เราทำได้มากที่สุดคือวิ่งหนีเพื่อหาคนมาช่วย คุณหมอแนะนำว่าอย่าไปโทษตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิด มันคือสิ่งที่เราไม่สามารถป้องกันได้คนเดียว” ครูเพลินเผยผลึกความคิด
เอฟเฟคต์ที่เกิดขึ้นได้กระทบทางจิตใจเธอเท่านั้น แต่ยังสะท้อนมาทางกาย ทุกวันนี้เธอไม่สามารถนอนหลับได้อย่างคนปกติทั่วไป ต้องใช้ยานอนหลับ เช่นเดียวกับเพื่อนครูอีก 3 คนที่อยู่ร่วมกันตอนนี้ด้วย
“อะไรช่วยเยียวยาจิตใจครูเพลินได้ครับ” ฉันถาม
“ครอบครัว สามี และลูก เขาซัพพอร์ตทุกอย่าง ให้กำลังใจตลอด บางครั้งอยากเลิกอาชีพนี้ แต่เขาบอกว่าเราเป็นครู ต้องสานต่อให้ถึงที่สุด เราเป็นหัวหน้าด้วย ความรับผิดชอบมันต้องมี ต้องให้พวกครูน้องๆ เขาได้มีงานทำ และให้เด็กที่เหลือมีที่เรียน” ครูเพลินเอ่ยเสียงหนักแน่น แต่น้ำตาคลอ
ทะเบียนประวัติเด็กปฐมวัยปีการศึกษา 2565 แสดงให้เห็นถึงเด็กที่เหลืออยู่ 68 คน แม้ใครหลายคนยังไม่สามารถหลุดออกจากฝันร้ายนี้ได้ แต่วิญญาณแห่งวิชาชีพคอยกระซิบให้ทำงานต่อ ครูเพลินไม่อาจปฏิเสธ
“ผู้ปกครองเขาก็เห็นใจครู แต่เราก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เขาด้วย เพราะส่วนใหญ่เขายังเห็นภาพเดิม” เธออธิบายเสริมว่าก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมผู้ปกครองของเด็กทั้งหมด ร่วมกันวางมาตรการรักษาความปลอดภัย มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำโรงเรียน รถรับส่งเด็กนักเรียนถึงหน้าบ้าน และจะมีการจ้างครูผู้ชายมาเพิ่มเพื่อมาช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
ท่ามกลางกองเอกสารเอกสารราชการบนโต๊ะครู ภารกิจของพวกเธอดูจะใหญ่โตเกินกว่ากำลัง ค่าตอบแทนของพวกเธอในการประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนั้นเริ่มต้นที่ 4,800 บาท และขยับขึ้นมาที่ 9,000 บาทในปัจจุบัน
เมื่อดูแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 เพื่อรองรับเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มีการกำหนดให้เงินวิทยฐานะสำหรับตำแหน่งครู และผู้ดูแลเด็ก ชำนาญการ คนละ 3,500 บาทต่อเดือน และชำนาญการพิเศษคนละ 5,600 บาทต่อเดือน
รายได้เท่านี้ ทำให้พวกเธอต้องหารายได้พิเศษจากอาชีพเสริม เช่น เป็นพนักงานร้านอาหารกลางคืนในตัวอำเภอเมือง
“จนถึงตอนนี้ อะไรคือความหวังของครูเพลิน” ฉันถาม
“อยากให้เด็กที่รอดลืมภาพไปให้หมด อยากให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปให้หมด ทั้งอุปกรณ์ใหม่ ยูนิฟอร์มใหม่ กระเป๋าใหม่ รองเท้าใหม่ ที่นอนใหม่ และอยากให้ผู้ใหญ่ไม่ทำให้เรื่องนี้เป็นที่จดจำของพวกเด็กๆ ครูโกรธแค้นเขามาก แต่ไม่อยากพูดถึง อย่างน้อยแค่อยากให้เด็กๆ ได้มีความฝันที่ปลอดภัย” เธอหยิบกระดาษทิชชู่ใกล้ตัวซับน้ำตา ทอดสายตาออกไปยังถนนด้านหน้าศูนย์ฯ
พอสมควรแก่เวลา ครูเพลินมีงานต้องสะสางต่อ เธอเดินมาส่งเราที่รถ ซึ่งจอดอยู่ใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และเราไม่ควรถามว่าพวกเธอคิดเข้าไปด้านในบ้างไหม
กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว แต่แดดยังแรง ที่หนาวคงเป็นอาการภายในของคนในอุทัยสวรรค์มากกว่า
เรามายังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล คนแถวนี้เรียกกันชินปากว่า รพ.สต. ทีมนักสังคมสงเคราะห์ประจำพื้นที่กำลังจะพาเราไปยังบ้านของครอบครัวหนึ่งในเหยื่อโศกนาฏกรรม
เดือน-วงศ์เดือน จันทะกูล เจ้าของบ้าน ผู้เสียน้องสาวด้วยอาวุธปืนพร้อมกับลูกชายภายในบ้านของผู้ก่อเหตุ
ทางเข้าเป็นรั้วไม้ไผ่ปักไว้อย่างหลวมๆ เป็นปราการของพื้นที่บ้านราว 1 ไร่เศษ ใบตำลึง ฟัก เลื้อยปกคลุมรั้วไว้จนแทบมิด ด้านหลังบ้านเป็นทุ่งนา และไร่อ้อย ใกล้ๆ มีเล้าไก่ แม่ไก่นอนกลางวัน ส่วนลูกเจี๊ยบวิ่งเล่นจิกหินดินทราย
ทีมนักสังคมสงเคราะห์เปิดรั้วอย่างเบามือ เดือนออกมาต้อนรับ ค่อยๆ ยื่นขวดน้ำให้แขกต่างถิ่น เธอรวบผ้าถุงเข้าหว่างขานั่งลงบนแคร่ไม้ใต้ร่มชายคาบ้าน ใกล้ๆ พร้อมหน้ากันมีทั้งสามีและพ่อของเธอรวมอยู่ด้วย
บ้านของเดือนเป็นบ้านชั้นเดียวก่อด้วยอิฐบล็อกและฉาบปูนไว้บางๆ ปฏิทินขนาดย่อมแขวนบนผนังที่เต็มไปด้วยสติ๊กเกอร์พรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน สภาพเก่าหลุดร่อนตามกาลเวลา
“กินข้าวพอได้สักหน่อย ตั้งแต่ที่ไปเอิ้นขวัญมา แต่ก็มีเพิ่นเปิดภาพขึ้นมาอีก เฮาไม่อยากเห็น เห็นแล้วก็อดบ่ได้ น้ำตามันออก ไม่อยากให้เพิ่นเปิดขึ้นมา…”เดือนสนทนากับนักสังคมสงเคราะห์ ก่อนหน้านี้เธอกินอะไรไม่ลง แม้แต่น้ำเปล่าก็ยังไม่อยากกลืน นั่นเพราะยังมีคนในชุมชนบางคนมาตอกย้ำกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าน้องสาวของเธอเป็นคนสนับสนุนให้เกิดเหตุการณ์วันนั้น
“เฮาเห็นภาพเหตุการณ์มันก็แน่นขึ้นมา รับบ่ได้ ไม่อยากให้เป็นแบบนี้ขึ้นมาอีก ไม่อยากเห็นภาพเก่าๆ อย่าเฮ็ดให้ขึ้นมาเห็นอีกเลย เพราะมันผ่านไปแล้ว บ่ต้องเว่าขึ้นมาอีก” เธอย้ำพร้อมน้ำตา
ผิดกับพ่อเฒ่า-พ่อของเดือนที่เล่นมุกตลกสวนบรรยากาศ แม้วัยและสังขารจะเข้าใกล้เลขแปดแล้ว ดูเหมือนเขาจะไม่ยอมตกอยู่ในบรรยากาศอึมครึม เล่นเอานักสังคมสงเคราะห์อดยิ้มไม่ได้ “ความดันมันจะขึ้น เวลาเจอสาวๆ มาหาแบบนี้ล่ะ” พ่อเฒ่าว่า
การบำบัดเยียวยาจิตใจของทีมนักสังคมสงเคราะห์ยังดำเนินต่อไป แผ่นกระดาษที่มีรูปใบหน้าการ์ตูนแสดงความรู้สึก เพื่อประเมินผลความเครียดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไล่เรียงตั้งแต่ ไม่เครียด เล็กน้อย ปานกลาง มาก มากที่สุด--ฉันแอบลุ้นในใจว่าเดือนจะตอบส่วนไหน
“เล็กน้อยจ้ะ” เธอตอบ ก่อนที่นักสังคมสงเคราะห์ จะบันทึกข้อมูลนั้นลงไปในกระดาษ
“แล้วแม่มีวิธีทำให้ใจตัวเองไม่เครียดยังไงบ้างจ๊ะ” หนึ่งในทีมนักสังคมสงเคราะห์ถาม
“ก็ยิ้มได้เล็กน้อย พอเศร้าก็ไปวัด ทำให้ตัวเองสบายใจขึ้นมา ตอนแรกก็กังวลคิดห่วงแต่บ้านหลังนั้น อยากให้วิญญาณออกมา แต่หลังจากไปเอิ้นเขาออกมาก็บ่ได้ห่วงแล้ว ของทุกอย่างเจ้าหน้าที่เอามาคืน ขาดแต่โทรศัพท์มือถือ” เดือนบอก
ฉันเคยได้ยินมาว่า วิธีจะแก้อารมณ์โกรธเคืองในจิตใจหรือมีอารมณ์ขุ่นมัวจากความเศร้า การสูดลมหายใจเข้าลึกๆ เป็นอีกทางที่ช่วยได้
“ปล่อยตัวสบายๆ นะแม่ ให้คิดถึงที่ที่ปลอดภัยสำหรับเรา อาจจะมีจริงหรือไม่มีจริง ทุ่งนา หรือหม่องใด๋ก็ได้” นักสังคมสงเคราะห์ว่าพลางค่อยๆ ช่วยเดือนเหยียดขาออกมาด้านหน้า และดันตัวให้เอนไปด้านหลัง ส่วนมือก็ยังคงกุมกันไว้
เกือบ 20 นาทีที่ฉันเฝ้าสังเกตการปฏิบัติหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์ หนึ่งในนั้นหันมาถามฉันว่ามีอะไรจะถามเดือนหรือเปล่า
“แม่ได้เงินเยียวยาบ้างบ่ครับ” ฉันถาม เดือนอึกอักเล็กน้อยก่อนเล่า
“ตอนไปรับเงินเยียวยา เขาก็เอารายชื่อไป พอไปถึง สภ.นากลาง เขาก็บอกว่าเหยื่อผู้ก่อเหตุบ่มีรายชื่อเด้อจ้า เท่านั้นล่ะ เฮาฮ้องไห้เลย มันเป็นหยัง แฟนเขาก็เป็นเหยื่อนะ ก็เลยได้แต่ออกมานั่งมองเพิ่นเขารับตังค์” เดือนว่าน้ำเสียงกระแทก ก่อนอธิบายต่อว่า “มันเป็นตังค์เพิ่นเนาะ ก็ไม่ได้ว่าเพิ่นหรอก แล้วแต่ความพอใจว่าจะให้ ไม่ได้คิดร้าย ไม่อยากเอาเป็นคดีความต่อ ฉันบ่อยากทำเหมือนไปขอเศษขอข้าวเขา ถ้าเต็มใจให้ก็ให้ บ่ได้เอาเรื่องเอาราว
“มันก็แค้นขึ้นมาบอกว่าเป็นเมียผู้ก่อเหตุ มีความผิดหยังนำ มันเศร้าตรงนี้ล่ะจ้า เสียน้องสาว เสียหลานน้อยมันเศร้าพออยู่แล้ว ไม่อยากให้เว้าคำนี้ขึ้นมาอีก มันรับบ่ได้ มันเป็นเพราะอีหยัง เขาบ่ได้ทำกับแฟนเขา ข่อยก็สูญเสียคือกัน…” เดือนตั้งคำถามในคำอธิบาย
เงินเยียวยาที่ครอบครัวของเดือนที่ไม่ได้นั้นเป็นเงินเยียวยาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นการบริจาคจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ นักเรียนนายร้อยตำรวจ และภาคเอกชนต่างๆ และมีการรับมอบเงินเหล่านั้นโดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เมื่อ 4 วันให้หลังจากเหตุการณ์นั้น
“เขาบ่เคยเฮ็ดอีหยังให้เฮาเสียใจ ออกไปรับจ้างทำงานก็เอาตังค์มาให้ทุกมื้อ มันตายไปก็โชคมีบุญวาสนาหลายที่ในหลวงมาพระราชทานเพลิงศพให้ ขั้นตายแบบไม่มีอีหยังที่บ้านเองก็ไม่มีอีหยังอยู่แล้ว มันจะลำบากเรื่องเงิน” เดือนพูดถึงน้องสาวพร้อมกับพนมมือไหว้เหนือหัว
“แล้วมีสิ่งที่อยากจะขอโทษไหมจ๊ะ” เสียงนักสังคมสงเคราะห์ถามขั้น
“ไม่มีอีหยังจะขอโทษหรอกจ้า ก็เอาหลานน้อยมาเลี้ยงระยะหนึ่ง แต่ก็คิดฮอดหลานคนนี้แฮงอยู่” เดือนว่าแล้วออกปากให้สามีของเธอไปหยิบรูปน้องสาวและหลานชายที่เสียชีวิตออกมาให้ดู เธอยินดีเผยความสดใสของรอยยิ้มและความรักให้คนต่างถิ่นชื่นชมและบันทึกภาพ
“เวลาเขากลับมาบ้านก็มากอด เฮาก็ถามว่ามีปัญหาอีหยังบ่กับผัวใหม่ เขาก็บอก บ่มีปัญหาอีหยังดอก แต่เราก็บ่คิดว่าสุดท้ายมันจะจบแบบนี้” เจ้าของภาพเอ่ยระหว่างที่ใช้นิ้วค่อยๆ ไล้ไปตามกรอบรูป และกางมือถูคราบฝุ่นออกจากส่วนใบหน้าของรูปภาพ ส่วนพ่อเฒ่าพูดเสริมถึงสามีของลูกสาวตัวเอง “บ่คิดว่าสิเป็นจังซี่ เพราะเวลามาบ้านก็สดใส ลูกสาวมาเล่าก็บอกว่าร่าเริงตลอด”
หลังพูดคุยกับทีมนักสังคมสงเคราะห์ เดือนลุกเดินไปยังสุ่มไก่ ข้าวเปลือกสองหยิบมือโปรยผ่านลงไปบนพื้นดิน ลูกเจี๊ยบ 3-4 ตัวเข้ามาร่วมวงด้วย ส่วนแม่ไก่โหมตีปีกทรงดีใจได้อาหาร แต่ด้วยความยังไม่แล้วใจ ฉันชวนเดือนคุยต่อ อยากรู้ว่าเธอมีโอกาสได้พบแม่ของสามีน้องสาวบ้างไหมหลังเกิดเหตุ
“เจอแล้ว เขามาขอโทษ เฮาก็บอก บ่เป็นหยังดอก มีหยังก็โทรมาหาเด้อ ให้อภัยกันแล้ว ทุกคนสูญเสียแต่ให้อภัยยายกันหมดแล้ว เขาไม่กล้าออกไปไหน เขากลัว” เดือนตอบระหว่างโน้มกิ่งมะขามลงมาเด็ดใบไว้หนึ่งกำมือก่อนจะว่า “ว่าจะต้มไก่ให้พวกสูกิน”
“มีเนื้อไก่อยู่แล้วหรือครับ” ฉันซักต่อ
“นี่ไง” นิ้วที่กำใบมะขามอยู่นั้นชี้ออกไปยังเจ้าตัวที่เพิ่งตีปีกไปหมาดๆ
ไม่ได้ต้องการปฏิเสธ แต่ด้วยความเกรงใจจากการติดนัดหมายอยู่อีกที่ เรากล่าวลาเดือนแทรกเจตนาการเลี้ยงข้าวของเธอ
“อาก๊าศหนาวบ่ขรั่บ” ฉันพยายามดัดสำเนียงตัวเองให้เหมือนกับสำเนียงท้องถิ่นเพื่อพูดลา แต่แทนที่จะได้คำตอบ กลับได้เสียงหัวเราะของทีมเจ้าภาพ
“ฝึกไว้เดี๋ยวเผื่อมาเป็นเขยอยู่อีสาน” เดือนพูดทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม เรายกมือไหว้เพื่อบอกลาอย่างเป็นทางการ
จากจุดกึ่งกลางของ ต.อุทัยสวรรค์ ขึ้นไปทางทิศเหนือไม่เกิน 3 กิโลเมตร บ้านปูนชั้นเดียวด้านหน้าปูกระเบื้องสีน้ำเงินสด ข้างบ้านมีกองดินทรายผสมหินกรวดขนาดย่อม ของเล่นเด็กทั้งรถแบ็คโฮตักดิน หุ่นไดโนเสาร์วางไว้เต็มลาน เด็กน้อยผลัดเล่นผลัดโยนไปมา บ้างโยนใส่รถมอเตอร์ไซค์ที่จอดอยู่ใกล้ๆ จึงมีเสียงผู้ใหญ่เอ็ดเด็กน้อยให้ระวัง
ฉันนึกถึงคำยายว่า คนสมัยก่อนเขาแข็งแรงกว่าคนสมัยนี้ เพราะเขาจะปล่อยให้ลูกได้เล่นกลางดิน กินกลางทราย จึงมีภูมิคุ้มกันมากกว่าเด็กที่โตอย่างอนามัย–จริงหรือไม่ ไม่มีทฤษฎีวิจัยอ้างอิงชัดๆ
‘ตาพรวน’ คือเจ้าของเสียงนั้น มีศักดิ์เป็นตาของหลานชายทั้งสามคน ได้แก่ ‘มิกซ์ ปกป้อง เดียว’ ผู้รอดจากความตายที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
เด็กชายสวมเสื้อสเวตเตอร์สีเหลือง กางเกงขาสั้นลายเบ็นเท็นสีน้ำเงินพร้อมแผลเป็นแนวยาวผ่ากลางศีรษะ มีร่องรอยเย็บราว 15 เข็ม ที่ข้อมือน้อยทั้งสองข้างมีสายสิญจน์สีเหลือง สีแดง และสีขาวผูกเป็นปมอยู่ 14 เส้น
“พวกชาวบ้านเขาผูกให้น้องมิกซ์ตอนเอิ้นขวัญนั่นล่ะ” ตาพรวนบอกพลางอุ้มหลานชายมาหอมฟอดบนตัก
ตาพรวนสูญเสียลูกสาวคนเล็กของตัวเอง ส่วนภรรยาของเขา-ยายของน้องมิกซ์กำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนากลาง “จะเรียกว่าโชคดีก็ไม่เต็มปาก” ตาพรวนเสริม
วันที่เกิดเหตุเด็กน้อยคนนี้ไม่ได้ไปโรงเรียน เหมือนจะโชคดี แต่ไม่ เพราะสุดท้ายก็ยังโดนทำร้ายระหว่างนั่งรถไปส่งมะเขือพวงขายที่ตลาดพร้อมกับแม่และยาย
แววตาของเด็กชายวัยกระเตาะใสซื่อเสียจนไม่รู้เลยว่า เขาเคยแผดเสียงสะท้อนความเจ็บปวดจากรอยแผลบาดลึก ส่วนผู้เป็นพ่อที่คอยอุ้มชูอยู่ไม่ห่างนั้นคงมีรอยแผลลึกที่หัวใจสุดบรรยาย
เด็กน้อยจะรับรู้เรื่องราวสุดเศร้าสะพรึงนี้ไหมเมื่อเขาโตขึ้น ตาพรวนรีบว่าระหว่างที่สายตาก็ลอดผ่านแว่นดำเพื่อมองหลานชายที่ฉุดลากของเล่นรถไฟโทมัสอย่างสนุกมือ “ปล่อยให้เขามีความฝันอื่นๆ เถอะนะ ถ้าเขาเห็นภาพที่ว่าทำไมถึงมีภาพถ่ายกับกระเช้าดอกไม้แล้วเขาสงสัยก็ต้องบอก”
ไม่รู้ว่ารถไฟโทมัสจะบรรจุความคิดความฝันอะไรไว้บ้างหรือเปล่า ฉันนึกถึงที่ซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยเขียนไว้ การที่มนุษย์ไม่สามารถจำเหตุการณ์ในวัยเด็กได้ เนื่องจากความทรงจำในช่วงนั้นโดนกดเอาไว้ หรือไม่ก็ถูกแทนที่ด้วยความทรงจำที่มากมาย และซับซ้อนมากกว่า จนเมื่อช่วงเวลาต่อมา ความทรงจำที่เคยถูกกดทับเอาไว้จะแสดงออกมาเป็นลักษณะตัวตนเมื่อโตขึ้น สมองของเด็กวัย 2-4 ขวบ มีระบบความจำในสมองที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ โดยเฉพาะสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ส่วนที่สร้างความทรงระยะยาวที่เพิ่งเริ่มพัฒนาจนไม่สามารถใช้การได้อย่างสมบูรณ์
วันนี้แม้มิกซ์จะสามารถกลับมาพักรักษาตัวที่บ้านได้อย่างปกติ แต่พ่อของมิกซ์บอกว่า มิกซ์กลายเป็นเด็กที่ไม่ค่อยพูดเหมือนแต่ก่อน จากเด็กที่เคยร่าเริง ยิ้มแย้ม วันนี้เขาเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับของเล่น และแสดงออกอย่างชัดเจนเมื่อไม่พอใจ เช่น ตีพ่อ หรือคนในครอบครัว แต่พ่อของมิกซ์พยายามคิดว่าอาจจะเป็นเพียงพฤติกรรมปกติในช่วงวัยเท่านั้น
ในชายคาบ้านเดียวกัน หญิงรุ่นใหญ่ 5 คนกำลังนั่งจับกลุ่มสนทนากันโขมงโฉงเฉง เสียงของ ‘แม่บุญช่วย’ ดูจะโดดเด่นกว่าเพื่อน ไม่เพียงต้องพูดพร่ำทำเพลง ทันทีที่ฉันเข้าไปทักทายสวัสดี พวกเธอก็พร้อมใจพาย้อนอดีตไปสู่เหตุการณ์ทันที
“ตอนนั้นแม่ออกไปซื้อของที่ร้านค้าของเมียกำนัน แม่นั่งคุยกับเขา ทีนี้แม่เห็นรถกระบะสีขาวมันตีไฟเลี้ยวเข้ามา แล้วขับผ่านไป จนมารู้ทีหลังไอ้รถคันนั้นมันคือมือปืน เท่านั้นล่ะ แม่ก็รีบช่วยกันปิดร้าน นั่งเงียบอยู่ข้างใน” แม่บุญช่วยเริ่มเล่าเป็นฉากๆ
“แม่มีพระดีอะไรหรือเปล่า” ฉันพยายามหยอกเพื่อให้บรรยากาศผ่อนคลายที่สุด
“บ่มีอีหยัง” แม่บุญช่วยบอกปัด
“สงสัยดวงยังไม่ถึงฆาต” เสียงของแม่อีกคนแทรกขึ้นเรียกเสียงหัวเราะกันตัวโยนทั้งกลุ่ม
แม่บุญช่วย ปะติดปะต่อเหตุการณ์จากมุมของเธอเพิ่ม เธอเห็นรถกระบะมือปืนระยะประชิด เสียงรถพยาบาลดังระงม หัวอกหัวใจสั่นหวั่นไหวไปหมด ครั้นจะขับมอเตอร์ไซค์กลับบ้านก็ไม่กล้าเพราะกลัวถูกยิง ประกอบกับเมียกำนันเป็นคนขี้กลัวจนนั่งหอบหืดกำเริบ เธอจึงต้องไปช่วยบีบนวดเพื่อคลายกังวล
“ตำรวจมันรักสงบนะ มาตอนทุกอย่างสงบแล้ว จะมาหาพ่อหาแม่อีหยัง” บรรดาหญิงใหญ่ต่อด้วยการกร่นด่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรียกเสียงหัวเราะในวงอีกครั้ง
“แล้วเจอวิญญาณคนตายบ้างหรือเปล่าแม่” ฉันโพล่งคำถามเปลี่ยนเสียงบรรยากาศฉับพลัน
“ผีห่า ไสยศาสตร์บ่มีดอก ตอนไปเรียกวิญญาณก็นิมนต์พระ เอากับข้าวกับปลา ธูปเทียนสายสิญจน์ไปเชิญให้กลับบ้านเรานะ แม่ก็บอกให้ไปเป็นนางฟ้านางสวรรค์ อย่ามาทำไม่ดีให้ชาวบ้าน เขาก็ว่ากันว่าเห็นอยู่ตรงนั้นตรงนี้” แม่บุญช่วยว่า
“มีแต่เขาลือกันที่ อบต. ได้ยินเสียงเด็กร้องกันระงม อาจจะมีเนาะ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” แม่อีกคนกล่าวเสียงเรียบเบา
ดวงอาทิตย์ค่อยๆ เลื่อนผ่านจากจุดเที่ยงไปบ่าย กลิ่นไอแดดและเส้นแสงแทรกเข้ามาในชายคาบ้าน บรรดาแม่ๆ ต่างลุกขึ้นม้วนเสื่อแล้วโยนใส่รถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างที่น้องมิกซ์เคยนั่ง ตอนนี้มันจอดนิ่ง คราบฝุ่นเริ่มเกาะอาศัยพร้อมความทรงจำอันเลวร้าย
“บอกตรงๆ ยังแค้นอยู่ โมโหตรงที่ทำกับเด็กตัวเล็กๆ ได้ยังไง ยิ่งเห็นรอยที่หัวหลานยิ่งทนไม่ได้ อยากให้มันทรมานสักหน่อยก็ยังดี” แม่บุญช่วยสำทับเป็นเรื่องเล่าสุดท้าย
ระหว่างออกจากบ้านตาพรวน ฉันนึกถึงเกมส์ประเภท MOBA ตำแหน่งที่สำคัญและมีพลังมากที่สุดในการเดินเกมคือ ‘ตัวซัพพอร์ต’ ที่จะคอยช่วยเหลือ ฮีลลิ่ง หรือกดสกิลเพลย์เพิ่มเลือดให้กับคนในทีมเมื่อตกอยู่ในอุปสรรค เหมือนที่ ‘ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์’ ว่าไว้ “พลังอันยิ่งใหญ่ก็จะมาพร้อมความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง”
นอกจากโรงพยาบาลนากลางที่เป็นศูนย์ช่วยเหลือในทางกายภาพ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต.อุทัยสวรรค์ หน่วยย่อยที่สุดในหลักประกันสุขภาพของคนพื้นที่นี้ยังต้องควบหน้าที่ในการเยียวยาจิตใจคนในชุมชนไปด้วยเช่นกัน
“ทีมนักสังคมสงเคราะห์ที่ต้องรับผิดชอบมี 4 จังหวัดคือ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี และหนองคาย” พู่เพลงพิณ หรือ ญิ๋งญิ๋ง หนึ่งในนักสังคมสงเคราะห์บอกฉัน
‘นักสังคมสงเคราะห์’ หรือที่เรียกว่าเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team) คือคนที่ต้องไปใกล้ชิด สัมผัส คลุกคลีกับเหยื่อของความรุนแรง
“เขาคือเพื่อนที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ เราใช้ความเป็นเพื่อนมนุษย์บวกกับวิชาชีพเข้าไปบริการ พวกเขาไม่ถึงกับเป็นผู้ป่วย แค่ช่วงสภาวะหนึ่งของจิตใจที่วิกฤต” พู่เพลงพิณกล่าวถึงความอ่อนไหวในวิชาชีพ
ทีม MCATT ของพู่เพลงพิณ ต้องใช้เวลา 3 เดือนในภารกิจเยียวยาจิตใจ แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 ในช่วง 2 สัปดาห์แรกเก็บข้อมูล เข้าไปพูดคุยเพื่อประเมินอาการว่าจำเป็นเร่งด่วนต้องพบจิตแพทย์ทันทีหรือไม่ ส่วนระยะที่ 2 ในช่วง 2 สัปดาห์-3 เดือน เป็นการพูดคุยติดตามอาการหลังจากผ่านระยะแรก และประเมินอีกครั้ง ก่อนส่งต่อข้อมูลให้กับทางฝ่ายปกครอง หรือกระทรวงพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อให้การช่วยเหลือได้ครอบคลุมที่สุด
ภาวะซึมเศร้าหดหู่ลามไปในสังคมโซเชียล จนเกิดประเด็นถกเถียงกันเข้มข้นในการให้กำลังใจผู้ได้รับผลกระทบทางจิตใจ คำว่า “สู้ๆ นะ” หรือ “อย่าคิดมาก” กลายเป็นคำต้องห้าม คำถามคือในในวิชาชีพนี้คิดอ่านอย่างไร
“เราต้องเข้าใจบริบทของการเข้าไปพูดคุย การจัดการภาวะอารมณ์ของคนที่เป็นเหยื่อเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ควรไปโฟกัสให้เขารีเพลย์เหตุการณ์ หรือบอก สู้ๆ นะ เพราะนี่ไม่ใช่สงคราม เขาไม่ได้สู้ เขาต้องการคนรับฟัง เราควรบอกเขาว่า สิ่งที่เขากำลังทำอยู่ตอนนี้มันเป็นสิ่งที่ดีนะ ทวนให้เขาเห็นว่ามันมีข้อดี เป็นจุดเข้มแข็งเพื่อให้เขามีกำลังใจในการทำสิ่งนั้นต่อ…” พู่เพลงพิณ อธิบาย
คนหนุ่มสาวที่นิยมความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัดมักของมักหล่นวลีที่ว่า “อย่าเอาใจลงไปเล่น” เพื่อป้องกันการบอบช้ำทางหัวใจ แต่ในมุมของนักสังคมสงเคราะห์ที่ต้องอยู่กับความรู้สึกมหาศาลของผู้ผ่านเรื่องสะเทือนใจอย่างความเป็นความตาย วิธีไหนคือกลไกป้องกันการบอบช้ำทางใจ
“ก่อนเข้าไปเยียวยาผู้อื่น เราต้องคลีนใจตัวเองมาก่อน โฟกัสกับตัวเองว่าความสัมพันธ์ในการช่วยเหลือคน ขอบเขตคืออะไร บางครั้งเราไปนั่งฟังคนที่เขาสูญเสีย กลายเป็นว่าเราอินไปกับเขา เราต้องดึงตัวเองกลับมา” พู่เพลงพิณ อธิบายและเสริมว่า การทำงานของหน่วยเยียวยาจิตใจมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เพื่อเอาพลังงานด้านลบ ทั้งความกลัว โศกเศร้า และโกรธแค้นให้มันเจือจางหายไป
“ทีมเราเองจะมีการพูดคุยกันหลังทำงานเสร็จ ใครไหวไม่ไหวอย่างไร ต้องฮีลใจกันระหว่างทีม แต่ถ้ายังอินอยู่ไม่พร้อมทำงานต่อ ต้องให้พักก่อน เพราะเราเป็น helper เพื่อช่วยคนอื่น แต่ถ้าเราต้องให้คนอื่นเยียวยามันก็เป็นภาระทีม” พู่เพลงพิณย้ำ
ฉันสังเกตเห็นเสื้อกาวน์ของพวกเธอเปรอะรอยฝุ่นสีคล้ำๆ คราบฝุ่นนั้นคงติดค้างมาจากการทำงาน ส่วนคราบความรู้สึกที่ถาโถมเข้ามา ฉันคิดว่าเจ้าของเสื้อคงมีวิธีทางชะล้างมันออกได้ด้วยทางใดทางหนึ่ง
ในบรรยากาศแห่งความระทม เหมือนว่าสิ่งที่พู่เพลงพิณมองเห็นนั้นไม่ได้ชวนหดหู่เสมอไป “มันมีความเบ่งบานของสัมพันธภาพของคนในชุมชนที่ดูเหมือนจะแน่นเเฟ้นกันมากขึ้น ท่ามกลางความโศกเศร้า เราเห็นมุมที่มีพลังของกลุ่มญาติมิตรที่เพิ่มมากขึ้น” สาวนักสังคมสงเคราะห์สะท้อน
สิ้นการสนทนา เสียงในหัวฉันดังเป็นเพลง Heal The World ของไมเคิล แจ็คสัน ที่กำลังร้องว่า “and say we want to make it a better place”
บอร์ดด้านหน้าห้องอำนวยการเยียวยาจิตใจที่ รพ.สต. แปะแผ่นป้ายลำดับเหตุการณ์ และเส้นทางเกิดเหตุ พร้อมทั้งระบุรายละเอียดของเหตุการณ์ทั้ง 12 จุด จากเส้นทาง 4.2 กิโลเมตร ฉันค่อยๆ ไล่นิ้วเทียบตัวเลขกับช่วงเวลาที่เกิดเหตุเหมือนกับกำลังแก้ปริศนา
“จุดที่ 12 เข้าบ้านตัวเอง ฆ่าเมีย ลูก และฆ่าตัวตาย รวม 3 ศพ” ฉันพึมพำอ่านตามแผ่นกระดาษ ก่อนดีดนิ้วส่งสัญญาณให้ช่างภาพเพื่อไปต่อ
“ถอยไปเข้าซอยเล็กๆ ตรงไปแล้วจะเจอแทงค์น้ำ” เราได้คำชี้ทางจากป้าคนหนึ่งที่กำลังนั่งสานไม้กวาดอยู่ หลังจากรถเราเลยที่หมายมาแล้ว
ห่างจากถนนหลักเพียงกิโลเมตรเดียว เรามาหยุดรถที่ริมรั้วบ้านที่ต้นหญ้าขึ้นท่วมมิด พอแหวกดูจึงเห็นเศษแถบกั้นของตำรวจที่ถูกตัดทิ้งเมื่อจบภารกิจ ใกล้กันนั้นมีกล่องใส่บิลค่าไฟฟ้าที่กลายเป็นกล่องรับเศษกิ่งไม้แทน
ห่างจากรั้วบ้านเข้าไปไม่ถึง 10 ก้าว ฉันพบคราบเขม่าดินจากเพลิงไหม้ที่เจ้าของรถตั้งใจเผาทำลายดังที่ปรากฏในข่าว ใกล้ๆ กันมีโอ่งใบใหญ่ตั้งอยู่ใต้ร่มไม้
บ้านสีชมพูอ่อนชั้นเดียวมีปฏิทินแผ่นย่อมแขวนห้อยโตงเตง ทำท่าจะหลุดแหล่ไม่หลุดแหล่ ที่ประตูไม้บานใหญ่ถูกโซ่คล้องปิดตายจากด้านนอกเพื่อยืนยันว่าไม่ใครอยู่ด้านใน พร้อมลำไม้ไผ่และท่อนไม้ถูกนำมาวางเรียงปิดตาย
แดดบ่ายกำลังเปรี้ยง อากาศอบอ้าว แต่ฉันกลับหวิวเย็นสะท้านขึ้นมาอย่างปลาบแปลบสะท้านถึงขั้วหัวใจ แม้บริเวณโดยรอบจะโปร่งโล่ง แต่การยืนสูดลมหายใจอยู่ตรงนี้กลับให้ความรู้สึกอึดอัดอย่างบอกไม่ถูก
รอยแตกเล็กๆ ที่มุมด้านล่างของกระจกหน้าต่างดึงดูดให้ฉันอยากแนบตาเข้าไปส่องดูข้างใน แต่เพียงชั่วครู่ลมวูบหนึ่งก็พัดมากระทบกับสแลนสีเขียวที่ห้อยโตงเตงจนเป็นเสียงดังขอดแขดจนชวนสะดุ้งโหยง ฉันตัดใจถอยออกมา แต่ตาก็กลับเหลือบเห็นข้อความที่พ่นอยู่กำแพงซีเมนต์
แม่-แมน-บาส ลูกรัก…
4 ถ้อยคำที่ระบุถึงได้แก่ ‘แม่’ คือ ภรรยา ‘แมน’ คืออดีตตำรวจ และ ‘บาส’ คือลูก ส่วน ‘ลูกรัก’ คงเป็นคำขยายคำก่อนหน้าหน้าให้แจ่มชัด
ฉันคิดต่อไปถึงคำว่า ‘บ้าน’ ขึ้นมา บ้านสำหรับบางคนคือที่ไว้ซุกหัวนอน กับบางคนไม่ใช่แค่สถานที่ แต่คือครอบครัว แต่บ้านหลังนี้กลับให้คำตอบฉันว่าเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและจุดจบในชีวิต-แม้ไม่พึงปรารถนา
“แม่เป็นแบบไหนลูกเป็นแบบนั้น”, “ไม่ต้องให้ที่เผาศพมัน ให้แม่มันไปหาที่อื่น”
คำพรรณนาในช่องคอมเมนต์ของโพสต์ข่าวโศกนาฎกรรมนี้ผุดขึ้นมาในวาบความคิด ฉันไม่แน่ใจนักว่าจะมองปรากฏการณ์เหล่านั้นว่าอะไร อะไรทำให้คนเราต่างสาปแช่งต่อกันได้เกินกว่าที่มนุษย์ปกติจะยอมรับได้
แม่ของ ‘จ.ส.อ.ปัญญา คำราบ’ ปฏิเสธที่จะพบเจอฉันด้วยการกล่าวผ่านทางโทรศัพท์สั้นๆ ว่า “แม่เหนื่อยแล้ว…” ก็เป็นเรื่องที่ควรเข้าใจ เพราะที่ผ่านมา เธอถูกตีตราไปมากจนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้หายใจ
การถูกตีตราว่าเป็น ‘แม่ฆาตกร’ ราวกับความชั่วร้ายสืบทอดกันทางสายเลือดได้นั้นอาจไม่ต่างกับการถูกประหารเสียบประจานในสมัยอดีตที่เคยมีการประหาร 7 ชั่วโคตร
ความเชื่อโบราณยังโถมขึ้นมาในห้วงคิดฉัน “ใครที่ฆ่าตัวตาย เมื่อกลายเป็นวิญญาณแล้วก็จะวนเวียนกลับมาฆ่าตัวตายซ้ำๆ” ฉันไม่แน่ใจว่าจริง แต่คำถามที่สังคมปัจจุบันสงสัยและยังไม่ถูกไขให้กระจ่างคือ ความบกพร่องในการบริหารงานภายในองค์กรตำรวจ ยศชั้นผู้น้อยถูกกดขี่ลงมาเป็นทอดๆ เป็นสาเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมนี้ด้วยหรือไม่
เหมือนกับที่ พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข อดีตผู้บัญชาการปราบปรามยาเสพติด กล่าวไว้ตอนเสวนาโต๊ะกลม ถอดบทเรียนเรื่องดังกล่าวว่า ผู้พิพากษาให้หาคนรับรองความประพฤติทั้งจากผู้บังคับบัญชา และนายก อบต. เพื่อไปสู้คดีทางวินัย แต่ทุกคนหนีเขาหมด ทำให้อาชญากรในอากาศเป็นตัวจริง
ฉันมาที่วัดราษฎร์สามัคคี ต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง เพื่อมาหาคำอธิบายว่าหลังเหตุการณ์ คนในชุมชนเขาหาทางเยียวยาจิตใจกันอย่างไร นอกจากมีนักสังคมสงเคราะห์ให้การช่วยเหลือแล้วบางส่วน คิดเอาเองว่าคนท้องถิ่นย่อมผูกความศรัทธาทางใจไว้กับวัดวาอารามกันพอสมควร
ห่างจากซุ้มประตูวัดเข้ามาทางซ้าย พื้นที่ลานเอนกประสงค์ประมาณเกือบหนึ่งไร่ที่เคยเป็นผืนหญ้า ตอนนี้ถูกกลบด้วยหินกรวดจนแน่น เป็นร่องรอยของการฌาปนกิจที่เพิ่งผ่านพ้น ไม่ไกลมีเจดีย์ใส่กระดูกมากมายเรียงชิดติดกัน บนพื้นหินกรวดเต็มไปด้วยกลีบดอกพะยูงสีขาวปลิวหล่น
ที่วัดนี้ถูกใช้เป็นวัดหลักเพื่อประกอบพิธีพระราชทางเพลิงศพเหยื่อจากเหตุความรุนแรง มี 19 ศพจากทั้งหมด 36 ศพ ส่วนที่เหลือแบ่งออกไปอีก 2 วัดได้แก่ วัดศรีอุทัย และวัดเทพมงคลพิชัย
บ่ายแก่ๆ เช่นนี้แทบไม่มีคนภายนอกเข้ามาในวัดนอกจากฉันกับช่างภาพ พระ 2 รูปกำลังกวาดลานวัด ยกหามเศษใบไม้อย่างขะมักเขม้น วัดนี้ก่อสร้างเมื่อปี 2474 โดยชาวบ้านหนองกุงศรีและบ้านโพธิ์ศรีสมพร ความร่วมแรงร่วมใจของคนทั้งสองหมู่บ้าน วัดจึงได้ชื่อว่า ‘ราษฎรสามัคคี’ ต่อมาได้เพิ่มการันต์เป็น ‘ราษฎร์สามัคคี’ และยังเป็นวัดประจำเจ้าคณะตำบลอุทัยสวรรค์ด้วย
ใกล้ที่ตั้งของเชิงตะกอน ‘หลวงพี่เพิ่ม’บวชมาแล้ว 13 พรรษา เล่าถึงวันที่ชาวบ้านขัดขวางการให้วัดเผาร่างผู้ก่อเหตุว่า “คนในหมู่บ้านเขาบ่พอใจ แต่ตอนหลังเขาก็บอกใหม่ว่าถ้าไม่มีที่เผา เสร็จงานแล้วก็มาเผาได้ แต่บ่ให้เผารวม”
จะอย่างไรก็ตาม ศพของ จ.ส.อ.ปัญญา คำราบ ถูกเผาที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี แต่ไม่มีบทสวดส่งศพ ไม่มีแม้แต่บทสวดพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ ‘สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ’ ไรเสียงบาลีใดๆ ถึงวิญญาณผู้ตาย มีเพียงเสียงเคาะโลงและคำเอ่ยสั้นๆ ของผู้เป็นแม่ที่ไม่ต้องการให้ชาติหน้าไปลงมือฆ่าใครอีก
ที่ฉันยืนอยู่แม้ไร้กลิ่นกรุ่นเชิงตะกอน แต่ร่องรอยก็บ่งบอกว่าการร่ำลาอย่างเป็นทางการเพิ่งผ่านพ้นไม่นาน
“รู้ไหมว่าวันที่เผาใหญ่ สักตี 1 หมอปลามาด้วยนะ หมาก็หอนกันระงม ตอนกลางคืนนั้นไฟมันก็ยังมอดไม่หมด เห็นเขาถือน้ำเข้ามา ชาวบ้านก็กลัวว่าหมอปลาจะเอาวิญญาณเด็กไปทำอะไร แต่ไม่มีอะไรหรอก” พลวงพี่เพิ่มบอก
ต่อมอยากรู้อยากเห็นของฉันทำงานเพิ่ม เพราะคาดเดาไปว่าความคิดความเชื่อทางไสยศาสตร์ไม่ได้แยกขาดจากคนท้องถิ่นอย่างสิ้นเชิง แต่หลวงพี่เพิ่มอธิบายเปิดประเด็นใหม่ว่า “บ่มีดอก มีแต่ยาบ้าถูกๆ ที่ทำให้คนไปเข้าหานั่นล่ะ”
คนพื้นที่รู้และเห็นมาตลอด ปัจจุบันยาบ้าขายอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ตกเม็ดละ 30 บาท และส่วนหนึ่งทำให้การแพร่ระบาดง่ายขึ้นเพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นขบวนการในการขายให้กลุ่มวัยรุ่น
มาถึงตรงนี้คำถามมีอยู่ว่า เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าโศกนาฏกรรมที่ผ่านมาจะเป็นครั้งสุดท้าย ? เราไม่ได้ถามหลวงพี่เพิ่ม เมื่อพิจารณาว่าหน้าที่การตอบนี้ไม่ควรเป็นภาระของสงฆ์
วันต่อมา-วันสุดท้ายที่อุทัยสวรรค์–พวกเราไปที่โรงเรียนหนองกุงศรีโพธิ์ศรีสมพร หลังทราบว่าจะถูกใช้เป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชั่วคราวก่อนจะมีการสร้างที่ใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรี
‘ชัยณรงค์ ศรีประจง’ ครูชำนาญการพิเศษ ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการโรงเรียน ออกมาทักทายต้อนรับ ฉันเริ่มให้เจ้าภาพสะท้อนภาพความรุดหน้าของภารกิจสำหรับลูกหลานของชุมชน
“ยังมีปัญหาทั้งเรื่องห้องน้ำ สนามเด็กเล่นที่ต้องสร้างใหม่ แต่ทาง อบต. เพิ่งสนับสนุนด้วยการมาตัดต้นไม้ด้านหน้านี้แล้ว” ครูชัยณรงค์ให้ภาพการเตรียมความพร้อมปรับทัศนียภาพเพื่อรองรับเด็กเกือบ 70 คน
อาคารที่ถูกใช้เป็นพื้นที่ชั่วคราวของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคืออาคารชั้นเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ที่ตอนแรกจะเปิดสอนถึงระดับประถมศึกษา และได้ยกฐานะเป็นโรงเรียนขยายโอกาสตามนโยบายรัฐบาล ตามป้ายระบุข้อความหน้าโรงเรียนว่า ‘โรงเรียนประชารัฐ’
แม้เกิดขึ้นตามนโยบาย แต่ที่นี่ยังมีบุคลากรครูและอุปกรณ์การเรียนไม่เพียงพอ ครูที่เพิ่งสอนพละอยู่เมื่อครู่ พอสิ้นเสียงกระดิ่งดังก็ต้องวิ่งมาสอนภาษาอังกฤษต่อ นักเรียนชั้น ม.1 – ม.3 แม้จะต่างช่วงอายุ แต่ก็ต้องนั่งติดกันในทุกรายวิชา ยังไม่ต้องพูดถึงน้ำประปาที่ยังส่งกลิ่นตะกอนอวล นี่คือสภาพความเป็นอยู่ของเด็กที่ยังมีชีวิตต่อไป แม้ไม่ได้เป็นเหยื่อโศกนาฏกรรมก็ตาม
ครูชัยณรงค์แนะนำนักเรียนในแต่ละห้องว่าเรามาเยี่ยมเยือน แต่ความเคอะเขินคนแปลกหน้าของเด็กๆ พวกเขาทำได้เพียงแอบกระหยิ่มยิ้มย่องลอบมองเราอยู่ที่ขอบประตู เมื่อฉันโบกมือให้เด็กที่นี่เพียงเล็กน้อย พวกเขาก็ออกอาการวิ่งแจ้นหลบเข้าห้องเรียนไป
เย็นแล้ว เราออกจากโรงเรียน วิ่งมาตามถนนทางหลวงชนบท มุ่งหน้า จ.อุดรธานี ฝนพรำลงมาตลอดทาง “ชีวิตยังต้องเดินตามหาความฝัน หกล้มคลุกคลานเท่าไหร่” เสียงเพลงคุ้นหูก้องจากลำโพงรถ
ตามเส้นทางสองข้างทางล้วนเป็นร้านขายของชำสลับกับทุ่งนา เด็กๆ วัยแก๊งแฟนฉันบ้างวิ่งเล่นเตะบอล ถีบจักรยาน บ้างโชว์ฟอร์มขี่มอเตอร์ไซค์เล่น
เราแวะเข้าไปที่ อบต.อุทัยสวรรค์ อีกครั้งเพื่อร่ำลา 3 หนุ่มใหญ่ อพปร. ที่วันนี้พวกเขามาเข้างานไวกว่าปกติ อาจจะเพราะเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว ฟ้าจึงมืดครึ้มไวกว่าปกติ
“มาเฝ้ายามแบบนี้ ต้องมีเหล้าขาวจักหน่อยแล้วบ่ครับ” ฉันแค่นสำเนียงตัวเองให้เป็นอีสานมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
“มีบ่ล่ะไอ้หำ…” หนึ่งในนั้นตอบฉันกลับมา ก่อนจะหัวเราะลั่นและคว้ามวนยาสูบเข้าปาก
คงตามเคย ชีวิตที่อุทัยสวรรค์ต้องเคลื่อนผ่านต่อไป ขณะที่ก้าวต่อไปของรัฐบาล เราได้เห็นนายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจฯ ทำการรีเอ็กซ์เรย์ทุกพื้นที่เพื่อค้นหารายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
ฉันมีโอกาสสอบถามกับ ผบ.ตร. ว่าทำไมครอบครัวของผู้สูญเสียถึงไม่ได้รับเงินเยียวยาที่เท่าเทียมกัน คำตอบของ ‘เจ้ากรมปทุมวัน’ ระบุว่า “ผมเสนอตามสายงานไปแล้วว่าอยากให้ แต่ที่ไม่ปรากฏชื่อครอบครัวเขาว่าเป็นเหยื่อที่ต้องได้รับเงินเยียวยา เพราะเป็นความประสงค์ของผู้บริจาคเงินที่โกรธแค้นลุกลามทั้งครอบครัวผู้ก่อเหตุ แต่ท้ายที่สุดก็อยู่ที่ดุลพินิจของคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งมาเพื่อพิจารณางบเยียวยานี้”
15 พ.ย. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีการอนุมัติกองทุนผู้ประสบเหตุเพื่อเพิ่มเงินเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุโศกนาฏกรรม รายละ 1 ล้านบาท และยังได้มีการเยียวเงินให้กับครอบครัวผู้สูญเสียทารกในครรภ์วัย 8 เดือน โดยระบุว่าเป็นการพิจารณาตามหลักมนุษยธรรม หลังมีข่าวครอบครัวผู้สูญเสียเรียกร้องทารกในครรภ์ก็นับว่าเป็นมนุษย์
บทเรียนโศกนาฏกรรมที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอุทัยสวรรค์มีมากมายให้ทบทวนเรียนรู้ และอาจเป็นกระจกใบเล็กๆ ที่สะท้อนประเทศไทยของเราได้อีกหลายซอกมุม
เรืื่อง : ทัตตพันธ์ุ สว่่างจันทร์
ภาพ : เสก สามย่าน