งานวิจัยจากทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ชี้ว่าการลดน้ำหนักด้วยการลดการรับประทานแป้งอย่างสุดโต่งติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเป็นการเร่งให้แก่ตัว และนำไปสู่อายุขัยที่สั้นลง
แม้จะพบว่าการรับประทานอาหารแบบพร่องแป้ง มีประสิทธิภาพในการลดไขมันในช่องท้อง และป้องกันการเกิดการพุ่งสูงขึ้นอย่างฉับพลันของระดับน้ำตาลในกระแสเลือด แต่ ผศ. สึโยชิ สุซุกิ จากคณะวิทยาการการเกษตร มหาวิทยาลัยโทโฮกุ ก็ย้ำว่าการลดน้ำหนักด้วยวิธีนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญ และพิจารณาว่าเป็นวิธีการรักษาพยาบาลอย่างหนึ่ง
ในงานวิจัยนี้ สึซึกิและทีมวิจัย ได้ศึกษาหนูทดลองซึ่งมีอายุคาดการณ์เฉลี่ยประมาณ 1 ปี โดยแบ่งหนูทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานอาหารอย่างสมดุล กลุ่มที่สองให้กินอาหารอุดมไขมัน กลุ่มที่สามให้กินอาหารคาร์โบไฮเดรตในปริมาณต่ำโดยทดแทนด้วยโปรตีน โดยหนูในกลุ่มที่กินคาร์โบไฮเดรตต่ำซึ่งรับพลังงานแคลอรี่จากคาร์โบไฮเดรตเพียง 20 เปอร์เซ็นต์จากสัดส่วนอาหารทั้งหมด นับเป็นกลุ่มที่เป็นตัวแทนของมนุษย์ที่กินอาหารงดแป้งสามมื้อทุกวัน
ทีมผู้วิจัยพบว่า หนูกลุ่มที่กินคาร์โบไฮเดรตต่ำเสียชีวิตก่อนกลุ่มที่กินอาหารสมดุลโดยเฉลี่ย 8-9 สัปดาห์ และยังเสียชีวิตก่อนกลุ่มที่กินอาหารอุดมไขมันอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มที่กินคาร์โบไฮเดรตต่ำยังมีทักษะทางปัญญาลดลงเหลือเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มที่กินอาหารสมดุล