ไม่พบผลการค้นหา
สภาฯ ถก 3 ร่างแก้ไข 'พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน' ด้าน 'ก้าวไกล' เพิ่มวันหยุด-สร้างสมดุลชีวิต ขณะ 'เพื่อไทย' หนุนแรงงานหญิงไม่เลือกปฏิบัติ ฟากรัฐบาลติงขึ้นค่าแรงอาจกระทบเศรษฐกิจยาว

วันที่ 6 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. …. ที่ เซีย จำปาทอง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะ เป็นผู้เสนอ นอกจากนี้ ยังมีร่างกฎหมายในทำนองเดียวกันอีก 2 ร่าง ได้แก่ร่างของ วรรณวิภา ไม้สน สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ วรศิษฎ์ เลียงประสาท สส.สตูล พรรคภูมิใจไทย

โดย เซีย เสนอหลักการว่า เราเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่ากฎหมายเปลี่ยนชีวิตคนทำงาน เพื่อให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้น ปัจจุบันแรงงานถูกลืม ไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลที่ผ่านมา แค่ปัจจัย 4 ก็ตกไปแล้ว 350 บาทต่อวัน ค่าจ้างขั้นต่ำหมดแล้ว ไม่พอใช้ ลองจินตนาการดูว่าถ้าไม่รับค่าแรงขั้นต่ำ 300 กว่าบาท ท่านจะมีชีวิตอยู่อย่างไร มนุษย์มีความจำเป็นพื้นฐานที่ต้องให้ชีวิตตัวเองอยู่รอดเหมือนกัน แต่ที่ผ่านมาแรงงานไม่ได้รับการดูแลจนทำให้เกิดหนี้สินมากมาย

เซีย ระบุว่า ร่างฉบับนี้ยังเสนอแก้ไขเปลี่ยนการจ้างงานแบบรายวันเป็นรายเดือน และนิยามหนึ่งเดือนเท่ากับ 30 วัน สำหรับลูกจ้างที่ลักษณะเป็นงานประจำและเต็มเวลา เพราะที่ผ่านมามีปัญหาการเลือกปฎิบัติในการจ้างงาน แม้ลูกจ้างสองคนทำงานในสถานประกอบการเดียวกัน ลัษณะงานเหมือนกัน แต่การจ้างงานไม่เหมือนกัน ลูกจ้างรายวันมีสวัสดิการด้อยกว่าลูกจ้างรายเดือนที่นั่งติดกันและทำงานลักษณะเดียวกัน และลูกจ้างรายวัน ทุกๆวันอาทิตย์ เมื่อเขาหยุดงานตามกฎหมาย เขาจะไม่ได้ค่าจ้าง แม้ในวันหยุดหรือวันเจ็บป่วยไม่สบาย  การจ้างงานแบบรายเดือน ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะเป็นการยืนยันสิทธิในวันหยุดต่าง ๆ ของคนทำงานทุกคน รวมถึงทำให้แรงงานมีรายได้ที่แน่นอนสามารถวางแผนจัดการทางด้านการเงินของตนเองได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

นอกจากนั้น จะแก้ไขเวลาการทำงาน สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมง จากเดิมที่กฎหมายกำหนดไว้สัปดาห์หนึ่งไม่เกิน 48 ชั่วโมง ให้ลูกจ้างมีวันหยุดไม่น้อยกว่า 2 วัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกินห้าวัน เพื่อให้แรงงานมีเวลาพักผ่อน ควบคู่กับการกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ลาพักผ่อนประจำปีจำนวน 10 วันต่อปี เป็นอย่างน้อย เพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดไว้เพียง 6 วันต่อปี และสามารถสะสมวันลาได้

“ต่อไปนี้จะต้องไม่มีใครต้องการทำงานหนัก แต่ตนเองจนลง สภาพร่างกายทรุดโทรมก่อนเวลาอันควร หรือมีเวลาใช้ชีวิตที่น้อยลง แต่ปัจจุบันนี้แรงงานส่วนใหญ่ไม่เคยมีทางเลือกจริงๆ เมื่อท้องหิวก็ต้องหางานทำ แม้จะรู้ทั้งรู้ว่างานนั้นจะถูกกดขี่ขูดรีดเอาเปรียบอย่างหนักก็ตาม เพื่อให้มีเงินซื้อข้าวกินประทังชีวิตของตนและครอบครัว ก็จำเป็นต้องทำ” เซีย กล่าว


'เพื่อไทย' หนุนแรงงานหญิงเท่าเทียม

ขณะที่ ขัตติยา สวัสดิผล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนร่างแก้ไขกฎหมายแรงงาน โดยระบุว่า แรงงานสร้างชาติ แต่สิทธิสวัสดิการของแรงงานในชาติยังไม่เพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ผ่านมามีเพียงกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงานในระดับพื้นฐาน ยังไม่ครอบคลุมรอบด้าน ทำได้เพียงแค่ประกันคุณภาพชีวิตให้ไม่ตกต่ำกว่าที่เป็นอยู่

จากอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างแรงงานและนายจ้าง รัฐบาลที่มาจากประชาชน ก็มาจาก 1 สิทธิ์ 1 เสียงของแรงงานและนายจ้างเหมือนกัน รัฐบาลต้องทำหน้าที่เป็นกลไกเพื่อขจัดความไม่เท่าเทียม กฎหมายแรงงานจึงต้องโอบอุ้มและให้ความสำคัญกับแรงงานลูกจ้างมากกว่านายจ้าง

ขัตติยา ยกข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ทั้งหมด 58.8 ล้านคน เป็นแรงงานจำนวน 40.28 ล้านคน คิดเป็น 68.5% แต่แม้ประชากรหญิงมีจำนวนมากกว่าประชากรชาย แต่มีสัดส่วนของแรงงานหญิงน้อยกว่าแรงงานชาย

"สถิตินี้จะสะท้อนให้เห็นปัญหาการกดทับของโครงสร้างทางสังคม และกฎหมายที่มีต่อแรงงานหญิง เนื่องจากผู้หญิงไม่ควรสูญเสียโอกาสในการทำงานเพราะต้องเลี้ยงลูก เนื่องจากผู้ชายไม่สามารถลาเลี้ยงลูกได้ ผู้หญิงไม่ควรถูกมองข้ามในภาวะมีประจำเดือน และไม่ควรมีกฎหมายที่ยังกำหนดว่า ผู้หญิงอ่อนแอและมีทักษะทางร่างกายด้อยกว่าผู้ชาย" 

ขัตติยา ยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างกฎหมายแรงงาน ควรขยายสิทธิให้แรงงานลูกจ้างลาไปเลี้ยงลูกควบคู่กับลาไปคลอดลูกได้ ตามหลักการว่าการเลี้ยงลูกไม่ใช่หน้าที่ของผู้หญิงเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของผู้ชายด้วย ไม่ใช่ผลักภาระให้เพศหญิง มีหลายประเทศขยายสิทธิให้เพศชายลาไปเลี้ยงลูกรวมถึงลูกบุญธรรมด้วย

ขัตติยา ยังกล่าวถึงอาการปวดประจำเดือน และอาการที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนถูกมองข้ามในระดับสวัสดิการ อยู่ในระดับเดียวกับอาการเจ็บป่วย มากกว่าจะเป็นเงื่อนไขของร่างกาย ซึ่งมองได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศในสถานที่ทำงาน

นอกจากนี้ ขัตติยา ยังเสนอให้แก้ไขหมวด 3 เลือกการใช้แรงงานหญิง ในมาตรา 38-43 เรื่องการกำหนดอัตราน้ำหนักที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานได้ ปี 2547 มองว่า หมวดนี้เกิดขึ้นมาด้วยสำนึกปิตาธิปไตย ที่มีมายาคติว่าเพศหญิงสุขภาพอ่อนแอ แรงน้อย และถูกกระทบกระเทือนทางร่างกายง่ายกว่าผู้ชาย สำนึกเช่นนี้ ก็ไม่ต่างไปจากครั้งหนึ่งที่แรงงานหญิงได้รับค่าแรงน้อยกว่าแรงงานชาย


หวั่นร่าง 'ก้าวไกล' เป็นลูกกวาดอาบยาพิษ

ขณะที่ ธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนร่างแก้ไขกฎหมายแรงงาน โดยระบุว่า ปัจจุบันนี้ค่าครองชีพต่างๆ สูงขึ้นทุกวัน ผู้ประกอบการรายย่อยและร้านค้าบริการเล็กๆ มีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินมาหลายปี หลายรายต้องปิดกิจการเป็นหนี้สิน ซึ่งแรงงานก็ได้รับความทุกข์ไม่ต่างกัน เพราะมีอัตราค่าจ้างไม่พอต่อการใช้ชีวิต

ธีระชัย กล่าวต่อไปว่า แม้แต่การปรับขึ้นค่าจ้างเมื่อปลายปีที่แล้วก็ทำไม่สำเร็จนัก เพราะกฎหมายกำหนดให้มีการเจรจาไตรภาคี และเวลานี้พี่น้องแรงงาน 97% ของประเทศ ประสบปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยแต่ละคนมีหนี้ 300,000 บาทขึ้นไป ลำพังค่าแรง 300 บาทไม่มีทางที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้

ขณะที่อีกมุมหนึ่ง กำลังส่งเสริมให้มีการประกอบกิจการ SME ส่งผลให้มีการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น 13 ล้านคนทั่วประเทศ ธุรกิจ SME จึงถือเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ ยิ่งมีธุรกิจดังกล่าวมากก็จะยิ่งเพิ่มการแข่งขันตามลำดับ แต่หากมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายลดวันเพิ่มค่าแรงอย่างก้าวกระโดดเกินไป พี่น้องผู้ประกอบการจะเกิดความกังวล ทั้งเรื่องค่าแรงของลูกจ้าง และวันเปิดปิดร้านของพวกเขา

"เมื่อพี่น้องผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงขึ้น ก็ต้องหาวิธีทำให้ธุรกิจของพวกเขาไม่เจ๊ง ด้วยการเพิ่มราคาสินค้าและบริการ พี่น้องประชาชนผู้บริโภคก็ต้องจับจ่ายซื้อสินค้าที่ราคาสูงขึ้นทุกวัน" ธีระชัย กล่าว

ธีระชัย กล่าวด้วยว่า ในมุมมองส่วนตัว เห็นว่าธุรกิจ SME จะมีต้นทุนสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน รายเก่าก็อาจจะย้ายถิ่นฐานไปต่างประเทศ ส่วนฝ่ายที่เสนอให้แรงงานชายลาคลอดได้ เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะการเลี้ยงลูกไม่ใช่หน้าที่ของผู้หญิงเท่านั้น และเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อสังคมตั้งแต่หน่วยเล็กที่สุด คือครอบครัว แล้วจะมีผลไปสู่หน่วยใหญ่ที่สุดคือสังคมและประเทศชาติ

ส่วน กรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการเพิ่มสวัสดิการให้แรงงาน แต่ในร่างที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล มีบางข้อที่ไม่อาจรับหลักการได้ 

กรวีร์ ชี้ว่า หลักในการออกกฏหมายต้องได้สัดส่วนและสมดุล เราไม่สามารถออกกฏหมายแบบคนสายตาสั้นได้ คือมองแต่ระยะสั้น หวังความนิยมชั่วคราว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประเทศในระยะยาว หน้าที่ของรัฐต้องสนับสนุน กำกับดูแล หน่วยงานต่างๆ ตามกลไกตลาด เราไม่ได้อยู่ในสังคมนิยม รัฐเป็นเจ้าของผลผลิตเพียงผู้เดียว

กรวีร์ กล่าวต่อไปว่า รัฐจึงไม่ควรก้าวก่าย แทรกแซง หรือควบคุมเกินความจำเป็น ไม่ใช่ออกกฏหมายไปทำลายกลไกตลาดเอง ข้อถกเถียงต่างๆ ที่ฟังแล้วดูดี อาจเป็นเหมือนลูกกวาดอาบยาพิษ จึงขอเสนอให้มองที่ผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะไปสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ