นักวิทยาศาสตร์พัฒนายาอัจฉริยะ เพื่อตรวจจับอาการผิดปกติภายในช่องท้องที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้สำเร็จ ซึ่งจะช่วยให้ตรวจโรคได้อย่างรวดเร็วขึ้น
นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT พัฒนายาอัจฉริยะที่ประกอบด้วยแบคทีเรียตัดแต่งพันธุกรรมได้สำเร็จ ซึ่งยาดังกล่าวถูกออกแบบมาให้สามารถตรวจจับอาการผิดปกติภายในช่องท้องที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยจะส่งสัญญาณผ่านระบบไร้สาย และแสดงผลผ่านทางแอปพลิเคชันในสมาร์ตโฟน
โดยโครงการนี้ตั้งเป้าที่จะลดทอนขั้นตอนทางการแพทย์ที่ยุ่งยาก ในการตรวจหาโรคที่ไม่ซับซ้อน เช่น อาการเลือดออกภายใน ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับผลวินิจฉัยภายในระยะเวลาไม่นาน หลังจากการกลืนแคปซูลไปเพียงเม็ดเดียว
สำหรับเม็ดยาขนาด 1.5 นิ้ว ดังกล่าวยังอยู่ในช่วงทดลอง โดยที่นักวิทยาศาสตร์กำลังใช้ติดตามสุขภาพภายในช่องท้องของหมู แต่คาดหวังว่าจะสามารถนำมาใช้กับคนได้ในอนาคตอันใกล้