จีนเตรียมยุติการรับซื้อขยะพลาสติกจากทั่วโลก นักวิจัยจึงออกโรงเตือนทุกประเทศให้เตรียมรับมือปริมาณขยะพลาสติก 111 ล้านตันภายในปี 2030
น้อยคนนักที่จะมองเห็นค่าของขยะพลาสติกที่นับวันยิ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย โดยล่าสุดได้มีการเปิดเผยว่าที่ผ่านมาประเทศจีนได้รับซื้อขยะพลาสติกจากหลายประเทศทั่วโลกมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำ พลาสติกห่อหุ้ม ถุงพลาสติก และภาชนะสำหรับใส่ของต่าง ๆ ซึ่งทำการรับซื้อมาตั้งแต่ปี 1992 เป็นปริมาณรวมกันทั้งสิ้น 106 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 57,600 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลเกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนตัดสินใจว่าจะไม่รับซื้อขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลนี้อีกต่อไป และเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องแสดงความรับผิดชอบร่วมกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำจัดหรือตั้งแต่กระบวนการการผลิต
มีการคาดการณ์ว่าขยะพลาสติกนั้นจะมีปริมาณราว 111 ล้านตัน ภายในปี 2030 ซึ่งนั่นคือตัวเลขของขยะพลาสติกที่จะถูกผลิตออกมาจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และจีนจะไม่รับซื้อขยะพวกนี้อีกต่อไป ซึ่งนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งจอร์เจียได้เปิดเผยบทวิเคราะห์ว่าด้วยการค้าโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Global Trade Data ออกมา โดยระบุว่า มาตรการที่จะต้องเกิดขึ้นให้ได้ก็คือการกำจัดขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลนี้ด้วยการฝังกลบ หรือไม่ก็ต้องยุติการผลิตโดยสิ้นเชิงเพื่อตัดปัญหาตั้งแต่ต้นทาง
จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าประมาณ 4 ใน 5 ของขยะพลาสติกทั้งโลกถูกนำไปทิ้งที่หลุมฝังกลบและทิ้งทั่วไปตามธรรมชาติ ซึ่ง 1 ใน 10 ของสัดส่วนดังกล่าวนั้นถูกกำจัดด้วยวิธีการเผา แต่ก็ยังมีขยะพลาสติกอีกหลายล้านตันถูกทิ้งลงสู่ทะเล สร้างปัญหามลพิษต่อธรรมชาติอย่างมากโดยเฉพาะบนชายหาดและในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 9 เปอร์เซ็นต์ ของขยะพลาสติกเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล
นอกจากนี้ สถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งจอร์เจียยังรายงานออกมาด้วยว่าในปี 2017 ที่ผ่านมาเพียงปีเดียว บริษัททั่วโลกได้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกออกมาแล้วกว่า 8,300 ล้านตันซึ่งนับว่าเป็นปริมาณที่มหาศาลมาก หากจะยกตัวอย่างให้ชัดเจนขึ้น เมื่อเราพูดถึงขยะพลาสติกแค่ 1 ล้านตัน สิ่งของที่เราคุ้นเคยซึ่งรวมกันแล้วมีปริมาณเท่ากับขยะพลาสติก 1 ล้านตันก็คือรถยนต์เทสลาโมเดล 3 จำนวน 621,000 คัน หรือโทรศัพท์ไอโฟน 7,000 ล้านเครื่อง
สหประชาชาติประเมินว่า แต่ละปี มีพลาสติกประมาณ 5-13 ล้านตัน ถูกพัดออกสู่มหาสมุทร และมีเศษพลาสติกจำนวนมากที่ปะปนเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารของนกและสัตว์น้ำ รวมถึงสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้ท้องทะเลผลสำรวจชี้ว่า พลาสติกที่อยู่ในมหาสมทุรส่วนมากมีที่มาห่างไกลทะเล โดยเฉพาะจากประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนาไปรวดเร็วกว่าความสามารถด้านการบริหารจัดการขยะ
ล่าสุดนายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เรียกเสียงฮือฮาจากโซเชียลมีเดียอย่างมากเมื่อเขาได้รายงานเกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทย ซึ่งมีการใช้ถุงพลาสติกปีละ 7 หมื่นล้านใบ เพราะผู้ประกอบการและผู้บริโภคมีพฤติกรรมการผลิตและใช้วัสดุที่เป็นพลาสติกแบบไร้ขีดจำกัดโดยไม่คำนึงถึงการกำจัดเมื่อใช้เสร็จ และเพิ่งมีวาฬมาเกยตื้นตายทางภาคใต้ของประเทศ โดยพบว่าในตัววาฬมีพลาสติกอยู่ 80 ใบ
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมาผู้แทนจากประเทศจีน ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ กล่าวระหว่างการประชุมสหประชาชาติเรื่องมหาสมุทร ซึ่งอยู่ในกรอบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนว่าจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการทิ้งขยะพลาสติกในทะเล โดยอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทยมุ่งมั่นที่จะดึงคนไทยร่วมลดใช้ถุงพลาสติกเหลือคนละ 2 ใบต่อวัน พร้อมขอความร่วมมือจากบริษัทผลิตถุงใช้เม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ โดยตั้งเป้าว่าในปี 2570 หรือนับถอยหลังอีก 9 ปี ต้องลดขยะทะเลให้ได้ร้อยละ 50 พร้อมดำเนินโครงการชายหาดปลอดบุหรี่และไร้ขยะในพื้นที่ชายหาดสำคัญ 24 แห่ง ใน 15 จังหวัด