2 ต.ค. 2566 ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รองประธานกรรมการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญและลานีญา ของประเทศไทย ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 239/2566 กล่าววิเคราะห์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมหลากในหลายพื้นที่ของประเทศไทยว่า เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว ผมได้เผยแพร่ข้อสังเกตกรณีการจัดการแม่น้ำชี-แม่น้ำมูลผิดพลาด 3 ช้อ และให้คำแนะนำรัฐบาลชุดก่อน ถึงวิธีการบริการจัดการน้ำ 7 ข้อ จึงขอนำมากล่าวอีกครั้ง เพื่อส่งสารถึงแนวทางการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ให้การบริหารจัดการน้ำท่วมเพื่อบรรเทาผลกระทบเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสังเขปคือ
ความผิดพลาดในอดีต 3 ข้อคือ (1) การแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมน้ำหลากไม่ชัดเจนแม่นยำ แต่สำหรับการเตือนเรื่องพายุของกรมอุตุนิยมวิทยาถือว่าใช้ได้ (2) การอพยพ การหาแหล่งพักพิงชั่วคราว การช่วยเหลือเรื่องอาหาร การให้บริการการเดินทางของราษฎรตลอดจนการรักษาโรคระบาดที่มากับน้ำไม่มีประสิทธิภาพและยังไม่พอเพียง และ (3) ผิดพลาดในการเลือกยุทธวิธีการบริหารจัดการในสภาวะวิกฤติน้ำท่วม ที่เลือกใช้ ‘Flood Control’ (การควบคุมการระบายน้ำ) ซึ่งจริงๆ แล้ว “ทำไม่ได้” เพราะไม่มีเครื่องมือหรือสิ่งก่อสร้างใดๆ ในลุ่มน้ำชีมูล ในสภาวะเช่นนี้ต้องเลือกใช้ ‘Flood Mitigation’ แทน คือเลือกการบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วม จึงจะถูกต้อง
ดังนั้นเพื่อประโยชน์ของประเทศในส่วนรวม ผมได้คุยกับเพื่อนๆ นักวิชาการแล้วจึงขอให้คำแนะนำรัฐบาลชุดก่อนไปแล้ว พอสังเขป งนี้
1. ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารน้ำท่วมแบบบรรเทาผลกระทบ (Flood Mitigation) ควบคู่ไปกับการควบคุมการระบายน้ำ (Flood Control)
2. ปรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการให้เป็นแบบยืดหยุ่นตามการเปลี่ยนแปลง (Resillent Approach) โดยต้องยึดแนวการพัฒนาที่สอดคล้องกับธรรมชาติ (Nature Base Solution) โดยเฉพาะในสภาวะโลกร้อน
3. ทบทวนผังเมืองให้เหมาะสมกับสภาวะน้ำมากและหลากแรง
4. ปรับปรุงสิ่งก่อสร้างทุกประเภทให้มั่นคงแข็งแรงและสามารถยืนหยัดในสภาวะน้ำท่วมสูงและรุนแรง
5. กรณีที่จำเป็น ต้องสร้างเขื่อน (Polder) เพื่อปกป้องชุมชนและเขตเศรษฐกิจสำคัญ เช่นเดียวกับที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ใช้อยู่
6. สร้างฝายทดน้ำ (Diversion Dams) ในพื้นที่ที่มีตลิ่งสูงเพียงพอและเหมาะสม เพื่อควบคุมและชะลอการไหลของน้ำ
7. สร้างพื้นที่รับน้ำ (แก้มลิงขนาดใหญ่) ในพื้นที่ราบต่ำใกล้แม่น้ำ เช่น พื้นที่ป่าบงป่าทาม ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ หรือหนองหาน จ.สกลนคร เป็นต้น
“ปลอดประสพเคยเตือนแล้ว และวันนี้ต้องกลับมาทำอีกครั้ง แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือ เหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำซาก เราเรียนรู้และทราบว่าเกิดจากการบริหารจัดการไม่ได้ ปีนี้เราในฐานะรัฐบาล จะทำให้ดีกว่าที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาผลกระทบและความเดือนร้อนของประชาชน” รองประธานกรรมการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญและลานีญาของประเทศไทย กล่าว