นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในเนเธอร์แลนด์ ได้คิดค้นแขนกลอัจฉริยะที่นำการเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มาผสมผสานกับการอัลตราซาวนด์ เพื่อช่วยให้วินิจฉัยมะเร็งเต้านมและโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อได้เร็วขึ้น
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทเวนเตอร์ (Twente) และมหาวิทยาลัยเวโรนา ในประเทศเนเธอร์แลนด์ นำทีมโครงการ MRI and Ultrasound Robotic Assisted Biopsy หรือ MURAB ในการพัฒนาระบบหุ่นยนต์อัจฉริยะที่ผสมผสานเทคโนโลยีการเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI ไว้ร่วมกับการอัลตราซาวนด์ ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการวินิจฉัยโรคได้ไม่น้อย
อุปกรณ์นี้ออกแบบมาให้ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI ในการระบุชนิดของก้อนเนื้อ โดยจะใช้การอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจสอบตำแหน่งของก้อนเนื้อแบบเรียลไทม์ ซึ่งแขนกลอัจฉริยะได้ติดตั้งคีมจับเข็มไว้ในตัว จึงสามารถช่วยนักรังสีวิทยาให้แทงเข็มเข้าไปในระนาบเดียวกับก้อนเนื้อได้โดยตรง เพื่อที่จะได้นำตัวอย่างเนื้อเยื่อไปวินิจฉัยต่อไป
ทีมวิจัยเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า เทคนิคนี้เป็นการนำข้อมูลจากผลสแกนที่ได้มาสร้างเป็นแบบจำลองสามมิติเสมือนจริงของบริเวณที่ต้องการวินิจฉัย ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถค้นพบก้อนเนื้อขนาดเล็กได้ทันที แตกต่างจากการอัลตราซาวนด์ในปัจจุบัน ที่ไม่สามารถตรวจจับก้อนเนื้อขนาดเล็กได้ โดยทีมวิจัยเชื่อว่า เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้การวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมสามารถทำได้อย่างรวดเร็วขึ้น และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำ MRI อีกด้วย
องค์การอนามัยโลกเผยข้อมูลว่า มะเร็งเต้านมถือเป็นโรคร้ายที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงกว่า 1 ล้าน 5 แสนคนต่อปี โดยในปี 2015 คาดการณ์ว่ามีผู้หญิงเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมราว 570,000 คน